วันนี้ (22 มีนาคม 2565) ถือเป็นวันที่ม็อบชาวนาได้ขีดเส้นให้กับรัฐบาลว่าปัญหาและข้อเรียกร้องของพวกเขาจะต้องได้เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง จนชาวนาต้องชุมนุมปักหลักค้างคืนเพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนแล้ว

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เดินทางมายื่นรายชื่อจำนวน 31,629 รายชื่อ จาก ‘แคมเปญรณรงค์ Change.org แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ’ โดยมี ไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนมารับรายชื่อดังกล่าว

The Momentum ได้ติดต่อสัมภาษณ์นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่า ทำไมข้อเรียกร้องของม็อบชาวนาถึงไม่เข้า ครม. เสียที โดยผู้ให้สัมภาษณ์ฝ่ายรัฐบาลคือ ‘ไชยยศ จิรเมธากร’ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้รับยื่นหนังสือจากทางม็อบชาวนา และ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เพื่อพูดคุยกันว่าแต่ละคนมีมุมมองและวิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับม็อบชาวนาอย่างไร

บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565: 1 วันก่อนก่อนชาวนาทวงสัญญา

มุมมองของปัญหาที่ชาวนากำลังเผชิญอยู่ของ ไชยยศ จิรเมธากร

ไชยยศ กล่าวถึงประเด็นม็อบชาวนาว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทับถมมาก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์ และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาทำงาน เรื่องปัญหาอื่นๆ ได้ดำเนินการแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เหลือตอนนี้คือประเด็นหนี้สิน 4 ธนาคาร ที่กำลังเรียกร้องอยู่ ปัจจุบันได้ดำเนินการชะลอการขายทอดตลาดกับทุกธนาคาร ทั้งรัฐบาลและเอกชน พร้อมกับแก้ระเบียบไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

“ผมไม่อยากกล่าวโทษ บางทีที่ดินถูกแบ่งขายไม่กี่วันได้ราคาเพิ่มเป็นเงินหลายหมื่น ตอนแรกเราไม่สามารถตามไปซื้อให้ได้เพราะมันขัดกับระเบียบ ก็เสนอสำนักงานแห่งชาติแก้ไขระเบียบใหม่ ส่วนข้อเรียกร้องข้อสุดท้าย วันที่ม็อบชาวนาจะนำมวลชนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ผมก็ไปเจรจาเนื่องจากรับผิดชอบเรื่องนี้และทำงานมาโดยตลอด เหล่าแกนนำจะรู้เขาเลยเรียกร้องให้ผมไป ผมก็ไปในขั้นตอนที่กระทรวงเกษตรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบตาม พ.ร.บ. เราก็สรุปผลวางแผนจะเข้า ครม. และรอ ครม. พิจารณาแล้วเสร็จ

“กระบวนการส่งเข้า ครม. เป็นกระบวนการที่พ้นอำนาจของผม แต่ก็รับปากและบอกพวกเขาไปว่าอย่าเพิ่งมาลงถนนเลย เพราะอยู่ในขั้นตอนเซ็นเข้า ครม.

“เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ผมกลับไปดำเนินการให้รองนายกฯ เซ็น ซึ่งท่านก็เซ็นให้เร็วที่สุดเพื่อพยายามจะดันเรื่องเข้า ครม. ในวันที่ 8 มีนาคม แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท งบประจำปี 2-3 ปี อีกประมาณ 8 พันล้านบาท จึงจำเป็นต้องรับความเห็นชอบจากทางกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นเจ้าของเงิน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เลยยังเข้าพิจารณาไม่ได้ ส่วนผมก็กราบเรียนเร่งรัดเลขานุการคณะรัฐมนตรีไปว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทันยื่นวันที่ 22 มีนาคมนี้”

ไชยยศกล่าวต่อไปว่า จริงๆ แล้วเขาขอเวลา 4 สัปดาห์ แต่ทางม็อบบอกว่ารอไม่ไหว เพราะมีผู้ชุมนุมบางส่วนต้องเดินทางกลับบ้าน มีอีกมากที่ยังไม่ได้เดินทางเข้ามา และอีกส่วนจะปักหลักรอหน้ากระทรวงการคลังต่อไป

“ผมทำเต็มที่ แต่ไม่รับปากเพราะมันพ้นอำนาจผม อำนาจผมสูงสุดอยู่แค่การเสนอให้ท่านรองนายกฯ เซ็นเข้า ครม. แต่เมื่อวานผมเพิ่งคุยโทรศัพท์ให้เร่งรัดเรื่องนี้เพราะยังไม่เข้าบรรจุระเบียบวาระ ซึ่งถ้ามาทันภายในพรุ่งนี้ (วันนี้) ก็อาจจะเข้าเป็นวาระเพิ่มเติมทัน อย่างไรก็ขอให้เสนอ ครม. ทันเพราะผมยังมีความหวังว่าจะมาทัน”

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหา ไชยยศกล่าวว่าตอนนี้มาถูกทางทุกอย่างแล้ว และอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะแค่ม็อบชาวนา แต่รวมไปถึงเกษตรกรต่างๆ ส่วนเรื่องการเข้าที่ประชุม ครม. อยู่นอกเหนืออำนาจที่สามารถจัดการได้ แต่ส่วนตัวเข้าใจมุมมองแต่ละฝ่ายว่ามีหลายขั้นตอน เช่น ตัววินัยการเงินการคลัง ซึ่งก็ได้อธิบายในเรื่องนี้ไปแล้วว่าสิ่งที่กำลังทำ ไม่ได้ทำมาเพื่อปฏิรูปเกษตรกรทั่วไป เพราะไม่ใช่เกษตรกรทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือ แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น

“บางเรื่องเป็นปัญหาเรื้อรัง ผมไม่อยากพูดถึงอดีต เราอาจจะเปลี่ยนพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาเป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องอาศัยปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เลยทำให้ต้นทุนต่างๆ เปลี่ยนไป หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ในส่วนที่เราพยายามทำได้ ปัจจุบันนโยบายของท่านจุรินทร์ก็มอบหมายให้ผมทำเรื่อง ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’

“ผมไปสัมมนาพาณิชย์จังหวัดเกษตร เดิมทีคนที่เข้าร่วมเป็นข้าราชการจังหวัดเดียวกันแต่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย ผมและทุกคนต้องไปนั่งคิด ดูว่าประชาชนเขาผลิตอะไรอยู่ และพาณิชย์จะช่วยอะไร รัฐช่วยเหลืออะไร ตอนนี้ก็ไปสัมมนาทุกหน่วยงานในประเทศไทยมาแล้ว และท่านจุรินทร์ได้มอบหมายให้คิดนโยบายเพิ่มเติม เช่น ปลูกข้าวเหนียว ขายแป้ง หรือผลิตภัณฑ์ของข้าวเหนียวด้วย ไม่ใช่คิดขายแค่ข้าว อาจจะเป็นเหล้าสาโท แต่อันนี้กฎหมายยังไม่ปัก ผมแค่ยกตัวอย่างให้ฟัง นโยบายของผมไม่ได้มีแค่ข้าวแต๋น ไม่ได้มีแค่กล้วยทอด กล้วยตาก มันต้องมีมากกว่า ตอนนี้ดำเนินการมาเยอะแล้ว”

“ถ้าความเห็นของหน่วยงานต่างๆ มาไม่ทันในอาทิตย์นี้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าเกินอาทิตย์หน้า ก็พยายามบอกกับแกนนำว่าไม่อยากให้ปิดถนน เพราะมันเดือดร้อนคนอื่น ที่ผลยังไม่มาไม่ใช่ว่าเราไม่ทำงานให้ แต่มันมีข้อจำกัดทางราชการ ไม่ได้แก้ตัวแทนสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลัง เชื่อว่าในปลายสัปดาห์ยังมีความหวังอย่าเพิ่งเคลื่อนไหวให้รอดูก่อนว่าผลจะเป็นอย่างไร” ไชยยศทิ้งท้าย

มุมมองของปัญหาที่ชาวนากำลังเผชิญอยู่ของ ศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญามองปัญหาว่าอยู่ที่เรื่องของหนี้สิน หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือหนี้สินครัวเรือนพุ่งสูง และหากไปดูสัดส่วนในหนี้ครัวเรือนก็จะเป็นหนี้ของเกษตรกรทั้งสิ้น โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคอีสาน

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ของเกษตรกรจะวนกลับมายังปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดกำลังซื้อของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้ เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน จนเกษตรกรต้องออกมาเรียกร้องผ่านม็อบ และเหตุการณ์ในตอนนี้ไม่ใช่ครั้งแรก การเคลื่อนไหวของม็อบชาวนาแสดงให้เห็นว่า กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามสัญญาได้จริง

ศิริกัญญาเสนอสิ่งที่ต้องทำ 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1. จัดการสัญญากู้เงินที่ไม่เป็นธรรม ศิริกัญญาเสนอว่ารัฐต้องคิดก่อนว่าการที่ม็อบชาวนาจะเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้นั้นต้องเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) หรือเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยต้องไม่พูดถึงเรื่องนโยบายการเกษตรหรือการเพิ่มสินค้าเกษตรต่างๆ เพราะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำคือแก้ไขตั้งแต่การปรับเงื่อนไขเงินกู้ให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้ มีการต่อสัญญาหนี้ใหม่ โดยนำเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยที่เหลือมาทำสัญญากับลูกหนี้ และบอกว่าเป็นหนี้ก้อนใหม่

การรวมเงินต้นกับดอกเบี้ยทำให้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เวลาที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำสัญญาใหม่จะทำในลักษณะนี้ สุดท้าย ธ.ก.ส. สามารถหลีกเลี่ยงการบอกลูกหนี้ว่าเป็นหนี้เสีย และต่อสัญญาไปเรื่อยๆ ถือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมอย่างมากเพราะเกิดการคิดรวมดอกเบี้ย โดยกฎหมายไม่สามารถทำได้ หากเป็นสถาบันทางการเงินอื่นที่เจรจากับลูกหนี้ที่ไม่ใช่เกษตรกรก็จะไม่สามารถทำได้

จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ต้องเจรจาต่อรองเรื่องตัดดอกเบี้ยออกไปหรือขอพักไว้ก่อน แต่เวลานี้ยังไม่มีการจัดการดังกล่าว จึงส่งผลให้ปัญญาหนี้ของเกษตรกรพอกพูนขึ้นจนไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด เกษตรกรก็ถอดใจเลิกผ่อนเพราะหนี้งอกมาเรื่อยๆ

2. ปรับโครงสร้างหนี้ขนานใหญ่ เนื่องจากอายุของเกษตรกรในประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ย 59-60 ปี โอกาสที่จะใช้หนี้คืนได้จึงยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ รวมไปถึงระยะเวลาในการกู้จะสั้นลงด้วยเพราะธนาคารกังวลว่าจะใช้หนี้คืนไม่ได้ จึงต้องปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรขนานใหญ่

กองทุนฟื้นฟูฯ มีปัญหาเพราะซื้อหนี้มาแล้วบริหารจัดการไม่ได้ จึงได้เงินกลับคืนมาค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องของกองทุน กลไกที่จะช่วยเหลือเกษตรกรจึงลดน้อยลงมาอีก ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากงบประมาณที่ได้รับมาแบบไม่ต่อเนื่อง แต่อีกทางกองทุนก็ขาดประสิทธิภาพในการจัดการ ซึ่งต้องปฏิรูปครั้งใหญ่เช่นกัน

“จริงๆ แล้วพรรคก็ลงไปเยี่ยมม็อบชาวนาอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ไม่คิดว่าจะยืดเยื้อขนาดนี้ ตอนแรกคิดว่าเป็นช่วงเข้าประชุม ครม. ม็อบเลยมากดดันเพื่อให้เกิดความรวดเร็วขึ้น ตอนแรกยังไม่เห็นปัญหาว่าทำไมถึงไม่สามารถเข้า ครม. ได้ ในเมื่อเจ้าหนี้อนุมัติมาแล้วประมาณ 5 หมื่นรายชื่อ พอไปค้นข้อมูลจึงทราบว่า ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ไม่ใช่แค่สำนักกองทุนฟื้นฟูฯ กระทรวงเกษตร หรือรองนายกฯ จุรินทร์ เท่านั้น ยังมีเรื่องของกระทรวงการคลังมาเกี่ยวข้อง อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมจนถึงตอนนี้ข้อเรียกร้องยังไม่เข้า ครม. นอกจากนี้ยังพบเอกสารที่ระบุการโต้ตอบเรื่องที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกำลังกังวลอยู่

“ข้อแรกคือความกังวลว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะสร้างแรงจูงใจที่ผิดให้เกษตรกรไม่ส่งหนี้ต่อ และทำให้ตัวเองกลายเป็นหนี้เสีย อันนี้พูดตามเอกสาร เอาตรงๆ เรื่องนี้ไม่มีเหตุผลเลย เพราะสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เขารู้ตัวดีอยู่แล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับความช่วยเหลือ คนที่ได้รับความช่วยเหลือต้องเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดก่อน ส่วนข้อสองคือความกังวลเรื่อง พ.ร.บ.มาตรา 28 โครงการที่รัฐบาลให้หน่วยงานรัฐทำเกิดภาระต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือเกิดการสูญเสียรายได้ ตรงนี้รัฐบาลต้องตั้งเงินไว้ และจะรวมเป็นก้อนมีสัดส่วนอยู่ที่ไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

“แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ มาตรา 28 ใกล้ชนเพดานหนี้เต็มที่ แม้จะขยายเพดานมารอบหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว กรณีเงินประกันรายได้ชดเชยที่ออกช้า จากเพดานหนี้ 30% ขยับเป็น 35% และตอนนี้ก็จะชนอีกรอบ เลยคิดว่านี่เป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลรีรอไม่เข้า ครม. เสียที เพราะตรงนี้ก็เป็นเม็ดเงินเกือบหมื่นล้าน และภาระความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะต้องมีการประเมินต่อ ซึ่งอาจจะมากกว่าหมื่นล้าน”

ศิริกัญญามองว่าหากสถานการณ์เป็นดั่งที่ตนคาดเดา นี่จะเป็นปมสุดท้าย ซึ่งประชาชนรอมา 2 เดือนกว่าแล้ว ส่วนเธอที่เป็น ส.ส. จะนำปัญญานี้เข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง เพราะปัญหานี้เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขหนี้เกษตรกรในระยะยาว รวมถึงความยั่งยืนด้านการคลังของประเทศ ในยามวิกฤติแบบนี้ยิ่งทำให้รัฐบาลเหมือนกับว่าหมดหน้าตัก ไม่มีทางใดที่จะช่วยเหลือประชาชนแล้ว

“สถานการณ์ของม็อบชาวนาเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง หากมีการอนุมัติซื้อหนี้ 4 ธนาคารครั้งนี้จริง จะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากับลูกหนี้ 5 หมื่นคน แต่ยังมีใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกมากมายซึ่งเป็นหนี้สินเกษตรกรที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น ธ.ก.ส. ที่ไม่เคยมี นโยบายตัดลดหนี้ให้เลย แต่หากคุณเป็นลูกหนี้ธนาคารทั่วไป แล้ววันหนึ่งธุรกิจคุณเจ๊ง ก็สามารถเจรจากับธนาคารเพื่อตกลงกันว่าจะ hair cut หนี้ให้ หรือลดหนี้เหลือ 70% หรือ 30% ตามกำลังจ่าย แต่พอเป็นธนาคารของรัฐบาลโดยเฉพาะ ธ.ก.ส. ไม่เคยมีนโยบายลดหนี้เลย

“เขาเลยจำเป็นต้องจ่ายหนี้ก้อนใหญ่เหมือนเดิม เพราะขายข้าวได้เงินปีละครั้งสองครั้ง เวลาจ่ายคืนก็จ่ายครั้งหรือสองครั้งเป็นเงินก้อนใหญ่ หากมีนโยบายลดหนี้ก็สามารถเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นได้ สามารถรอดพ้นจากวิกฤติหนี้ได้ แต่พอไม่มี hair cut หนี้ มันก็จบ

เรื่องเหล่านี้ยังไม่รวมหนี้ที่เกิดเพราะรัฐบาลไปหลอกให้ประชาชนปลูกนั่นปลูกนี่อีกตั้งเท่าไหร่ ไหนๆ รัฐบาลบอกว่าปีนี้จะเป็นปีแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เรื่องแรกเลยแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรก่อน” ศิริกัญญาทิ้งท้าย

Tags: , ,