เมื่อวานนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) เปิดเผยถึงรายงานเสรีภาพทั่วโลกประจำปี 2024 โดย ‘Freedom House’ องค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อสนับสนุนประเด็นด้านประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ผลปรากฏว่า ฮ่องกงและทิเบตถอยหลังด้านเสรีภาพมากที่สุดในเอเชีย ขณะที่ไทยเลื่อนอันดับจากกลุ่มประเทศ ‘ไร้เสรี’ สู่ ‘กึ่งเสรี’ แต่สถานการณ์ในอนาคตยังน่ากังวล
เกณฑ์การพิจารณาของ Freedom House ไล่เรียงจากคะแนน 1 ถึง 100 โดยใช้ 25 ตัวชี้วัดจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (U.N. Universal Declaration of Human Rights) ก่อนจะจัดแบ่งประเภทกลุ่มประเทศเป็น 3 ระดับ คือเสรี กึ่งเสรี และไร้เสรี
ทั้งนี้ รายงานเผยภาพรวมของสถานการณ์ว่า เสรีภาพทั่วโลกปี 2023 ยังคงถดถอยอย่างต่อเนื่อง มีถึง 52 ประเทศทั่วโลกที่มีคะแนนตกต่ำ ขณะที่ 21 ประเทศเท่านั้นมีคะแนนเพิ่มขึ้นในทางที่ดี
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับประชาธิปไตยและเสรีภาพในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การโกงการเลือกตั้ง ทั้งในกัมพูชา กัวเตมาลา โปแลนด์ ตุรกี และซิมบับเว ตามมาด้วยการสู้รบทั้งในประเทศและสงครามระหว่างประเทศ เช่นสถานการณ์ในนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) อาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) รัสเซีย เมียนมา และอิสราเอล
นั่นยังไม่รวมถึงประเด็นสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของประชาชน ที่ผูกโยงกับเรื่องข้อพิพาทเขตแดนระหว่างประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ทิเบต ปาเลสไตน์ และจนถึงประเด็นความขัดแย้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม
สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดด้านเสรีภาพ ได้แก่ นิวซีแลนด์ (99 คะแนน) ญี่ปุ่น (96 คะแนน) ออสเตรเลีย (95 คะแนน) และไต้หวัน (94) ขณะที่คะแนนต่ำสุดเป็นของทิเบต (0 คะแนน) เกาหลีเหนือ (3 คะแนน) เมียนมา (8 คะแนน) และจีน (9 คะแนน)
เบื้องต้น เรดิโอฟรีเอเชียสรุปรายละเอียดไว้ว่า ฮ่องกงถอยหลังด้านเสรีภาพมากที่สุดในเอเชีย โดยเฉพาะประเด็นเขตอำนาจ (Jurisdiction) ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา
ยานา คอรอฟสคาเวีย (Yana Gorokhovskaia) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และออกแบบประจำ Freedom House อธิบายว่า ฮ่องกงมีคะแนนลดลง 26 คะแนนภายในระยะ 10 ปี ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 ของ 100 คะแนนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ ปัญหาที่เกิดขึ้นในฮ่องกงมาจากข้อพิพาทระหว่างประเทศที่กระทบอำนาจอธิปไตย เสรีภาพในการกำหนดใจตนเอง (Self-Determination) จนนำมาสู่ผลกระทบในเรื่องเสรีภาพของประชาชนและสิทธิทางการเมืองในระดับประเทศ
คอรอฟสคาเวียเน้นย้ำถึงพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงฮ่องกงภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ก่อนเธอจะพูดถึงสถานการณ์น่าเป็นห่วงของทิเบต
“ในทิเบต พรรคคอมมิวนิสต์พรากเด็กมากกว่าหนึ่งล้านคนจากครอบครัว และย้ายพวกเขาไปอยู่ในโรงเรียนของรัฐ ที่ซึ่งบังคับให้เรียนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีน”
ผู้อำนวยการหญิงของ Freedom House อธิบายถึงนโยบายการกลืนชาติของรัฐบาลจีนพรรคคอมมิวนิสต์ ที่บังคับให้ชาวทิเบตเรียนวัฒนธรรมของชาวฮั่นเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมประเด็นปลีกย่อยที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ เช่น การปราบปรามพระสงฆ์และสื่อมวลชนผู้เห็นต่างอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม Freedom House เปลี่ยนสถานะของไทยจาก ‘ประเทศไร้เสรี’ สู่ ‘กึ่งเสรี’ โดยรายละเอียดเผยว่า เป็นเพราะมีการเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2023 ที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัญหาสำคัญคือ ผลการเลือกตั้งถูกบิดเบือนจากรัฐธรรมนูญปี 2017 ที่ร่างโดยรัฐบาลทหาร
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งสร้างความแปลกใจให้กับกลุ่มจัดทำรายงานมาก เพราะรายละเอียดของนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือการแก้ไขมาตรา 112 ก็ตาม แต่ก็สามารถสรุปได้ว่า เป็นเพราะจำนวนผู้ใช้เลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่า ต่อให้ไทยมีการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังมีความเคลือบแคลง ‘ประชาธิปไตย’ ในอนาคต หลังคะแนนตกต่ำถึง 21 คะแนน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2014 อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันถือว่ายังไม่สู้ดีเท่าที่ควร
ขณะเดียวกัน ผลคะแนนดังกล่าวยังสะท้อนภาพเหตุการณ์ใหญ่ทางการเมืองของไทยในปี 2023 นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีหุ้นสื่อ ตามมาด้วยคำร้องจากสาธารณชนบางส่วนให้ยุบพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่บทบาทและอำนาจของวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่สามารถกำหนดผู้นั่ง ‘เก้าอี้นายกฯ’ อย่างมีนัยสำคัญ
ถึงกระนั้นในรายงานฉบับนี้ยังไม่มีการกล่าวถึงประเด็นเสรีภาพสื่อมวลชน ที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลก โดยเฉพาะกรณีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2024 ที่นักข่าวประชาไทและนักข่าวอิสระ 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวฐานสนับสนุนให้ทำลายโบราณสถานด้วยการขีดเขียนข้อความ หลังเดินทางไปทำข่าวและถ่ายรูปประชาชนที่นำสีสเปรย์พ่นกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เป็นเครื่องหมายอนาคิสต์ พร้อมข้อความ ‘ไม่เอา 112’
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คะแนนเฉลี่ยความเป็นเสรีของไทยอยู่ที่ -18 คะแนนคู่กับเมียนมา และมาลี (Mali) ขณะที่นิการากัวครองอันดับ 1 ประเทศที่ตกต่ำด้านเสรีภาพมากที่สุด โดยมีคะแนน -38 คะแนน
อ้างอิง
https://freedomhouse.org/sites/default/files/2024-02/FIW_2024_DigitalBooklet.pdf
https://www.rfa.org/english/news/china/freedom-house-report-02292024150218.html
https://www.rfa.org/english/news/tibet/protesters-arrested-02232024164340.html