วันนี้ (25 มิถุนายน 2566) The Momentum ร่วมกับ SF Cinema จัดกิจกรรม ‘Empower Your Pride’ ฉายภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม พร้อมเสวนาประเด็นความหลากหลายทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย และประเด็นปัญหาความเท่าเทียมทางเพศของคนในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์
กิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องในโอกาสเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเปิดพื้นในการพูดคุยของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ผ่านกิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ในฐานะภาพยนตร์ที่เปิดบทสนทนาถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงถ่ายทอดปัญหาในแง่มุมต่างๆ ผ่านการเสวนาในหัวข้อ ‘Empower Your Pride’ ไม่ว่าจะเป็นอคติทางเพศ การเลือกปฏิบัติ ค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับการทำงาน การผลักดันในเชิงนโยบาย หรือข้อจำกัดทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
เวลา 10.00 น. ผู้ชมเริ่มทยอยมาลงทะเบียนที่หน้าโรงภาพยนตร์ มีการตั้งแบ็กดรอปให้ผู้ชมได้ร่วมกิจกรรมแปะโพสต์อิทแสดงความคิดเห็นในประเด็น ‘ความหลากหลายทางเพศแบบไหนที่คุณอยากเห็นในภาพยนตร์ไทย’ และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ก่อนจะเข้าชมภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยามในเวลา 11.00 น.
หลังจากฉายภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม จบ ในเวลา 13.40 น. The Momentum เริ่มเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘Empower Your Pride’ พูดคุยเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการ ร่วมกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม, จีน-ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา ตัวแทนจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ และครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล
ชูเกียรติเป็นผู้เปิดบทสนทนาถึงกระแสสังคมต่อเรื่อง รักแห่งสยาม เมื่อ 16 ปีก่อนว่า หลังจากภาพยนตร์ฉายออกไป ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ตนเองต้องเผชิญความเห็นด้านลบจนรู้สึกไม่ดีเป็นอย่างมาก แม้ว่าสิ่งที่ทำให้หนังเป็นที่นิยม คือมาริโอ้ เมาเร่อ และพิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล ในฐานะ ‘คู่จิ้น’ คู่แรกๆ ของประเทศ แต่ย้อนกลับมาปัจจุบัน ความคิดเห็นเปลี่ยนไปมาก เพราะหนังประเภท รักแห่งสยาม กลายเป็นจุดขายของไทยในฐานะซีรีส์วายขึ้นมา
ขณะที่ธัญวัจน์เผยความรู้สึกว่า ตนชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการส่วนตัว และรักแห่งสยามได้สะท้อนภาพของความนิยมของซีรีส์วายสมัยนี้ ที่สามารถพิจารณาได้ 2 มิติ คือซีรีส์วายได้รับความนิยม เพราะผู้คนเจริญก้าวหน้าจริงๆ แต่ในมุมสตรีนิยมก็อาจมองได้ว่า การดูซีรีส์วายของผู้หญิง มีสาเหตุจากการถูกกดทับจากสังคมในแง่ของการแสดงออกทางเพศก็เป็นได้
ส่วนธัญวรัตม์แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ รักแห่งสยาม มีความอมตะ คือการสะท้อนความเป็นมนุษย์ปกติของ LGBTQIA+ ผ่านตัวละคร แต่ในอีกมิติหนึ่ง การที่ความหลากหลายทางเพศถูกทำให้เป็นสินค้าก็น่าตั้งคำถามว่า คนในชุมชนนี้มองเห็นตัวเองในภาพแทนที่นำเสนอในซีรีส์วายหรือไม่
นอกจากนั้น ในวงบทสนทนาเรื่องอุตสาหกรรมหนัง LGBTQIA+ ยังประกอบด้วยหลากหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแยกซีรีส์วายออกจากละคร/ภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ ความลื่นไหลทางเพศที่ปรากฏหน้าสื่อ มาตรฐานความสวย (Beauty Standard) ในวงการบันเทิง การแสวงหากำไรในซีรีส์วาย มากกว่าการตระหนักถึงคุณค่าในเนื้องาน รวมถึงประเด็นปัญหาของปัจเจกบุคคลในวงการภาพยนตร์ เช่น การเหมารวมตำแหน่งหน้าที่การงานของคนในกองถ่าย หรือความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงในวงการเพลง
สำหรับวาระการผลักดันวงการภาพยนตร์ไทย ธัญวรัตม์เผยว่า ต้องการผลักดัน 3 ประเด็น ได้แก่ คุณภาพชีวิตแรงงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพในการทำงาน การพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ และการให้เงินสนับสนุนเพื่อให้เกิดคอนเทนต์หลากหลาย ไม่ผูกขาดเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งที่ต้องตาโดนใจนายทุนเพียงอย่างเดียว
ขณะเดียวกัน ธัญวัจน์ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย้ำว่า จะทำให้ประเด็นต่างๆ ในการเสวนาเกิดขึ้นได้จริงด้วยการผลักดันนโยบายการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมด้วยการสร้างสิ่งที่สนุก เข้าถึงสำหรับคนทั่วโลก กฎหมายความเท่าเทียมอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนในสังคม
ในช่วงท้ายของการเสวนา มีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าชมภาพยนตร์แสดงความเห็น โดยคุณหมีพูห์ จากกลุ่ม Miss & Mister Surgery Thailand ตั้งคำถามว่า ควรทำอย่างไรให้กลุ่มทรานส์มีโอกาสแสดงบทบาทของตนเองในภาพยนตร์ เพราะบทประพันธ์เดิมๆ มักนำผู้หญิงมาเล่น และสร้างจุดจบถึงความผิดหวังหรือความตายตลอด ซึ่งชูเกียรติก็ฝากเป็นภารกิจสำหรับผู้ผลิตรุ่นใหม่ในการสร้างบทบาทของกลุ่มทรานส์ในจอแก้วที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากบทละครเหล่านี้ล้าสมัย และไม่ตอบโจทย์กับปัจจุบัน
ปิดท้ายด้วยอาจารย์ไชโย นิธิอุบัติ ผู้ร่วมกิจกรรม แสดงความรู้สึกว่า ดีใจที่ได้ดูภาพยนตร์รักแห่งสยามในวัย 58 ปี เพราะหากเทียบกับการชมเมื่อ 10 ปีก่อน ตนมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษกับเนื้อหาในบางเรื่องจนทำให้ร้องไห้ตามตัวละครในบางฉาก และอยากให้วงการภาพยนตร์ไทยสร้างคอนเทนต์แนว รักแห่งสยาม มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างตัวละคร LGBTQIA+ ในฐานะคนธรรมดา มีผิดและถูก ไม่ตีตราบทบาทหรืออัตลักษณ์ทางเพศไปในทางใดทางหนึ่ง
นอกเหนือจากการผลักดันประเด็นสมรสเท่าเทียมในนามนโยบายแห่งรัฐและกฎหมายแล้ว อาจารย์ไชโยยังฝากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันทำให้สังคมตระหนักการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQIA+ มากขึ้น โดยเฉพาะการยอมรับจากสถาบันครอบครัว เนื่องจากผู้คนบางส่วนยังไม่ยอมรับอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ และกีดกันพวกเขาออกจากสังคม แม้ว่าสังคมมีพลวัตต่อประเด็นนี้ก็ตาม
ก่อนที่เวลา 15.00 น. สุภชาติ เล็บนาค บรรณาธิการบริหาร The Momentum ขึ้นเวทีมอบของที่ระลึกให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และจบกิจกรรมครั้งนี้