มันเป็นเรื่องทั้งน่าประหลาดใจ ตกใจ และเศร้าใจ เมื่อเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน แล้วมีความย้อนแย้งในหลายมิติ
Human Rights ควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ดูเป็นเรื่องยาก ทั้งยากที่จะทำให้คนทั่วไปรู้สึกถึงความสำคัญ และยากที่จะทำให้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม จนดูเหมือนเป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินจะไขว่คว้า
ศิลปินเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พยายามนำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาสื่อสาร ผ่านการสร้างงานศิลปะ บทความพิเศษนี้ The Momentum ชวนศิลปิน 4 คนได้แก่ นักรบ มูลมานัส, กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง, นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ และพิเชษฐ กลั่นชื่น มาพูดถึงบทบาทของศิลปินที่มีต่อการสื่อสารเรื่องนี้ให้สังคมตระหนักมากขึ้น ผลงานของเขาและเธอที่ผ่านมา และสิ่งที่ศิลปินสามารถทำได้เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ไม่ว่าลำดับชั้นจะเป็นอย่างไร ดีขึ้นเท่ากันอย่างที่มนุษย์พึงมี
ศิลปิน สิทธิมนุษยชน และ COVID-19
“การที่เรามีสิทธิ์ที่จะแสดงความรู้สึกออกมา ผมรู้สึกว่านั่นคือพื้นฐานของความเท่าเทียมที่ทุกคนมี สามารถที่จะแสดงออกได้โดยที่ไม่ต้องกลัวเรื่องใดๆ”
นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปินผู้เล่าเรื่องสังคม ความเหลื่อมล้ำ ผ่านการจัดดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ พูดถึงความหมายของสิทธิมนุษยชนในความคิดของเขา
บ่อยครั้งศิลปินมักจะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ต้องแสดงออกหรือ Express บางสิ่งตลอดเวลา มันเป็นเหมือนหน้าที่ในอาชีพ แต่ความจริงแล้วนรภัทรคิดว่ากิริยาการแสดงความรู้สึกไม่ได้ตกอยู่กับอาชีพนี้อย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำได้
เช่นเดียวกับนักรบ ศิลปินที่เล่าเรื่องผ่านภาพคอลลาจอันหลากหลาย เขามองว่าสิทธิอันดูเหมือนศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง แท้จริงแล้วคือความชอบธรรมของเรา การแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเราไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดบาป
อย่างไรก็ดี ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา โรคระบาดเป็นเหมือนมีดที่มากรีดแผลเกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำให้เปิดกว้างขึ้น เรื่องนี้ศิลปินรุ่นใหญ่อย่างพิเชษฐให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
“โควิดเปิดเผยว่าเราเป็นลำดับชั้นที่เท่าไหร่ของโครงสร้างทางสังคม การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะพยายามอธิบายหลักคิดว่ามันไม่มีลำดับชั้น ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกัน ยืนอยู่บนเส้นเดียวกันทั้งหมด แต่พอเกิดสภาวะของโควิด เราเห็นว่ามันมีลำดับชั้นของขั้นบันไดขึ้นมาทันที และเรายืนอยู่ในขั้นบันไดที่เท่าไร”
กนิษฐรินทร์ ศิลปินหญิง ก็เห็นด้วยกับพิเชษฐ “มันทำให้เราเห็นถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เป็นตัวเร่งปฏิกริยา จากคนที่ถูกลิดรอนสิทธิในสังคมหรือได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ครบถ้วนอยู่แล้ว ก็ยิ่งโดนโควิด-19 กดลงไปอีก”
ในช่วงโควิดมักจะมีชุดคำพูดที่บอกว่า วิกฤตนี้ทุกคนลำบากเหมือนกันหมด และหลังจากประโยคนี้ก็จะมีชุดคำที่ตามมาว่า เพราะฉะนั้นทุกคนควรช่วยกัน สังคมจึงจะดีขึ้น ในความเป็นจริงคือคนลำบากไม่เท่ากัน การมองว่าทำไมบางคนในสังคมจึงไม่ช่วยกันอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อ จึงเป็นเหมือนการละเลยความจริงที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถอยู่บ้านได้ เพราะบางอาชีพการอยู่เฉยๆ เท่ากับขาดรายได้ บางคนจึงเลือกที่จะเสี่ยงกับโรคระบาดมากว่าจะอดตายอยู่ที่บ้าน
“หลายคนจะบอกว่าโควิด-19 ทำให้ทุกคนลำบากเท่าๆ กันหมด ผมว่ามันไม่จริงเลย เพราะแต่ละคนได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ท้ายที่สุดแล้วเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่ละคนก็ไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เท่าเทียมกันอยู่ดี” นรภัทรพูด
เล่าเรื่องสิทธิด้วยศิลปะ
ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
ในช่วง 2 ปีมานี้สหภาพยุโรปประจำประเทศไทยจัดงานเกี่ยวกับศิลปะและสิทธิมนุษยชน 2 ครั้ง ครั้งแรกคืองานชื่อ The Art of Human Rights โดยร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดนิทรรศการศิลปะของนักรบและนรภัทร เพื่อให้ผู้คนรู้ถึงปัญหานี้ผ่านงานศิลปะที่บรรจงสร้างอย่างน่าชม งานนี้จัดปลายปี 2019 ที่ Yelo House อีกงานหนึ่งชื่อ 7 Decades of Human Rights งานนี้มอบพื้นที่ให้พิเชษฐ ศิลปินนักเต้นร่วมสมัยสร้างผลงานที่ชื่อว่า 7 เพื่อเล่าเรื่องหลักการพื้นฐานของสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ นอกจากนี้ยังเล่าปัญหาคนชายขอบที่เข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้ผ่านการแสดงได้อย่างกลมกลืน
เวลาเราพูดถึงงานศิลปะ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในบ้านเรา คือการมองว่าเป็นเรื่องสูง แตะต้องลำบาก ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือมันดันคล้ายกับเรื่องสิทธิที่คนรู้สึกว่ามันไกลตัวเหลือเกิน
“เราชอบคิดว่าสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพการแสดงออกเป็นของหรูหราเป็นแฟนซี ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับงานศิลปะเหมือนกัน เราชอบรู้สึกว่างานศิลปะมันเป็นของหรู แต่จริงๆ แล้วงานศิลปะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการแสดงออก เป็นหนึ่งในภาษา หนึ่งในเครื่องมือที่เป็นกระบอกเสียง การที่สังคมมีเครื่องมือที่หลากหลายมันย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เพราะว่าคนเราแสดงออกกันหลากหลายในการแสดงออก ในการใช้เครื่องมือ ที่เป็นเครื่องขยายเสียงของเราต่างกัน” กนิษฐรินทร์พูดถึงบทบาทของศิลปินในการเล่าเรื่องสิทธิ
ในมุมมองของนรภัทร ศิลปินอาจจะไม่ต้องเล่าเรื่องออกมาตรงๆ ก็ได้ เพียงแค่ทำให้คนรู้สึกบ้างก็เพียงพอแล้วในบริบทนี้
“บางทีมนุษย์เราเมื่อพูดออกมาแล้วคนอาจจะไม่ได้ฟังทุกๆ คน แต่พอมันมีงานศิลปะที่เป็นตัวกลาง มันทำให้เรากลับมาคิดมากขึ้นว่าภาพๆ นี้มันสื่อสารถึงอะไร แล้วเมื่อมนุษย์เราเริ่มฉุกคิดนิดหนึ่ง มันเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ว่าสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้รับจากงานศิลปะหรือภาพๆ นี้มันเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไรบ้าง และมันทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากงานศิลปะเยอะแยะมากขึ้น”
งานศิลปะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสังคม เป็นประตูบานหนึ่งที่จะทำให้คนรู้สึกกับสิ่งรอบตัว ที่ศิลปินอยากจะสื่อสาร
ในยุคแรกที่งานศิลปะเกิดขึ้นในอารยธรรมของเรา ศิลปินวาดภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ สัตว์ป่า เพื่อเล่าความงามที่เขาหรือเธอประทับใจ ต่อมาศิลปินก็สามารถเล่าเรื่องที่ซับซ้อนและนามธรรมกว่านั้น วาดภาพบุคคลที่เขาเคารพ วาดความคิดที่ไม่อาจจับต้องได้ หรือแม้แต่วาดสัจธรรมที่ไม่อาจหนีพ้น
การที่ศิลปินสร้างสรรค์งานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ก็เหมือนกำลังวาดความจริงในสังคมออกมาให้เราเห็น แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนชายขอบของสังคม คนที่เราอาจไม่เคยเห็นชีวิตที่แท้ของพวกเขา นั่นก็เพียงพอแล้วที่งานศิลปะจะมีคุณค่าในตัวมันเอง
ไม่ใช่ทุกคนที่จะหลงรักงานศิลปะที่สื่อสารเรื่องราวความทุกข์ในสังคม และศิลปินก็ไม่อาจคาดหวังสิ่งใดมากไปกว่านี้ แค่เพียงเห็นว่ามีคนที่ดูแล้วรู้สึก แม้มีเพียงแค่คนเดียว นั่นก็คุ้มค่าแล้วที่งานศิลปะนั้นได้เกิดมาเพื่อสื่อสารสิ่งที่ดูเหมือนไกลตัว แต่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่เราควรมีและปกป้องมัน
Tags: งานศิลปะ, Art of Human Rights, European Union in Thailand, สิทธิมนุษยชน, สหภาพยุโรป