‘การตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง’

เชื่อว่าน้อยครั้งนักที่ประเด็นดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นมา ในบทสนทนาว่าด้วย ‘บทบาทและความเท่าเทียมทางเพศหญิง’ ที่ไม่ได้ผูกขาดให้พูดถึงแค่ในวันสตรีสากลแต่เพียงอย่างเดียว

น่าเศร้ายิ่งนัก เมื่อปัญหาดังกล่าวกำลังกลายเป็นวิกฤตครั้งสำคัญของโลก หลังกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) เผยรายงานประจำปี 2024 ว่า จำนวนของเด็กสาวและผู้หญิงที่ต้องถูกตัดอวัยวะสืบพันธุ์ พุ่งสูงถึง 230 คน โดยเพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านคนจากปี 2016 หรือภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษ

จริงอยู่ที่ว่า บางประเทศพยายามขจัดความเชื่อดังกล่าวที่มีมาเนิ่นนาน ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม แต่อีกหลายพื้นที่จำนวนไม่น้อย กลับไร้ความเปลี่ยนแปลงใดๆ มิหนำซ้ำปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว 

เช่นเดียวกับสถานการณ์ในประเทศโซมาเลีย ผู้หญิงถึง 99% ต้องผ่านการผ่าตัดอันน่าโหดร้ายอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับบูร์กินาฟาโซ เพราะตัวเลขปรากฏการณ์ดังกล่าวลดลงอยู่ที่ 39% จาก 82% ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ดังกล่าวกำลังบอกกับเราอะไรอยู่?

 

Trigger Warning บทความนี้มีเนื้อหารุนแรง: การล่วงละเมิดทางเพศ, การทำลายอวัยวะเพศหญิง, การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, การเหยียดเพศ, การตีตราทางเพศ

 

รู้จัก ‘การตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง’ หรือ FMG

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้นิยามของการตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) ไว้ว่า เป็นขั้นตอนการกำจัดอวัยวะเพศหญิงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยปราศจากเหตุผลเพื่อการแพทย์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของผู้หญิงและเด็กสาว เช่น การมีเลือดออกจำนวนมาก ภาวะปัสสาวะขัด การติดเชื้อ การเป็นซีสต์ ภาวะมีบุตรยากและแท้ง หรือบางครั้งอาจทำให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดถึงแก่ความตาย

นอกจากนี้ กรณีการตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงในทางการแพทย์ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับแต่อย่างใด และยังถือว่าเป็นการละเมิดจรรยาบรรณแพทย์ เพราะไม่ได้ช่วยรักษาอาการใดๆ หรือส่งผลดีต่อผู้เข้ารับการผ่าตัด

ดังนั้น FGM จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติทางเพศอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะสิทธิในด้านความมั่นคงทางสุขภาพ การเจริญพันธุ์ และสิทธิการมีชีวิต

โดยทั่วไปแล้ว การตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงแบ่งได้ 4 กรณีดังต่อไปนี้

1. การตัดอวัยวะเพศสืบพันธุ์บางส่วนหรือทั้งหมด โดยอยู่ในจุดปุ่มกระสัน (Clitoral Glans) หรือหมวกคลิตอริส (Clitoral Hood) 

2. การตัดอวัยวะเพศสืบพันธุ์บางส่วนหรือทั้งหมด โดยเน้นจุดปุ่มกระสันจนถึงแคมเล็ก (Labia Minora) 

3. การขริบอวัยวะเพศหญิง (Infibulation) โดยข้อมูลจากคลินิกสุขภาพเพศแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการทำให้ปากช่องคลอดแคบลง ด้วยการตัดคลิตอริสกับแคมเล็ก ก่อนจะเย็บแคมเล็ก/ใหญ่เข้าหากัน 

4. การกระทำอื่นๆ ที่ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ และเป็นอันตรายต่อสุขภาวะ เช่น การแทง หรือการเจาะ ฯลฯ

ที่มาและความเชื่อ (ส่วนใหญ่): ทำไมต้องตัดอวัยวะสืบพันธุ์?

1. ความเชื่อดั้งเดิม-บางพื้นที่เชื่อว่า การตัดอวัยวะเพศหญิงเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแต่งงานและการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะว่าด้วยความสามารถในการควบคุม ‘ความต้องการทางเพศ’ เพื่อรักษาพรหมจรรย์และความบริสุทธิ์

2. ความเชื่อทางศาสนา เช่น กรณีของบูร์กินาฟาโซ การตัดอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนเป็นความเชื่อตามศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิม หรือการเข้า ‘พิธีขริบ’ เชื่อว่า จะทำให้อวัยวะเพศสะอาดมากขึ้น และเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ 

3. แรงกดดันในท้องถิ่น-ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนผสมทั้งความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม แม้ในบางครอบครัวไม่ได้ยึดถือความเชื่อดังกล่าว แต่วิถีประชาบังคับให้ปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้คนมีความกลัวที่ว่า ตนเองจะถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันออกจากสังคมหรือชุมชน

FGM เกิดขึ้นกับใคร แพร่หลายที่ไหน และทำไมจึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ?

ส่วนใหญ่ การตัดอวัยวะสืบพันธุ์มักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารกจนถึงหญิงสาว ตามรายงานระบุว่า ความเชื่อดังกล่าวแพร่หลายถึง 30 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสังคมตะวันตก เอเชีย หรือบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา รวมถึงบางประเทศในตะวันออกกลาง

น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช่แค่ 230 ล้านคนที่เป็นเหยื่อของการตัดอวัยวะเพศเท่านั้น แต่ WHO ยังระบุเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงอีก 3 ล้านคนกำลังอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะมีแนวโน้มสูงที่พวกเธอต้องเข้ารับการตัดในอนาคต ซึ่งไม่ถูกสุขอนามัยและเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ นิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ระบุสาเหตุที่ตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะปัจจัยดังต่อไปนี้

1. อัตราการเกิดของประชากรผู้หญิงเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

2. ปัจจัยความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นรวมถึงการพลัดถิ่นและภาวะโลกรวน (Climate Change) ส่งผลกระทบทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ทำให้ผู้คนบางส่วนต้องเยียวยาจิตใจด้วยการพึ่งพาวัฒนธรรมดั้งเดิมและความเชื่อทางศาสนา

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เร่งตั้งเป้ากำจัดภาวะดังกล่าวให้เร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่า การตัดอวัยวะเพศสืบพันธุ์ของผู้หญิงต้องหมดไปภายในปี 2030

กรณีศึกษา: ทำไมหลายประเทศถึงลดอัตรา FGM ได้อย่างเหลือเชื่อ?

รายงานของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขดังกล่าวในบูร์กินาฟาโซลดลง คือการใช้มาตรการทางกฎหมายและการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน

ทั้งนี้ E-International Relations เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุว่า บูร์กินาฟาโซเป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามออกกฎหมายทำให้การตัดอวัยวะเพศสืบพันธุ์มีความผิด เช่นเดียวกับ ประเทศกานา เซเนกัล โกตดิวัวร์ และโตโก

ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมและชุมชนประสานงานด้วยการพูดคุยร่วมกัน โดย มาเรียม ลามิซานา (Mariam Lamizana) นักการเมืองและประธานองค์กร Voix de Femmes in Ouagadougou ที่รณรงค์ต่อต้านการตัดอวัยวะเพศระบุว่า เธอพูดคุยกับผู้นำศาสนาท้องถิ่นส่วนหนึ่ง และพยายามเล่าผลกระทบที่ตามมาจากการกระทำดังกล่าว ซึ่งก็พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้นำทางศาสนารุ่นใหม่ 

อีกกรณีที่น่าสนใจ คือประเทศเซียร์ราลีโอน เมื่อตัวเลข FGM ลดลงถึง 61% จาก 95% เนื่องจากพลวัตของสังคม ทั้งการเข้ามาขององค์การระหว่างประเทศ กลุ่มเรียกร้องสิทธิ และการศึกษาสมัยใหม่ในรั้วโรงเรียน คนรุ่นใหม่จึงเริ่มตั้งคำถามกับการมีอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิมมากขึ้น 

ดังกรณีของ คามารา (Kamara) เด็กสาววัย 20 ปี เธอเล่ากับนิวยอร์กไทมส์ว่า ยายพยายามบอกเธอทุกเช้าก่อนไปโรงเรียนว่า ถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องทำพิธีตามความเชื่อทางศาสนา ไม่เช่นนั้นอาจจะถูก ‘ตัดจากสังคม’ เช่น การไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงานศพ พิธีแต่งงาน จนถึงการดำรงตำแหน่งสำคัญ อย่างหัวหน้าหรือนักการเมืองในรัฐสภา

แต่คามาราปฏิเสธและให้เหตุผลว่า พระเจ้ามอบร่างกายให้กับเธออย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เธอจึงไม่ควรนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกไป พร้อมกับบอกว่า เธอยินดีที่จะไม่มีเพื่อน เพราะเพื่อนรอบตัวของเธอก็คัดค้านการทำพิธีกรรมเช่นนั้น 

“ฉันก็หวังว่า คนจำนวนไม่น้อยอยากแต่งงานกับผู้จัดการธนาคารทั้งนั้น” คามาราตอบโดยสอดแทรกนัยสำคัญถึงอนาคตที่เธออยากเป็น หลังยายของเธอบอกว่า หากไม่เข้าร่วมพิธีกรรม จะต้องอยู่คนเดียวและเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 

คามาราเล่าว่า เธอปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมด เพราะยายพยายามจะ ‘ติดสินบน’ เธอด้วยเสื้อผ้าสวยๆ พร้อมย้ำว่า ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อสุขภาพ แต่พิธีกรรมนี้ยังเสียเงินอีกด้วย เพราะอย่างน้อย แต่ละครอบครัวต้องจ่ายเงินให้กับ​ โซเวย (Sowei) หรือผู้นำทางพิธีกรรมดังกล่าวในเซียร์ราลีโอน 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวกลับไร้ความคืบหน้าในโซมาเลีย แม้จำนวนผู้นำทางศาสนาที่ ‘เคร่งครัด’ น้อยลง แต่นั่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีคิด นอกจากความพยายามลดทอนความรุนแรงด้วยการ ‘ตัดให้น้อยลง’ จากเดิมที่ ‘ตัดทั้งหมด’  

“เราจะพูดมานานแล้วว่า ไม่มีอะไรในร่างกายผู้หญิงที่ต้องตัด มันไม่มีคำสนับสนุนทางศาสนาที่ประพฤติปฏิบัติเลย” มาเรียม ดาฮีร์ (Mariam Dahir) ผู้ต่อต้าน FGM แสดงความคิดเห็นผ่านนิวยอร์กไทมส์ ก่อนที่ UNFPA โซมาเลียจะย้ำว่า ทางออกที่ดีของปัญหาดังกล่าว คือการเสริมสร้างอำนาจของผู้หญิงผ่านเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างรายได้และอาชีพการงาน

อีกด้านของ FGM: ข้อโต้แย้งว่าด้วยการผลิตซ้ำวาทกรรม ‘ความไม่พัฒนา’ จากชาติตะวันตกในโลกเสรีนิยมใหม่?

แม้ FGM เป็นเรื่องอันตราย และน่ายินดีที่หลายสังคมเริ่มตั้งคำถามกับการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ ทว่าผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบางส่วนกลับมองว่า องค์การระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น UN, UNICEF หรือกลุ่มชาติตะวันตก กำลังผลิตซ้ำวาทกรรม ‘ความด้อยพัฒนา’ ให้กับชาติแอฟริกันหรือประเทศด้อยพัฒนาผ่านปัญหานี้

อ้างอิงจากบทความ Female Genital Cutting in Africa: The West and the Politics of ‘Empowerment’ องค์การระหว่างประเทศมักให้เหตุผลว่า การตัดอวัยวะเพศหญิงมีรากฐานจากความไม่เท่าเทียมทางเพศใน ‘ท้องถิ่น’ ดังนั้น ทางออกที่ดีคือการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีงานทำและสร้างรายได้เป็นของตนเอง เพื่อเสริมสร้างอำนาจของผู้หญิงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงลดการพึ่งพาผู้ชายและระบอบปิตาธิปไตยในสังคม

ทว่า เอมี น็อก (Amy Knox) ผู้เขียนบทความดังกล่าวโต้แย้งว่า การให้เหตุผลเช่นนั้นอาจผิดฝาผิดตัวและไม่สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ (One Size Fits All) เพราะในบางบริบท การตัดอวัยวะเพศหญิงเกิดจากอำนาจกล่อมเกลาของคนในสังคมชายเป็นใหญ่ให้คล้อยตาม จนผู้หญิงเกิดความเชื่อและไม่มีทางปฏิเสธการกระทำดังกล่าวได้  

รวมถึงบางสังคม ผู้หญิงในแอฟริกันเป็นฝ่าย ‘สนับสนุน’ การตัดอวัยวะเพศเสียเอง ดังกรณีซูดานในยุคหนึ่งมีความเชื่อว่า อวัยวะเพศชายคือเครื่องมือแสดงความเป็นใหญ่ของบุรุษเพศในสังคม ดังนั้น กระบวนการ FSG จะส่งเสริมอำนาจของผู้หญิงมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการควบคุมกามารมณ์ของผู้ชาย โดยเฉพาะ ‘ความยับยั้งชั่งใจ’ ซึ่งตรงข้ามกับข้อสันนิษฐานของชาติตะวันตกทั้งหมด

นอกจากนี้ คำโต้แย้งดังกล่าวยังเป็นการตีตราว่า ชาติแอฟริกาหรือกลุ่มประเทศไม่พัฒนาในปัจจุบันว่า ‘ป่าเถื่อน’ หรือไร้อารยธรรม​​ โดยใช้เลนส์ ‘ความเป็นตะวันตก’ พิจารณาลงมา ทั้งที่ความจริงแล้ว ชาติตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ ประกอบสร้างปัจจัยดังกล่าว ผ่านการล่าอาณานิคมในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

สุดท้ายนี้ หากมองให้ลึกซึ้งไปอีก วาทกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสอดรับกับสังคมและเศรษฐกิจ ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neo-Liberalism) ที่ผลักให้ทุกคนต้อง ‘รับผิดชอบตนเอง’ แทนที่จะเน้นการแก้ไขปัญหาจากโครงสร้างเป็นหลัก 

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2024/03/07/health/female-genital-cutting.html

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/female-genital-mutilation

https://somalia.unfpa.org/en/topics/female-genital-mutilation-5

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4064295/

https://www.nytimes.com/2022/06/14/health/female-genital-cutting-sierra-leone.html

https://www.facebook.com/KCMHCMG/photos/a.122470639152816/190904875642725/?type=3

https://somalia.unfpa.org/en/topics/female-genital-mutilation-5

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/female-genital-mutilation

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , ,