เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ห้อง Samyan Mitrtown Hall 1 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน Equity Forum 2025 ในหัวข้อประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และเปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 โดยมีฝ่ายนโยบาย นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผู้นำท้องถิ่น นักการศึกษา นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาเข้าร่วม ซึ่งงานนี้เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและอุปสรรคที่ขัดขวางโอกาสทางการเรียนรู้ของเด็กไทย

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนในวัยเรียนลดลง แต่ในขณะเดียวกันปัญหาความเหลื่อมล้ำกลับยังคงอยู่และทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาคือปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ของครัวเรือน และโครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้อต่อการศึกษา

ในกลุ่มเด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนต่อ โดยเฉพาะเด็กจากครัวเรือนยากจนพิเศษ ซึ่งมีมากถึง 1.3 ล้านคน ในปี 2567 ครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,133 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 37 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำมากจนแทบไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้

สิ่งที่น่าตกใจคือ เด็กยากจนพิเศษจำนวนมาก 38.77% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับญาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการได้รับการดูแลและสนับสนุนด้านการศึกษา จังหวัดที่มีเด็กยากจนพิเศษมากที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (45.09%), นราธิวาส (39.81%) และนครพนม (39.22%)

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปี 2566 พบว่ามีเด็กและเยาวชน กว่า 1 ล้านคน ที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา และในปี 2567 สามารถพากลับเข้าสู่ระบบได้เพียง 3 แสนคนเท่านั้น จังหวัดที่มีเด็กนอกระบบมากที่สุด ได้แก่ ตาก (32.71%), แม่ฮ่องสอน (23.12%) และสมุทรสาคร (19.84%)

เมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษา โอกาสในการมีงานทำที่มั่นคงย่อมน้อยลงไปด้วย รายงานยังพบว่ามีเด็กนักเรียนยากจน-ยากจนพิเศษจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยในปี 2563 มีเด็กจบชั้น ม.3 จำนวน 165,585 คน แต่ในปี 2564 มีเพียง 80% เท่านั้นที่เรียนต่อ ขณะที่อีก 20% ไม่มีข้อมูลการเรียนต่อ และเมื่อถึงระดับอุดมศึกษาในปี 2567 พบว่า เพียง 13.49% ของเด็กกลุ่มนี้สามารถสอบผ่านระบบ TCAS และเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้

เด็กที่ต้องการศึกษาต่อมักเผชิญกับอุปสรรคทางการเงินอย่างหนัก ค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อจากมัธยมปลายเข้าสู่มหาวิทยาลัยสูงถึง 1.32-2.9 หมื่นบาท ซึ่งเป็นภาระหนักสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ นอกจากนี้ทุนการศึกษาและเงินกู้เพื่อการศึกษายังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง ทำให้หลายครอบครัวต้องเลือกให้ลูกหลานทำงานแทนการเรียนต่อ

อีกปัญหาหนึ่งคือ ระบบการศึกษายังไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับเด็กที่มีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ หลายคนต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีทางเลือก เช่น ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษา ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาสิทธิในการเข้าเรียน หรือแม้แต่ไม่มีเงินสำหรับค่าหอพักและค่าใช้จ่ายเบื้องต้นในการเข้าเรียน

เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ กสศ.ได้เสนอแนวทางสำคัญ ได้แก่

  1. การสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา ให้เด็กเยาวชนตลอด 20 ปี จากปฐมวัยถึงมีงานทำ ผ่านการบูรณาการข้อมูลรายบุคคลระหว่าง 11 หน่วยงาน 

หลักประกันดังกล่าวจะครอบคลุมเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศจำนวน 3 ล้านคน และเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 9 แสนคน (3-22 ปี) เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทุกกระทรวง เพื่อบูรณาการชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาวะ สังคม ครอบครัว แรงงาน การศึกษา ฯลฯ ที่มีอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนได้รับสวัสดิการ การดูแล พัฒนา และส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทันเวลา นอกจากนี้ควรเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ 

  1. ยกระดับบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กเยาวชนทุกคนให้เป็น Learning Passport สำหรับการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย 

ซึ่งรัฐสามารถจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลตรงไปยังเลข 13 หลักของเด็กเยาวชนโดยตรง โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่กับครัวเรือนยากจนและเปราะบาง เพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถเลือกศึกษาต่อและเรียนรู้ผ่านการศึกษาทั้ง 3 ระบบ ผ่านหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งของภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชนได้อย่างยืดหยุ่น และหลากหลายตามความถนัดและศักยภาพของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคล รวมทั้งสามารถถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างการศึกษาทั้ง 3 ระบบเพื่อใช้ในการศึกษาต่อ และการสมัครงานได้ในอนาคตได้

ในขณะที่รายงานเกี่ยวกับมิติด้านคุณภาพทางการศึกษา โดย รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นว่า “ระบบการศึกษาไทยยังมีปัญหาด้านคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กจากครอบครัวยากจน” ซึ่งส่งผลกระทบต่อโอกาสในการเรียนรู้และความสำเร็จในอนาคต

การศึกษาครั้งนี้อ้างอิงจากการประเมิน PBTS (Performance-Based Test System) ปี 2023 ซึ่งเก็บข้อมูลจากนักเรียน ม.3 และ ม.4 จำนวน 5,845 คน ใน 16 จังหวัด 150 โรงเรียน และพบว่า คะแนนของนักเรียนไทยต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ PISA อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์

นักเรียนไทยจำนวนมากยังมีความสามารถทางการคิดคำนวณในระดับต่ำ จากการจัดระดับความสามารถทางคณิตศาสตร์ กว่า 57% ของนักเรียนอยู่ใน Competency Level 1 ซึ่งหมายถึงการทำโจทย์ที่ต้องอาศัยข้อมูลชัดเจนและเคยพบมาก่อน แต่ยังไม่สามารถตีความหรือแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้

ปัจจัยด้านเศรษฐฐานะมีผลโดยตรงต่อผลการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจนพิเศษ ซึ่งมีคะแนน PISA ต่ำกว่านักเรียนทั่วไป และเมื่อนำข้อมูลจากการสอบ O-NET ป.6 มาวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่า เด็กที่ได้รับการศึกษาคุณภาพดีตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษามีแนวโน้มพัฒนาได้ดีขึ้นในระดับมัธยม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากเด็กได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงประถมศึกษา ผลกระทบของเศรษฐฐานะที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นฐาน

โรงเรียนที่เน้น STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) มักมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสูงกว่ากลุ่มโรงเรียนทั่วไป อย่างไรก็ตามเมื่อนำคะแนน O-NET ป.6 มาวิเคราะห์ร่วมกัน ความแตกต่างระหว่างโรงเรียน STEM และโรงเรียนทั่วไปลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความได้เปรียบของนักเรียน STEM อาจมาจากการที่พวกเขามีพื้นฐานการศึกษาที่ดีมาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในห้องเรียน และ Growth Mindset (ความเชื่อว่าสติปัญญาสามารถพัฒนาได้) มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน แต่เมื่อควบคุมตัวแปรด้านพื้นฐานการศึกษาระดับประถม ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลลดลง ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็กคือ ‘คุณภาพการศึกษา’ ในช่วงปฐมวัยและประถมศึกษา

จากข้อมูลทั้งหมด รศ.ดร.วีระชาติได้เสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

  1. ยกระดับคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา 

  2. ให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มที่มีคะแนนระดับ Competency Level 1 ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยจัดการเรียนการสอนที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น PISA

  3. เพิ่มการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการศึกษา ใช้คะแนน O-NET และ PISA เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเรียนรู้ของเด็ก โดยศึกษาว่า การทดสอบแบบใดสามารถทำนายความสำเร็จของเด็กในระยะยาวได้ดีที่สุด

ด้าน จูสตีน ซาส หัวหน้าฝ่ายการศึกษาเพื่อความครอบคลุมและความเท่าเทียมทางเพศ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ณ กรุงปารีส เปิดเผยข้อมูล จากรายงานระดับโลก The Price of Inaction: The global private, fiscal and social costs of children not learning. หรือต้นทุนของการเพิกเฉย (The Price of Inaction): ต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และภาครัฐจากการที่เด็กไม่ได้รับการศึกษา โดยระบุว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายในปี 2030 ต้นทุนทางสังคมจากเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดจะสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 202 ล้านล้านบาท) และต้นทุนทางสังคมจากเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานจะสูงถึง 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 337 ล้านล้านบาท) ซึ่งตัวเลขเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะตัวเลข 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 337 ล้านล้านบาท) ที่มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายปีของฝรั่งเศสและญี่ปุ่นรวมกัน

รายงานนี้ยังยกตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายทางสังคมที่สูงจากการที่ประชากรขาดทักษะที่จำเป็น เช่น ในประเทศทาจิกิสถาน ที่มีค่าใช้จ่ายทางสังคมอยู่ที่ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท) หรือประมาณ 16% ของ GDP ที่คาดการณ์ไว้ และในประเทศเม็กซิโก ค่าใช้จ่ายทางสังคมอยู่ที่ 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) หรือ 20% ของ GDP ที่คาดการณ์ไว้

การลงทุนในการศึกษาจึงถูกเน้นย้ำว่าเป็น ‘กลยุทธ์ที่คุ้มค่าที่สุด’ เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สูงในอนาคต และยังสามารถเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในระดับโลก การให้การศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยลดสัดส่วนของเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนกำหนดและเด็กที่มีทักษะต่ำกว่าพื้นฐานได้ เพียงแค่การลดสัดส่วนเหล่านี้ลงเพียง 10% ก็สามารถเพิ่ม GDP ได้ถึง 1-2% ต่อปี ดังนั้นการให้การศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขาดทักษะพื้นฐาน และสร้างสังคมที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก

สามารถอ่านรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 ได้ทาง https://www.eef.or.th/publication-050225/

Tags: , , , ,