วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันตัว อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกคุมขัง ภายหลังการปราศรัยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และศาลระบุว่าผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว เนื่องจากมีการใช้ข้อความพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้อานนท์ถูกคุมขังนับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นเวลานานกว่า 201 วัน โดยจะมีการปล่อยตัวอานนท์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ช่วงค่ำวันนี้
ทั้งนี้ อานนท์ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ โดยกลุ่ม iLaw รายงานก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ว่า อานนท์มีคดีมาตรา 112 มากกว่า 14 คดี มากเป็นอันดับ 2 รองจาก พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับเอกสารข่าวของศาลอาญากรุงเทพใต้ระบุว่า ตามที่ นรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว อานนท์ นำภา จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ 1671/2564 และในคดีหมายเลขดำที่ อ 1802/2564 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (Court Integral Online Service : CIOS) ซึ่งคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ร่วมกันพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและเอกสารประกอบแล้ว มีคำสั่งดังนี้
“เห็นว่าแม้จำเลยเคยปฏิบัติผิดเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวและศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้วครั้งหนึ่ง จนจำเลยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบันการที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ โดยอ้างเหตุผลและสมัครใจเสนอเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวมาหลายข้อว่าจำเลยจะไม่กระทำการใดอันทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัดนั้น
“การที่จำเลยเสนอเงื่อนไขมาจึงน่าเชื่อว่าเงื่อนไขดังกล่าวน่าจะควบคุม พฤติกรรมของจำเลยได้ว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่ไปก่อภัยอันตรายหรือก่อความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยตัวชั่วคราวอีก ดังนั้นจึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงเวลาหนึ่ง มีกำหนด 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 28 พฤษภาคม 2565) ตีราคาหลักประกัน 2 แสนบาท ยึดหลักประกัน ทำสัญญาประกัน ให้ตรวจคืนหลักประกันเมื่อสัญญาประกันสิ้นสุด
สำหรับเงื่อนไขและกำหนดเวลา ศาลกำหนดเงื่อนไข ดังนี้
1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาลในทุกด้าน
2. ห้ามจำเลยกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
3. ห้ามจำเลยโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น หรือซักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดียหรือเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
4. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 19 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือได้รับอนุญาตจากศาล
5. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
6. ให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุกๆ 30 วัน นับแต่วันที่ปล่อยตัวชั่วคราว (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565)
7. ให้จำเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจำกัดระยะเวลาเดินทาง”
“ศาลอาญากรุงเทพใต้ขอชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า เนื่องจากจำเลยเสนอเงื่อนไขรวมถึงให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนั้นศาลจึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย โดยการปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจำกัดเพียง 3 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว อานนท์ นำภา ต้องถูกกักขัง ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เว้นแต่จะมีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง
“อนึ่ง หากอานนท์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวอันมีเวลาจำกัด และเมื่อครบกำหนดปล่อยตัวชั่วคราว ให้นายอานนท์ นำภา มารายงานตัวต่อศาล และให้ผู้ประกันส่งตัว นายอานนท์ นำภา ต่อศาลในวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 เวลา 10 นาฬิกา ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขให้ปฏิบัตินั้น การกำหนดตามที่นายนรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความของนายอานนท์ เสนอต่อศาล และนายอานนท์ นำภา ยินยอมที่จะปฏิบัติตามโดยสมัครใจ หากศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว”
Tags: Report, อานนท์ นำภา, ศาล