วันนี้ (9 มีนาคม 2565) ที่กระทรวงการคลัง กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ได้เดินทางมายื่นรายชื่อจำนวน 31,629 รายชื่อ จาก ‘แคมเปญรณรงค์ Change.org แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ’ โดยมี ไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนมารับรายชื่อดังกล่าว

นับเป็นสัญญาอีกครั้งหนึ่งของรัฐบาล จากหลายครั้งก่อนหน้า ที่เคยกล่าวคำมั่นว่า จะผลักดันเรื่องของม็อบชาวนาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ข้อเรียกร้องและปัญหาของชาวนากลับไม่เคยเข้าสู่ที่ประชุม ซ้ำร้ายม็อบชาวนาที่คนเข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ต้องเดินทางจากบ้านเกิดเข้ามาเรียกร้องและยื่นข้อเสนอในกรุงเทพฯ แบบหัวไร้หมอนหนุน แผ่นหลังนอนบนปูนซีเมนต์

ข้อเรียกร้องของม็อบชาวนา ได้แก่

1. ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก เร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้จากสินทรัพย์รอการขาย (Non Performing Asset หรือ NPA) จาก 2.5 ล้านบาทขยายเป็น 5 ล้านบาท เสนอเข้าสู่เข้ามติคณะรัฐมนตรี

2. ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรคเหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.)

3. ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชันพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่ขึ้นราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น เกษตรกรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือและเยียวยารวมถึงพักชำระหนี้

สำหรับรัฐธรรมนูญ​ 2540 มีกฎหมายชื่อ พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนเสนอร่างขึ้นมา โดยความสำคัญของกฎหมายข้อนี้คือ การเร่งแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร โดยเป็นการโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารต่างๆ เข้าสู่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรโดยไม่มีดอกเบี้ย หรือให้เกษตรกรผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยการันตีว่าเกษตรกรจะไม่ถูกยึดทรัพย์ เช่น ที่ดิน เหมือนกับสถาบันการเงินทั่วไป แต่การที่เกษตรกรจะเข้าสู่การโอนหนี้ได้ต้องผ่านเงื่อนไข 1 ประการ คือที่ประชุม ครม.ต้องเห็นชอบ

จากเดิมข้อเสนอของม็อบชาวนาต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 กลับถูกเลื่อนเรื่อยมา แต่ดอกเบี้ยของธนาคารที่เกษตรกรกู้หนี้ยืมสินกลับไม่เคยเลื่อน และมีการคิดดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ เกษตรกรส่วนมากต่างถูกยึดที่ดินทำกิน และไร้ที่อยู่อาศัย จนต้องพาตัวเองมาปักหลักเรียกร้องข้อเสนอดังกล่าวเป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน แต่ภาครัฐก็ยังคงเงียบงัน

ทำไมอาชีพชาวนายิ่งทำ ยิ่งเป็น ‘หนี้’ และทำไมเราถึงต้องเร่งโอนหนี้ของชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ

ประเทศไทยมักได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ของการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก หากปีไหนที่ส่งออกได้น้อย นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมักจะบอกว่าเป็นเพราะข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่ง เมื่อข้าวไทยมีราคาแพง แล้วเหตุใดชาวนาถึงจนลง? ส่วนต่างแสนแพงของการขายข้าวไปอยู่ที่ไหน?

ข้อมูลจากการแบ่งสรรผลกำไรในห่วงโซ่อุปทานข้าวไทย ได้รวบรวมและเปิดเผยข้อมูลของการแบ่งสรรผลกำไรของข้าวไทยไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ชาวนาจำนวน 4.1 ล้านราย มีกำไรเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน

2. ผู้ส่งออกข้าว 272 ราย มีกำไรเฉลี่ย 18.41 ล้านบาทต่อราย

3. โรงสี 1,046 ราย มีรายได้เฉลี่ย 6.27 ล้านบาทต่อราย

’ประเทศไทยไม่ได้เป็นแชมป์ส่งออกข้าวเพราะข้าวเราแพง’ ประโยคนี้อาจชี้ให้เห็นถึงต้นทางว่า ข้าวไทยแพงมาจากจุดไหน? และประเทศไทยจะเป็นแชมป์ส่งออกข้าวไปเพื่อใคร หากชาวนาต้องถูกกดราคาเพื่อให้การส่งออกข้าวมีราคาถูกลง ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำนาแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย หรือการลงแรงต่างๆ ในการทำนา ที่ชาวนาล้วนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น “ปุ๋ยกระสอบละพันกว่าบาท แต่ข้าวกลับราคาห้าบาทต่อกิโลกรัม ทำไมสินค้าทุกอย่างกำหนดราคาขั้นต่ำได้ แต่ทำไมราคาข้าว ชาวนาไม่เคยมีส่วนร่วมในเรื่องนี้เลย” จากปากคำของหนึ่งในผู้เข้าร่วมม็อบชาวนาที่เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ก่อนหน้านี้

คำถามจากม็อบชาวนาจึงระงมต่อไปว่า เพราะเหตุใดราคาข้าวแพง แต่ชาวนาถึงจน แล้วผลกำไรส่วนใหญ่ใครเป็นผู้แย่งชิงไปจากชาวนา และทิ้งหนี้สินไว้แทน เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดข้อเรียกร้องดังกล่าว ถึงไม่มีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเสียที

อ่านบทสัมภาษณ์ม็อบชาวนา “ชนชั้นรากหญ้ายังแย่แล้วประเทศจะดีได้อย่างไร” เสียงสะท้อนจากม็อบชาวนาที่ยืนยันว่า ยิ่งทำนาก็ยิ่ง ‘จน’ เพิ่มเติมได้ที่ https://themomentum.co/feature-farmers-protest/

ภาพ: Thai News Pix

ที่มา

https://www.bot.or.th/…/Pages/Article_19Feb2021.aspx

Tags: , , ,