เมื่อวานนี้ (9 กันยายน 2024) 3 ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ได้แก่ วานูอาตู (Vanuatu) ฟิจิ (Fiji) และซามัว (Samoa) ยื่นร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยขอให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อม (Ecocide) เป็นส่วนหนึ่งในความผิดทางอาญาระหว่างประเทศ เทียบเท่ากับความผิดอาชญากรรมสงคราม (War Crimes) อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)

นอกจากนี้ยังขอให้ศาลยอมรับความหมายของการทำลายล้างสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิยามความผิดว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายและทารุณ โดยรู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมระยะยาว และหากการพิจารณาข้างต้นได้รับการยอมรับจาก ICC จะทำให้สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นประมุขแห่งรัฐหรือเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่

เบื้องต้นสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) เปิดเผยว่า กระบวนการหารือจะเกิดขึ้นในภายหลัง และอาจต้องใช้เวลานานนับ 10 ปีสำหรับการกลั่นกรอง รวมถึง ‘ต่อสู้’ กับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับฐานความผิดดังกล่าว โดยคาดว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกจะลุกขึ้นต่อต้านโดยตรง แต่อาจมีการเคลื่อนไหวจากบริษัทนายทุนยักษ์ใหญ่แทน

ฟิลิปป์ แซนด์ส (Philippe Sands) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) และประธานร่วมของคณะกรรมการในการให้คำจำกัดความทางกฎหมายของคำว่า Ecocide เชื่อว่า ฐานความผิดดังกล่าวจะผ่านการอนุมัติจาก ICC แน่นอน แต่คำถามสำคัญคือ เมื่อไรที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

“ผมค่อนข้างเคลือบแคลงใจในตอนแรก แต่ตอนนี้ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ และบางประเทศจะต้องนำไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายใน ผมคิดว่า นี่เป็นความคิดที่ถูกในเวลาที่ถูกต้อง” แซนด์สย้ำก่อนเสริมว่า ICC ต้องเปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากเหง้าคือ ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ที่เป็นดังแม่แผนทางกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ

ขณะที่ โจโจ เมห์ตา (Jojo Mehta) ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Stop Ecocide International ให้ความเห็นว่า การยื่นเรื่อง 3 ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการผลักดันให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับในฐานะความผิด ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มของเขาเคยรณรงค์ตั้งแต่ปี 2017 ขณะที่วานูอาตูเคยเรียกร้องต่อ ICC ในปี 2019

ในอดีตที่ผ่านมา เบลเยียมเป็นชาติแรกในโลก ที่ยอมรับให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยมีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิดมากกว่า 20 ปี และบริษัทจะต้องถูกปรับถึง 1.6 ล้านยูโร (ประมาณ 54 ล้านบาท) ขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่นเม็กซิโกกำลังอยู่ในการพิจารณาร่างกฎหมาย

แม้ศาลอาญาระหว่างประเทศก่อตั้งเพื่อดำเนินคดี กับความผิดร้ายแรงทางอาญาในโลกระหว่างประเทศ ทว่าช่องโหว่ทางกฎหมายยังมากมาย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้บรรลุผล เช่น การออกหมายจับ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ผู้นำอิสราเอล และวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซีย ในฐานอาชญากรรมสงคราม ที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ในความเป็นจริง 

นอกจากนี้ ความท้าทายในด้านสิ่งแวดล้อมคือ ประเทศยักษ์ใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสหรัฐฯ จีน อินเดีย และรัสเซีย ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคีอีกด้วย

ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก-โอเชียเนีย ถือเป็นกลุ่มที่กำลังเผชิญกับภัยจากภาวะโลกรวนเป็นชาติอันดับต้นของโลก โดยก่อนหน้านี้ ในการประชุม COP26 ไซมอน โคฟี (Simon Kofe) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตูวาลู (Tuvalu) เคยแสดงสัญญะด้วยการพูดสุนทรพจน์กลางทะเลที่ในอดีตเคยเป็นแผ่นดินมาก่อน ซึ่งเป็นผลจากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะโลกรวน

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/law/article/2024/sep/09/pacific-islands-ecocide-crime-icc-proposal

https://www.stopecocide.earth/2024/belgium-becomes-first-european-country-to-recognise-ecocide-as-international-level-crime

https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/08/tuvalu-minister-to-address-cop26-knee-deep-in-seawater-to-highlight-climate-crisis

Tags: , , , , , , , , , , , ,