วันนี้ (วันที่ 8 มีนาคม 2565) เป็นวันสตรีสากล ทางพรรคเพื่อไทยได้เปิดตัวโครงการนำร่องนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า (Free pads for All) และจัดนิทรรศการ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ ตั้งแต่วันที่ 8-31 มีนาคม 2565 พร้อมจัดงานเสวนา ’รัฐสวัสดิการผ้าอนามัยคือสิทธิมนุษยชน’
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวในงานเปิดตัวว่า ในสมัยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้นเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงให้มีความมั่นคงด้านรายได้ และกองทุนนั้นได้เป็นรากฐานที่สำคัญให้กับนโยบายและการศึกษาปัญหาความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน
สำหรับปีนี้ พรรคมีหัวข้อรณรงค์คือ Break The Bias ปลดแอกอคติ กันความคิดที่เหมารวมการเลือกปฏิบัติและการกระทำที่มีอคติทางเพศ เพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียม มีโลกที่เสมอกันมากขึ้น สอดคล้องกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำอยู่ในตอนนี้
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังได้มีหนังสือออนไลน์ชื่อว่า กี บุ๊ค สำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่ได้เข้ามาชมนิทรรศการด้วยตนเอง และเมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลงแล้ว ทางคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยจะรวบรวมความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาพัฒนานโยบายด้านนี้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานทางศิลปะ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับศิลปินหญิง 3 ท่าน ได้แก่ Juli Baker, Prim Issaree และ Pyra โดยตลอดเดือนมีนาคม พรรคเพื่อไทยจะมีงานเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผ้าอนามัย สิทธิแรงงาน และบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ทางการเมือง โดยมีเป้าหมายว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่การสร้างบทสนทนาเพื่อให้ประเด็นของผู้มีประจำเดือนและผ้าอนามัยได้รับการตระหนักในทุกมิติ
สำหรับนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า มีทั้งแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการลดรายจ่ายของประชาชน แนวคิดทางสังคมที่ต้องการส่งเสริมความเสมอภาค และเป็นข้อพิสูจน์ว่าเราสามารถผลักดันประเด็นทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับประเด็นทางสังคมโดยดำเนินการไปทั้ง 2 แนวทางได้ภายในนโยบายเดียว
ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ศึกษาออกแบบโครงการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า และตระหนักดีว่า ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติของเพศสรีระ ที่บ่งบอกถึงวัยเจริญพันธุ์ของมนุษย์ ประจำเดือนและการใช้ผ้าอนามัยจึงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องร่วมกันของสังคม แต่ที่ผ่านมาการใช้ผ้าอนามัยกลับถูกผลักให้เป็นภาระของเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
ปัจจุบัน หลายประเทศมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผ้าอนามัยมากขึ้น สก็อตแลนด์เป็นประเทศแรกที่ทำให้ผ้าอนามัยเข้าถึงได้ฟรี หลายประเทศมีนโยบายยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ทำการศึกษานโยบายในหลายประเทศ เพื่อที่จะใช้เป็นต้นแบบและปรับให้สอดคล้องกับประเทศไทยให้ได้มากที่สุด
สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนในประเทศไทยจะต้องใช้ผ้าอนามัยอยู่ที่ 15-35 ชิ้นต่อเดือน คิดเป็นเงินคือ 350-400 บาทต่อเดือน หรือ 4,800 บาทต่อปี เท่ากับว่าตลอดชีวิตจะต้องจ่ายเงินค่าผ้าอนามัยประมาณ 1.92 แสนบาท ผู้ที่มีประจำเดือนจะต้องสูญเสียเงินออม และเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเกือบ 2 แสนบาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 331 บาทต่อวันเท่านั้น แต่ค่าผ้าอนามัยอยู่ที่ 350-400 บาทต่อเดือน ซึ่งเท่ากับเป็นค่าแรงหนึ่งวัน ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้จะต้องมีกี่ครอบครัว หรือมีกี่คนที่จะต้องเลือกระหว่างซื้อข้าวกินกับซื้อผ้าอนามัยใช้
นอกจากนี้ จากการประเมินทางเศรษฐกิจ พบว่ามีอยู่ 64.72 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีประจำเดือนเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยอย่างพอเพียง บางคนจึงต้องใช้ซ้ำ ใช้หนึ่งชิ้นต่อหนึ่งวัน บางคนหยุดทำงาน หยุดเรียน ใช้วัสดุทดแทนผ้าอนามัยในแต่ละวันเพื่อลดการใช้ผ้าอนามัยที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ระบุไว้ว่าเพื่อสุขอนามัยที่ดีเราจะต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยฟรีทุก 2-4 ชั่วโมง โดยหากไม่เปลี่ยนนผ้าอนามัย อาจทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณช่องคลอดได้
พรรคเพื่อไทยมองเห็นว่าหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุดในการรับผิดชอบโครงการนี้คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ สามารถกระจายสิทธิประโยชน์ เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ และต้องก่อตั้งกองทุนสุขภาวะทางเพศ ในกองทุนหลักสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อเป็นตัวกลางในการจัดสรรนโยบาย สำหรับระบบที่จะทำให้ผ้าอนามัยเข้าถึงมือประชาชน โดยออกแบบการเข้าถึงผ้าอนามัยฟรี 3 ช่องทาง คือ
ช่องทางที่ 1 แจกผ่านทางหน่วยงานภายใต้ สปสช. สำหรับผู้มีประจำเดือนนอกตลาดแรงงานที่รายได้น้อย ผู้มีประจำเดือนในวัยเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ผู้มีประจำเดือนในครอบครัวที่ยากจน คนไร้บ้าน และคนข้ามชาติไร้สัญชาติ โดยจากการศึกษาประชากรกลุ่มนี้เข้าถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้จากตามหน่วยงานปฐมภูมิทั่วประเทศ ตั้งแต่สถานีอนามัย ร้านขายยา ศูนย์สุขภาพชุมชน คลินิกอบอุ่น โรงพยาบาลชุมชน และอื่นๆ อีกมากมาย จึงเหมาะสมเป็นหน่วยงานในการแจกจ่าย อีกทั้งหน่วยงานเหล่านี้ก็มีองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะเป็นอย่างดี โดยที่ประชาชนสามารถเดินทางไปยังหน่วยงานเหล่านี้ และแสดงบัตรประชาชนเพื่อยื่นเจตจำนงในการรับผ้าอนามัยได้
ช่องทางที่ 2 แจกผ่านกระทรวงศึกษาธิการ และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำหรับผู้มีประจำเดือนวัยเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษา และผู้มีประจำเดือนในเรือนจำ
โดยปัจจุบันคนในเรือนจำถูกจำกัดสิทธิเข้าถึงผ้าอนามัยเพียง 3 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ ส่วนผู้มีประจำเดือนในวัยเรียนมักมีข้อจำกัดในเรื่องรายได้ จึงทำให้ขาดสุขอนามัยที่ดี ในการดำเนินการจะต้องมีการประสานกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมเพื่อจัดหาผ้าอนามัยแก่ผู้มีประจำเดือนในวัยเรียนและในเรือนจำอย่างเพียงพอ
ช่องทางที่ 3 แจกผ่านแอพพลิเคชัน สำหรับผู้มีประจำเดือนในระบบแรงงาน โดยที่ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงผ่านแอพพลิเคชันด้วยการเลือกแบบผ้าอนามัย ขนาด จำนวนที่ต้องการ พร้อมกับเลือกสถานที่ในการรับผ้าอนามัย หรือจัดส่งตามที่อยู่อาศัยตามที่ต้องการ
ปัจจุบัน จากการคำนวณจำนวนผ้าอนามัย จำนวนผู้ใช้ และจำนวนการใช้ คาดการณ์ว่า โครงการนี้ ต้องใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยที่มาของงบประมาณจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. นำงบฯ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ของผ้าอนามัยมาเพิ่มให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คิดเป็นเงินประมาณ 5 พันล้านบาท
2. รัฐจัดสรรงบประมาณอีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
โดยตัวเลขคิดเป็นสัดส่วน 0.6 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณทั้งมดเท่านั้น พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นตัวเลขที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับสวัสดิการผ้าอนามัยของผู้มีประจำเดือนทั้งประเทศ
ส่วนที่ไม่ได้ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย เพราะว่าโดยปกติราคาผ้าอนามัยราคาห่อละ 12-79 บาท การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับผ้าอนามัย 1 ห่อจะเสียภาษี 1-6 บาทเท่านั้น ในการยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ไม่ได้ทำให้ราคาผ้าอนามัยลดลงจนทำให้ผู้ที่มีประจำเดือนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การยกเลิกภาษีผ้าอนามัยจะมีคุณค่าเพียงในเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีว่า เราให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัยได้อย่างเพียงพอได้ แต่ถ้าหากนำภาษีผ้าอนามัยมาลดต้นทุนในนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าจะทำให้ทุกคนเข้าถึงผ้าอนามัยได้ หรือที่เรียกว่า ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’
ขณะที่ จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า นโยบายผ้าอนามัยฟรีจะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มองเห็นประเด็นเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงได้อย่างชัดเจนเท่านั้น ดังนั้น ถ้าสังคมหรือรัฐคำนึงว่าผู้หญิงมีเงื่อนไขปัจจัยอย่างไรบ้าง ก็จะมีนโยบายในการเข้ามาดูแล
กลับมาที่คำถามว่าทำไมต้องแจกยาคุมกำเนิด และทำไมต้องแจกถุงยางอนามัย แต่ยังไม่แจกผ้าอนามัยนั้น เป็นเพราะว่าการวางนโยบายส่วนใหญ่ ยังคงวางอยู่บนพื้นฐานความพยายามแก้ไขปัญหา อย่างเรื่องการลดโรคระบาด การป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เรายังไม่มีนโยบายที่มองในมุมมองของความเป็นธรรมในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง ดังนั้น นโยบายรัฐที่ผ่านมา จึงไม่ได้มองเรื่องความเป็นธรรมด้านการเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เห็นว่าถึงเวลาที่เสียงของผู้หญิงจะต้องพูดว่าต้องการอะไรในเนื้อตัวของตัวเอง
วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ผ้าอนามัย Ira Concept และผู้รณรงค์เรื่องการขจัดอคติเรื่องประจำเดือน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พยายามทำลายการตีตราประจำเดือน (Period Stigma) และปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย (Period Property) ซึ่งการตีตราประจำเดือนคือสาเหตุหลักที่ทำให้มีมุขตลกเรื่องประจำเดือน (Period Joke) ความละอายในการมีประจำเดือน (Period Shaming) และปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย (Period Property) เพราะเป็นความเชื่อของสังคมที่ปลูกฝังเรื่อยมาว่าประจำเดือนเป็นของต่ำ ไม่ควรถูกพูดถึง เป็นเรื่องปัจเจกที่ต้องจัดการตัวเอง จึงไม่มีความเข้าใจว่า ประจำเดือนคืออะไร จะจัดการอย่างไร หรือจะมีใครให้ความรู้เรื่องนี้ไหม นั่นคือสาเหตุที่ออกมาก่อตั้งแบรนด์เพื่อเป็นตัวเลือกของผู้หญิงทุกคน และอยากทำให้เป็นสิ่งของที่ดี ทั้งเพื่อตนเองและทั้งโลกด้วย เพราะศึกษาแล้วว่า ผ้าอนามัย 1 แผ่น เท่ากับถุงพลาสติก 4 ถุง ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งหมด 800 ปี ในการย่อยสลาย
วรางทิพย์กล่าวว่า “เราเลยอยากจะทำลายความเชื่อผิดๆ ปลูกฝังความคิดใหม่ๆ ว่า ประจำเดือนคุณไม่จำเป็นต้องซ่อน นั่นคือสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนอยู่ตอนนี้ เราเป็นเมนส์แล้วมันทำไม มันไม่ใช่ของต่ำ เราไม่จำเป็นต้องซ่อนผ้าอนามัย”
ขณะที่ โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน เจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ และผู้จัดรายการ ‘Sex is More’ กล่าวว่า คนที่อายุ 30 ปีขึ้นไปอาจจะมองว่าวันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นวันสตรีสากล แต่คนที่เล่นโซเชียลมีเดียไปไกลกว่านั้นแล้ว
“คำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศไปถึงไหน มองแค่ว่าวันสตรีสากล คนต่างวัยก็มองแตกต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ไปไกลกว่านิทรรศการของผู้มีประจำเดือน ก็มีหลายคนมองว่าเพื่อไทยใช้คำดีมาก เพราะว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่มีประจำเดือน เพราะว่าโลกของความเท่าเทียมมันไปได้ไกลในระดับนั้นแล้ว Non-binary ก็มีประจำเดือนได้ ผู้ชายข้ามเพศก็มีประจำเดือนได้ด้วย คำว่าผู้มีประจำเดือนจึงเป็นคำที่กลางมากและถูกต้องแล้วที่เรากำลังต่อสู้และส่งเสียงเพื่อผู้มีประจำเดือนทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น”