หลังจากการเยือนเกาะไต้หวันของ แนนซี เพโลซี (Nancy Peloci) ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งความคิดเห็นที่หลากหลายของทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างให้ความเห็นว่าการไปเยือนดังกล่าวอาจสร้างความตึงเครียดและอาจซ้ำเติมวิกฤตที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน บ้างก็ให้ความเห็นว่าการแสดงออกของประธานสภาฯ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ตอกย้ำความเป็นอธิปไตยให้เกาะไต้หวัน

เดเนียล เดเพทริส (Daniel Depetris) คอลัมนิสต์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ​ แสดงความคิดเห็นในบทความ ‘There are no benefits to a Pelosi visit to Taiwan’ ของนิตยสารไทม์ (Time) ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2022 ใจความส่วนหนึ่งว่า ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ทำให้ประธานสภาฯ ไปเยือนเกาะไต้หวันในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางให้ตัวเขาเองได้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในวาระที่ 3 และเหตุผลนั้นก็คือเพโลซีเพียงต้องการแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่าเธอยืนอยู่ข้างไต้หวันเท่านั้น

“อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางไปไต้หวันของเพโลซีจะไม่มีสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องจ่าย การไปเยือนครั้งนี้จะสร้างความปั่นป่วนทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งว่ากันว่าเป็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก”

ด้านสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2022 เผยแพร่บทวิเคราะห์ชื่อ ‘Nancy Pelosi’s visit to Taiwan risks upsetting Beijing to no advantage’ โดยอ้างคำพูดของ โรเบิร์ต เดลี (Robert Daly) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ในวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ใจความส่วนหนึ่งว่า การไปเยือนเกาะไต้หวันของเธอดูเหมือนจะไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังไม่ได้ส่งเสริมผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน หรือเพิ่มความมั่นคงให้กับประชาชนไต้หวันได้เลย

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนยังอ้างคำกล่าวของนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า แม้ว่าการเยือนของเพโลซีจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางทหารเต็มรูปแบบในทันที แต่การเดินทางครั้งนี้ยังจะถูกนำไปใช้เป็นวาทกรรมในทำนองว่า สหรัฐฯ ช่วย ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันแสวงหาเอกราชจากจีน

มิเชล ชูแมน (Michael Schuman) นักเขียนของสำนักข่าวดิแอตแลนติก (The Atlantic) แสดงความคิดเห็นผ่านบทความ ‘The Gamble of Nancy Pelosi’s Visit to Taiwan’ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2022 ใจความส่วนหนึ่งว่า ไต้หวันอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ สำหรับสหรัฐอเมริกา ไต้หวันไม่ได้เป็นเพียงเพื่อนเก่าแก่เท่านั้น แต่ยังเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นตัวเชื่อมเครือข่ายประชาธิปไตยที่สนับสนุนอำนาจของอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะเดียวกัน สำหรับจีน ไต้หวันเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการก้าวขึ้นสู่สถานะมหาอำนาจของโลก

มิเชลให้ความเห็นต่อด้วยว่า ขณะที่ไต้หวันยืนหยัดในจุดยืนของตัวเองอย่างมั่นคง รัฐบาลปักกิ่งต่างก็กำลังหมดหวังมากขึ้น ระดับของแรงกดดันจากรัฐบาลกลางของจีนอาจเพิ่มขึ้น และในมุมมองที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่ามีเพียงสงครามเท่านั้นที่จะควบคุมเกาะไต้หวันได้

“การมาเยือนของเพโลซีนับว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันบนเกาะไต้หวัน จากความเป็นไปได้ที่น้อยมากไปสู่ความเป็นไปได้ในระดับที่น่ากังวล”

ด้านบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์ (Taipei Times) ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม 2022 แสดงความคิดเห็นโดยมีใจความส่วนหนึ่งว่า “ไต้หวันขอต้อนรับเพโลซี เพื่อนแท้ของไต้หวันและเพื่อนของชาวจีนผู้ถูกกดขี่ และสหายร่วมรบในการต่อสู้กับเผด็จการและการแสวงหาเสรีภาพ”

ที่มา

https://time.com/6202737/pelosi-taiwan-visit-us-china-relations/

https://www.theguardian.com/us-news/2022/aug/01/nancy-pelosis-visit-to-taiwan-risks-upsetting-beijing-to-no-advantage

https://www.theatlantic.com/international/archive/2022/08/nancy-pelosi-china-taiwan-visit/671031/

https://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2022/08/03/2003782871

Tags: , ,