เมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ประกอบด้วยหลายองค์กรพันธมิตร เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค, SDG Move, Fair Finance Thailand, กรีนพีซ ประเทศไทย และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เข้าพบ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือเรื่องปัญหาพลังงานที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าแพงอย่างก้าวกระโดด พร้อมนำ 6,323 รายชื่อจากประชาชน และเสียงสนับสนุนจาก 172 องค์กร ที่ลงนามผ่านแคมเปญ #ค่าไฟต้องแฟร์ บน https://www.energy-justice-thailand.com และนำเสนอนโยบาย 5 ข้อ หนุนรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟเชิงโครงสร้าง มากกว่าใช้เงินอุดหนุนเป็นครั้งคราว

ค่าไฟฟ้าจะลดได้ถึงปีละ 4-8 หมื่นล้านบาท ถ้าปรับโครงสร้างราคาก๊าซ

หนึ่งในข้อเสนอจาก รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่ควรเกิดขึ้นทันที คือการหยุดเซ็นสัญญาแบบ PPA กับโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสัญญานี้จะผูกมัดยาวนานกว่า 20-30 ปี โดยทันทีที่รัฐบาลเซ็นสัญญา สิ่งที่จะตามมาคือความพร้อมจ่ายที่จะถูกผนวกรวมในค่า FT บิลไฟฟ้าของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองมากกว่าค่ามาตรฐาน จนโรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องหยุดเดินเครื่องเพราะไฟฟ้าล้น แต่โรงไฟฟ้าเหล่านี้กลับได้รับเงินจากประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

“สิ่งที่ตามมาจากการเซ็นสัญญา PPA เพิ่ม จะทำให้กำลังผลิตสำรองสูงขึ้นไปอีก กลายเป็นภาระค่าพร้อมจ่ายในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนในครัวเรือน 

“เรามีก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งเป็นก๊าซที่เรามีปริมาณมากและราคาถูกกว่าแหล่งก๊าซอื่น แต่เรานำก๊าซอ่าวไทยไปจัดสรรให้กลุ่มปิโตรเคมีก่อน ส่วนการผลิตไฟฟ้าสำหรับประชาชน เรานำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ซึ่งอิงราคาพูลก๊าซสากล โดยไม่นำก๊าซอ่าวไทยมารวมในต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทำให้ราคาก๊าซที่เรานำมาผลิตไฟฟ้าในครัวเรือนของประชาชนสูงเกินจริง” รศ.ดร.ชาลีกล่าว

อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังกล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้าลงไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ซึ่งแน่นอนว่า ผู้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ.คือประชาชนในประเทศ

“ในอนาคตการนำเข้าก๊าซ LNG หน่วยท้ายๆ อาจทำให้ค่าไฟสูงถึง 8 บาท ดังนั้น เราจึงควรปรับโครงสร้างนำก๊าซในอ่าวไทยคิดเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าก่อน แล้วค่อยให้กลุ่มของปิโตรเคมีใช้ราคาพูลก๊าซเดียวกับที่การไฟฟ้าฯ ต้องใช้ จะทำให้ลดค่าไฟได้ถึงปีละ 4-8 หมื่นล้านบาท”

เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมชวนให้ประชาชนจับตาแผนพลังงานฟอสซิลฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานกำลังจะนำแผนพลังงานชาติ (PDP) ออกสู่สาธารณะ เพื่อขอการประชาพิจารณ์จากประชาชน ซึ่งการจัดทำแผนพลังงานชาติฉบับล่าสุดที่เกิดขึ้นในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดความผิดปกติกับแผนดังกล่าว กล่าวคือไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือกระทั่งเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ดังนั้น ทางเครือข่ายขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เป็นธรรมจึงเน้นย้ำกับพีระพันธุ์ว่า แผนฉบับนี้ประชาชนควรเข้าไปมีส่วนร่วมและปรับปรุง เพราะหากประชาชนไม่มีส่วนร่วม ราคาค่าไฟไม่มีวันแฟร์