งานศิลปะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่อันดีในการพรั่งพรูอารมณ์หรือความคิดเห็น ยิ่งในสถานการณ์ที่ใครใครก็รู้สึกโกรธอะไรสักอย่างได้ง่ายๆ อย่างนี้ และในนิทรรศการศิลปะ Human Being ศิลปินทั้ง 13 คนก็ได้พรั่งพรูความรู้สึกของพวกให้คนได้เข้ามาร่วมรู้สึกไปด้วยกัน

นิทรรศการ Human Being จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) จังหวัดเชียงใหม่ และเปิดให้ชมไปจนถึงหลังสงกรานต์ 2563 โดยผลงานจัดแสดงมาจากโครงการ Human ร้าย, Human Wrong โครงการฝึกอบรมด้านศิลปะที่มีมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นการรวมตัวคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้ทักษะความรู้พื้นฐานที่แตกต่างกันเช่น นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาศิลปะ นักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือความต้องการที่จะ ‘ส่งเสียง’ ออกมาผ่านงานศิลปะ

 ต่อเนื่องมาจากโครงการ Human ร้าย, Human Wrong ในปีที่ผ่านมา บัว—นันท์ณิชา ศรีวุฒิ รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ คัดเลือกและดูแลผลงานในโครงการที่พัฒนาต่อมาเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ ผลงานทั้งหมดผ่านการปลุกปั้นกันมากว่า 5 เดือน จากผู้เข้าร่วมที่มีอายุตั้งแต่ 20-28 ปี

นันท์ณิชาเล่าว่า การเวิร์กช็อปได้ถูกออกแบบให้ผู้เข้าร่วมสำรวจมิติที่หลากหลายของความเป็นมนุษย์ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่แฝงอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่ระดับหน่วยย่อยทางสังคมไปจนถึงโครงสร้างใหญ่ๆ ที่ควบคุมวิถีชีวิตของคนในทุกระดับชั้น

เราอยากให้ผู้เข้าร่วมในโครงการได้เรียนรู้ชีวิตผู้คนที่มีความหลากหลาย และได้เข้าไปลองสำรวจ เข้าไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจ โดยหวังว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมตั้งคำถามต่อเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนและตนเอง

 เราไม่ได้เน้นงานปลายทางว่ามันจะเป็นงานศิลปะรูปแบบไหน เนื้อหาอะไร แต่เราเน้นกระบวนการที่ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ แล้วสุดท้ายมาดูกันว่าเขาจะอยากจะเล่าหรือส่งเสียงเกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านั้นผ่านงานศิลปะและทักษะที่ตัวเองมีอย่างไรได้บ้าง โดยไม่จำเป็นต้องเอากรอบเรื่องความสวยงามมากีดกั้นความคิด ซึ่งเราคิดว่าก็เป็นข้อดีของการทำงานศิลปะที่เจ้าของผลงานไม่ได้ถือครองอภิสิทธิ์ว่าตนเองต้องเป็นศิลปิน” นันท์ณิชาเน้นย้ำ

ดังนั้นแล้วเวิร์กช็อปครั้งนี้ไม่ได้สอน how to แต่คือการแนะนำกระบวนการมองโลก โดยเอาสิ่งที่ผู้เข้าร่วมถนัดมาสร้างงานศิลปะ เน้นที่ตัวผู้เข้าร่วมด้วยว่าแต่ละคนมีความสนใจในด้านไหน มีพื้นเพมาอย่างไร ผลงานที่ออกมาจึงแตกต่างหลากหลายและน่าสนใจไม่แพ้กัน

หนึ่งในงานที่อยากพูดถึงคือ ‘กล่อง Ready to go’ โดย อรทัย งานไพโรจน์สกุล นักพัฒนาเอกชนที่เคยทำงานด้านเด็กและแรงงานข้ามชาติ เธอเลือกบอกเล่าความไม่ต่อเนื่องในการศึกษาของเด็กข้ามชาติ ด้วยวิถีชีวิตของแรงงานก่อสร้างที่บีบให้ครอบครัวต้องย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง อรทัยนำประเด็นนี้มาขยายต่อผ่านสิ่งของต่างๆ ที่เห็นในไซต์ก่อสร้าง เช่น กล่องที่ใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้ต่างของแรงงานที่เตรียมตัวโยกย้ายตามสถานที่ทำงาน หรือสมุดการบ้านของเด็กที่บทเรียนยังซ้ำอยู่ที่ ป.1 ไปเรื่อยๆ 

กล่อง Ready to go 

“อุตส่าห์เรียนกฎหมายมาตั้ง 5 ปี เพราะเชื่อว่ามันจะช่วยพยุงความเป็นธรรมในสังคมได้ แต่สุดท้ายก็เห็นแต่ช่องโหว่มากมาย” พลอย—กนกพร จันทร์พลอย บอกเล่าถึงความคับแค้นใจของเธอจากการเรียนกฎหมาย ซึ่งเธอได้ถ่ายทอดความคับแค้นใจนี้ออกมาเป็นผลงานที่ชื่อว่า ‘รู of law’ ที่พยายามชวนให้คนดูสำรวจช่องโหว่และความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย 

แสงไฟที่ฉายส่องออกมาจากการฉลุข้อความที่คัดจากตัวบทกฎหมายสาดสะท้อนครอบคลุมไปทั่วห้องมืด แต่กลับอ่านไม่ออก เพราะกลับหัวกลับหาง ซ้อนทับกันไปมา

งาน ‘รู of law’ แสดงคำถามต่อระบบความยุติธรรมที่ผิดเพี้ยน และช่องโหว่ของกฎหมายที่เอื้อให้ผู้มีอำนาจบางกลุ่มใช้พลิกแพลงหาผลประโยชน์ ชวนสะท้อนใจว่าเราควรจะพึ่งพากฎหมายต่อไปกันอย่างไรดี

รู of law

‘1,760,000’ โดย จิตติมา หลักบุญ พยายามตั้งคำถามกับการใช้ภาษีของรัฐบาลว่าที่สุดแล้วประโยชน์ปลายทางจะไปตกอยู่กับใคร โดยใช้สัญลักษณ์ ‘ดอกประจำยาม’ ซึ่งเป็นดอกไม้ไทยในจินตนาการมานำเสนอ แล้วตัดปะภาพเหตุการณ์การเฉลิมฉลองที่เกิดขึ้นในถนนราชประสงค์ลงไปในลายบนดอกไม้นี้ เพราะทุกเหตุการณ์การเฉลิมฉลองบนถนนแห่งนี้มีการประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ตลอดทั้งปี แต่ละครั้งต้องใช้เงินมากมายมหาศาลเพื่อหล่อเลี้ยงการสร้างจินตนาการแฟนตาซีแบบไทยๆ 

1,760,000

งานของ กษิดิ์เดช มณีรัตน์ ใช้ชื่อว่า ‘Let [__] be done though the heavens fall’ โดยเขาอยากจะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทางสังคมทั้งเรื่องราวของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต หลังขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร หรือผู้พิพากษาที่ยิงตัวเอง แต่เสียงเหล่านี้กลับค่อยๆ จางหายไป 

เหล่านี้คือตัวอย่างของผลงานที่เราจะได้เห็นในนิทรรศการ Human Being ซึ่งนันท์ณิชาบอกว่านอกเหนือจากความคิดของผู้เข้าร่วมโครงการที่เธอได้สัมผัสแล้ว เธอรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็กำลังทำสิ่งเดียวกัน นั่นคือความพยายามในการหยิบใช้เครื่องมือทางศิลปะที่หมายถึงการแสดงออกอย่างแยบยล เช่น การทำป้าย ทำสแตนกองเชียร์ การทำละครเวที หรือบทเพลง หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานมาอย่างยาวนานอยู่แล้วอย่างกลุ่มละครลานยิ้ม ที่ได้ขยับเขยื้อนพื้นที่การแสดงละครเข้าสู่กลุ่มคนทั่วไปมากขึ้นอย่าง ในการชุมนุมของนักศึกษาที่ผ่านมา 

และนั่นเป็นทิศทางที่น่ายินดี “เมื่องานมันผ่านกระบวนการทางความคิดที่แยบยลมากขึ้น มากกว่าการพูดตรงๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดการจะปะทะกัน แล้วก็จบไป” เธอทิ้งท้าย

Tags: , , ,