วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2568) ที่รัฐสภา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย, สมาคมรักษ์ทะเลไทย, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเครือข่าย นัดหมายรวมตัวเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการประมง หลังสมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบ แก้ไขมาตรา 69 ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 หรือร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมงของวุฒิสภาจำนวน 21 คน เพื่อศึกษารายละเอียดและผลกระทบของการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว
จากเดิม พ.ร.บ.ประมงระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร กระทำในเวลากลางคืน แต่ในมาตรา 69 ร่างฉบับใหม่แก้ไขเป็นห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ในเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน และสามาถใช้ไฟล่อเวลากลางคืนได้
หากร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับนี้ผ่านจะหมายความว่า สามารถทำการประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล และใช้อวนล้อมจับที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร หรืออวนตาเท่ามุ้งล้อมจับสัตว์น้ำขนาดเล็กและวัยอ่อนได้ นอกจากนี้หากอุตสาหกรรมประมงใช้ไฟในการล่อ หรือดึงดูดสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นอาหารในธรรมชาติไปหมดก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวลศทะเลเป็นอย่างมาก และส่งผลให้วิถีประมงพื้นบ้านของชาวประมงจะได้รับผลกระทบและรายได้น้อยลงไปด้วย
ด้านชาวประมงพื้นบ้านกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย ตลอดจนวิถีชีวิตชาวประมงและชุมชนชายฝั่ง สิทธิแรงงานในภาคการประมงและการแปรรูปอาหารทะเล สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและเครือข่ายจึงนัดหมายรวมตัวกัน เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประมงในวันนี้
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เคยแสดงความคิดเห็นผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 200 ท่าน เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่า มาตรา 69 คือการเอื้อให้อุตสาหกรรมการประมงไทยทำได้เป็นครั้งแรก เพราะตลอดช่วงเวลากว่า 50 ปี ที่ผ่านมาวิธีการทำประมงด้วยการ ‘ตีวงล้อมจับ’ ด้วยอวนประเภทนี้ถูกห้ามมิกระทำมาตลอด เหตุผลเพราะการใช้แสงไฟล่อ แล้วล้อมจับด้วยอวนตาถี่ตามความยาว 1,000-2,000 เมตร
ทั้งนี้มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า วิธีดังกล่าวจะจับเอาสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนในสัดส่วนมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ควรได้จริงนับแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนั้นยังจะเป็นอุตสาหกรรมการประมงที่มุ่งตักตวงผลผลิต ตัดวงจรชีวิตห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ และมีข้อมูลงานวิจัยชี้ชัดว่า เขตทะเลระดับ 12 ไมล์ทะเลออกไปนั้น เป็นพื้นที่แหล่งกำเนิดของสัตวน้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนหลากหลายชนิด
ขณะเดียวกันยังระบุว่า การตัดสินใจในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่อิงบนฐานข้อเท็จจริงทางวิชาการ อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง เพียงเพื่อเอื้อให้กับกลุ่มผู้สนับสนุนคะแนนเสียงเฉพาะกลุ่ม
ดังนั้นในการกระบวนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของวุฒิสภา คณะกรรมการ กป.อพช.จึงขอให้ทุกคนช่วยสนับสนุนให้มีการเพิ่มสัดส่วนของตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ตัวแทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนนักวิชาการด้านทรัพยากรทะเลชายฝั่งและการประมงเข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงไปตรงมากับคณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายอย่างรอบด้านต่อไป