ในอดีตกาล ‘เจ้าป่าแห่งอินเดีย’ หรือ ‘สิงโตสายพันธ์ุเอเชีย’ (Asiatic lion) พบได้แพร่หลายในแถบดินแดนอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย และอินเดีย กระทั่งช่วงปี 1900 เป็นต้นมา สิงโตพันธุ์ดังกล่าวกลับมีจำนวนลดน้อยอย่างมาก สาเหตุหลักเพราะถูกมนุษย์ฆ่าเพื่อนำอวัยวะไปขายในตลาดมืด รวมถึงล่าเป็นกีฬาสนองความบันเทิง

ไม่ใช่แค่เงื้อมมือมนุษย์ใจทมิฬ ขณะเดียวกัน ป่าเขียวขจีที่เป็นบ้านหลังใหญ่ก็แห้งผากเพราะปรากฏการณ์ ‘สภาวะโลกร้อน’ ส่งผลให้จำนวนประชากรสิงโตสายพันธ์ุเอเชียลดลงเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตัวอย่างน่าใจหาย นั่นจึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่รัฐบาลอินเดียต้องประกาศมาตรการฉุกเฉิน เพื่อยกระดับให้สิงโตสายพันธุ์เอเชียมีสถานะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์ุ พร้อมมีกฎหมายคุ้มครองพวกมันอย่างเข้มข้น โดยมีอุทยานแห่งชาติเกอร์ (Gir) ในรัฐคุชราต (Gujarat) เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของเจ้าป่าแห่งอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีข่าวดีในรอบหลายทศวรรษ เมื่อ ‘กรมอุทยานประเทศอินเดีย’ เปิดเผยว่า จำนวนประชากรของสิงโตสายพันธุ์เอเชียนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มากเสียจนกระจายถิ่นฐานไปในหลายรัฐของประเทศอินเดีย และพบเห็นพวกมันได้ไม่ยากนัก แม้จะมีจำนวนอยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

พร้อมกันนี้มีสิ่งที่ทำให้นักนิเวศวิทยาต้องฉงน หลังมีผู้พบร่องรอยของสิงโตสายพันธุ์เอเชียในแถบชายหาดทะเลอินเดีย แทนที่จะอยู่ในป่าลึกตามพฤติกรรมธรรมชาติ

มีนา เวนกาตารามัน (Meena Venkataraman) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเกอร์ ระบุว่า ในปี 2020 มีการนับจำนวนสัตว์ได้มากกว่า 700 ชนิด ในบริเวณรอบอุทยานเกอร์และชายหาดใกล้เคียง แน่นอนว่าในบัญชีรายชื่อสัตว์ 700 ชนิด มีสิงโตสายพันธุ์อินเดียรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ แม้จะมีการบันทึกว่า สิงโตทวีปแอฟริกาในประเทศนามิเบีย ต่างมีพฤติกรรมออกล่าแมวน้ำตามชายหาดเป็นอาหาร แต่เมื่อพวกมันได้ตัวเหยื่ออันโอชะก็จะกลับไปอาศัยในป่าตามเดิม ทว่าการค้นพบสิงโตสายพันธุ์อินเดียในบริเวณชายหาดถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีสัตว์ขนาดใหญ่ หรือสิ่งที่สิงโตสามารถล่าเป็นอาหารได้

ต่อมาในเดือนกลางเดือนพฤษภาคม 2023 นักวิจัยจากกรมป่าไม้ของรัฐคุชราต ได้เผยถึงผลการศึกษาในการติดตามสิงโตเอเชียกว่า 10 ตัวตามชายฝั่ง ในระหว่างปี 2019-2021 ก่อนจะพบว่า สิงโตสายพันธุ์เอเชียในบริเวณชายหาดเริ่มมีพฤติกรรมกินปลาเกยตื้น ขณะเดียวกันก็กินเต่าที่ขึ้นมาพักบริเวณชายหาดในตอนกลางคืน ซึ่งธรรมชาติของนักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารมักไม่แสดงพฤติกรรมเช่นนี้

โมฮาน ราม (Mohan Ram) รองผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติเกอร์ ระบุว่า ปัจจุบันพบจำนวนสิงโตสายพันธุ์เอเชียออกมาอาศัยอยู่ตามชายหาดในแถบรัฐคุชราตเพิ่มขึ้นจาก 20 ตัวเป็น 104 ตัว และชายฝั่งกลายเป็นที่อยู่ที่สำคัญที่สุดไม่แพ้ในป่า

นอกจากนี้ นักวิจัยชาวอินเดียได้เปรียบเทียบลักษณะของสิงโตที่อาศัยในป่ากับสิงโตบริเวณชายหาด โดยพบว่า แม้พวกมันจะมีพฤติกรรมการออกล่าอาหารที่แตกต่างกัน แต่กลับมีลักษณะทางกายภาพและดีเอ็นเอที่มาจากกลุ่มสายพันธุ์เดียวกันมาก่อน

ด้าน เคาซิก บาเนอร์จี (Kausik Banerjee) นักวิจัยด้านสัตว์ป่า กล่าวว่า การค้นพบสิงโตสายพันธุ์เอเชียในบริเวณชายหาดของรัฐคุชราตไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการบ่งบอกถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือ ปริมาณป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติเกอร์บนพื้นที่ 1,880 ตารางกิโลเมตร ที่แห้งแล้งหนักเพราะสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จนในอนาคตอาจไม่สามารถรองรับจำนวนของสิงโตในบริเวณดังกล่าวได้อีก

บาเนอร์จียังกล่าวเสริมว่า ทางอุทยานประกาศแผนการสร้างบ้านหลังที่สองของสิงโตสายพันธุ์เอเชีย โดยจะเริ่มขนย้ายสิงโตในอุทยานแห่งชาติเกอร์บางส่วนไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบาร์ดา (Barda) ที่ห่างจากจุดเดิมราว 100 กิโลเมตร อีกทั้งรัฐบาลอินเดียมีนโยบายในการย้ายสิงโตสายพันธุ์เอเชียบางส่วนไปยังรัฐมัธยประเทศ (Madhya Pradesh)

การย้ายสิงโตอาจจะไม่ใช่เรื่องยากเย็น แต่การอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่าคือปัญหาที่จะตามมา เนื่องจากในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบาร์ดา และรัฐมัธยประเทศ มีอาณาเขตติดใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ ดังนั้น เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นเท่าตัว ด้วยกฎหมายคุ้มครองสัตว์เสี่ยงสูญพันธ์ุ ยกตัวอย่างกรณี หากมีผู้ทำให้สิงโตได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่ากับผิดกฎหมายสถานหนัก ทว่าบทลงโทษที่หนักหน่วงอาจเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ทำให้ความบาดหมางระหว่างกลุ่มนักอนุรักษ์กับคนในพื้นที่ปะทุ

ที่มา

https://www.theguardian.com/environment/2023/may/19/why-are-indias-lions-increasingly-swapping-the-jungle-for-the-beach-aoe

https://themomentum.co/21-asiatic-lions-die-in-3-weeks/

https://www.theguardian.com/environment/2023/mar/15/india-gujarat-state-open-new-lion-sanctuary-numbers-soar

Tags: , , , , , ,