“แด่ผู้หญิงที่ทำแท้งทุกคน พวกเธอที่เป็นลูกสาว พี่สาว น้องสาว เป็นเมีย เป็นแม่ เป็นญาติ เป็นเพื่อน เป็นคนรู้จักของใครสักคน ทั้งคนที่จากไปแล้ว และคนที่ยังมีชีวิตอยู่” – ส่วนหนึ่งจากคำกล่าวก่อนพิธีถวายสังฆทาน โดยกลุ่มทำทาง
เมื่อวานนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข ในวาระครบรอบ 2 ปี การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการทําแท้ง กลุ่มทำทาง (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี) ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินงานส่งเสริม และสนับสนุนการเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จัดพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งปลอดภัย และทำพิธีกรวดน้ำคว่ำขันให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ตัดสิทธิประกันสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยสำหรับคนไทยทุกคน แม้ว่ากฎหมายทำแท้งจะถูกแก้ไขแล้ว แต่ประชาชนยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าใช้บริการไม่ต่างไปจากสถานการณ์ก่อนแก้กฎหมาย
“ก่อนที่การทำแท้งจะถูกกฎหมาย ตอนนั้นเราต้องหลบๆ ซ่อนๆ กลัวมาก กลัวตาย ตอนนั้นไม่รู้ว่าต้องหาข้อมูลที่ไหนทำอย่างไรบ้าง จึงมีแต่ความกลัวกว่าจะได้ทำแท้งอายุครรภ์ก็มากแล้ว“ เมเม่ อายุ 27 ปี ผู้มีประสบการณ์การทำแท้งก่อนการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง กล่าว
“ตอนนั้นเราหาข้อมูลการทำแท้งได้จากป้ายที่ติดบนรถแดงสองแถว แทนที่จะได้จากหน่วยงานราชการจากโรงพยาบาล มันจึงเป็นเรื่องน่าอนาถใจ และนับเป็นโชคดีที่เราไปใช้บริการคลินิกเหล่านี้ แต่ยังปลอดภัยและยืนได้จนถึงทุกวันนี้” ชมพู่-สุพีชา เบาทิพย์ กลุ่มทำทาง บอกเล่า
ชมพู่เล่าต่อว่า ตอนนี้เธออายุ 55 ปี เคยทำแท้งเมื่อตอนอายุ 25 ปี “เราทำแท้งไป 2 ครั้ง ช่วงเรียนจบปริญญาตรีหนึ่งครั้ง กำลังจะเรียนต่อปริญญาโทอีกหนึ่งครั้ง ที่อ้างอิงแบบนี้เพราะจะสื่อว่าไม่ว่าด้วยเหตุอะไรก็ตาม มันพลาดท้องกันได้ และการหาข้อมูลการทำแท้งก็เข้าถึงยากมาก
“กฎหมายในประเทศไทยเปลี่ยนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการ สถานที่ให้บริการอยู่ตรงไหนก็ไม่มีใครทราบ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ต้องการเปิดตัว เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ให้บริการอยู่แล้วก็ไม่ต้องการให้บริการ ดังนั้นมันจึงยาก แม้ว่ากฎหมายจะเปลี่ยนแต่การทำแท้งก็เข้าไม่ถึงอยู่ดี การทำแท้งตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ เป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยมาก แต่เมื่อคนเข้าถึงไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Delay Aborition เกิดการทำแท้งที่ล่าช้า
“การหาข้อมูลไม่ได้ ไม่รู้ว่ารักษาที่ไหนดี ยิ่งทำให้เกิดความเครียด ความลังเลสับสน เช่น “ฉันไปโรงพยาบาลได้ไหม” “ไม่ได้แน่เลย ถ้าไปต้องโดนด่าแน่” จนอายุครรภ์เพิ่มขึ้น อะไรไม่ปลอดภัยก็ต้องทำแล้ว เราจะเจอแบบนี้อยู่บ่อยมากๆ”
ชมพู่-สุพีชา อธิบายต่อด้วยว่า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการประชาสัมพันธ์ ณ จุดบริการ ตามโรงพยาบาลของรัฐ หรือตามสิทธิการรรักษา โรงพยาบาลอาจไม่ต้องขึ้นป้ายว่ารับยุติการตั้งครรภ์ แต่อาจเป็นป้ายบริการปรึกษาท้องไม่พร้อม มีทั้งข้อมูลการเลี้ยงเด็ก การคลอด แต่หากคนไข้คนไหนต้องการใช้บริการทำแท้งก็ส่งต่อไปยังจุดให้บริการ
ด้านพระสงฆ์ที่มารับสังฆทาน อาราธนาศีล ในครั้งนี้กล่าวว่า “คำสอนเรื่องบาปกรรมการทำแท้งเป็นเรื่องของยุคสมัย ยุคหนึ่งมันอาจจะใช้ได้ แต่พออีกยุคความคิดมันเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน คนทำแท้งเริ่มออกมาพูด เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่องการทำแท้งเป็นบาป ก็น่าจะมีการปรับเปลี่ยนความเข้าใจ
“เพราะเมื่อคุณพูดออกไปแล้ว คนที่เคยมีประสบการณ์เขาก็จะรู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ ในขณะที่หน้าที่ของศาสนาคือการทำให้รู้สึกดี หรือการฟื้นฟูจิตใจ ศาสนาควรนำไปสู่การเจริญทางด้านจิตใจ ความเจริญทางด้านจิตวิญญาไม่ควรดึงคนลงไปตกต่ำอีก เพราะในชีวิตประจำวันของเราก็มีความทุกข์มากมายอยู่แล้ว
“คิดว่าเราควรก้าวข้ามคำสอนตรงนี้ หรือควรจะมองเป็นสีเทาๆ ดีไหม ตราบเท่าที่ยังมองเป็นขาวเป็นดำมันทำให้คนยังทุกข์อยู่ เพราะคำสอนของศาสนาควรช่วยเยียวยาคนมากกว่าการซ้ำเติม ส่วนการให้บริการตอนนี้คิดว่าแพทย์ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธที่เป็นศาสนากระแสหลัก แต่ถึงแม้ไม่ใช่พุทธศาสนา เช่น อมริกาที่นับถือศาสนาคริสต์ หรือประเทศที่นับถือมุสลิม ก็อาจเรียกได้ว่าไม่มีศาสนาใดที่สนับสนุนตรงนี้เลย
“ในแง่หนึ่งการที่แพทย์ไม่สนับสนุนหรือรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ไม่สบายใจในการทำตรงนี้ เราอาจจะต้องเผื่อใจให้เขาด้วย บางทีกฎหมายมันเปลี่ยนง่าย แต่วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อทางศาสนามันเปลี่ยนยาก อาจต้องให้เวลาเขาหน่อย หรือเปิดโอกาสให้เขาได้ครุ่นคิด ใคร่ครวญว่า
“ตราบเท่าที่เขาไม่ทำตรงนี้ จะทำให้ผู้หญิงอีกหลายคนเดือดร้อน ถึงแม้คุณไม่ทำให้ เขาก็อาจไปทำแท้งเถื่อนหรือลองผิดลองถูกช่องทางอื่น อย่างที่เราทราบกันว่ามีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการทำแท้งด้วยตัวเองหรือทำแท้งเถื่อนมากมาย แต่ไม่เป็นข่าวลำพังการทำแท้งที่ไม่มีการเปิดโอกาสมันก็เศร้าอยู่แล้ว และยิ่งต้องไปเผชิญกับความตายและความตายนั้นมันไม่บ่งบอก มันก็ยิ่งทำให้กลายเป็นตัวเลขที่ไม่มีสถิติ” พระทิ้งท้าย
Tags: Report, สิทธิมนุษยชน, ผู้หญิง, ทำแท้ง, Internal Affairs, ทำทาง