ย้อนกลับไปในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาร่างงบประมาณกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2568 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอ ‘แผนงานอาคารและการก่อสร้าง ผลผลิตควบคุมอาคารและการก่อสร้าง งบรายจ่ายอื่น ค่าจ้างที่ปรึกษาประเมินกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวอาคารสูงในสังกัดกรุงเทพมหานคร’ มูลค่าโครงการ 9 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) อนุมัติงบประมาณ
ภายในโครงการจะมีการติดตั้งชุดเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดรายงานประเมินกำลังต้านทางแรงแผ่นดินไหวของอาคารสูงในสังกัด กทม. ตามกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทางแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2565 ขณะเดียวกัน ยังให้มีการจัดทำรายงานการตรวจวัดระดับการสั่นสะเทือนของพื้นอาคารสูงในสังกัด กทม. ในรูปแบบของความเร่งและแสดงค่าระดับความเร่งของพื้นแต่ละทิศทาง รวมถึงระบบแสดงค่าความสูงสุดของพื้นที่ในแต่ละช่วงเวลา ในรูปแบบของระบบออนไลน์ โดยสามารถแจ้งเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทันที
สำหรับสถานที่ดำเนินการ ได้แก่ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง, อาคาร 72 พรรษา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, อาคารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลตากสิน, อาคารธนบุรีศรีมหาสมุทร โรงพยาบาลตากสิน, อาคารเพชรรัตน์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และอาคารคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
สำหรับผลการพิจารณา กรรมการวิสามัญมีมติเห็นชอบให้ตัดงบประมาณดังกล่าวออกทั้งรายการ อย่างไรก็ตาม ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน และเอกกวิน โชคประสพรวย สก.เขตราชเทวี พรรคประชาชน สงวนความเห็น เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นและมีประโยชน์ระยะยาว โดยเห็นว่าอาคารสูงของ กทม.มีความเสี่ยง
ด้าน กนกนุช กลิ่นสังข์ สก.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญร่างงบประมาณกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2568 ได้กล่าวถึงโครงการดังกล่าวในที่ประชุมสภาฯ กทม. โดยระบุว่ากรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับออกทั้งรายการ เพราะความเหมาะสมของโครงการและสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหว ถ้าเทียบกับจังหวัดในภาคเหนือหรือภาคอื่นๆ เช่น เชียงราย หรือกาญจนบุรี ที่อยู่ใกล้กับรอยเลื่อนแผ่นดินไหวสำคัญ
ขณะเดียวกัน การลงทุนในโครงการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็น เทียบเท่ากับการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เช่น ปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาชิ้นใหญ่
“ความคุ้มค่าของโครงการ มูลค่า 9 ล้านบาท สำหรับการประเมินอาคารสูงเป็นการใช้จ่ายงบฯ ที่ไม่สมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับการใช้งบประมาณในโครงการอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำหรือการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ทรัพยากรมีจำกัด” กนกนุชระบุตอนหนึ่ง
นอกจากนี้ ในแง่ความชัดเจนของการดำเนินโครงการ ทั้งในแง่วัตถุประสงค์ ผลการดำเนินการ และผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะได้จากการจ้างที่ปรึกษาการดำเนินโครงการ ก็ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าผลลัพธ์จากการประเมินนี้ จะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงหรือป้องกันในรูปแบบใด และสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างไร
สำหรับรายละเอียดโครงการ สามารถอ่านได้ทาง
https://pr-bangkok.com/?p=300359
และชม Live การประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณางบประมาณ 2568 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ได้ทาง
https://www.youtube.com/live/xq_j6E1o19E?si=xEyELuZl53xk0_Om&t=14921 โดยวาระดังกล่าวเริ่มต้นที่ 4:08:43