เมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม 2023) รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งในประเทศ ส่งคืน ‘โบราณวัตถุ’ นับ 100 รายการ ที่ขโมยมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ให้แก่อินโดนีเซียและศรีลังกา
วัตถุโบราณของอินโดนีเซียประกอบด้วย รูปปั้นหิน 4 ชิ้น ที่สร้างขึ้นโดยชาวชวาในอาณาจักรสิงหะส่าหรี กริชจากอาณาจักรกลุงกุง (Klungkung) ปิตามหา (Pita Maha) งานศิลปะยุคโมเดิร์นนับ 132 ชิ้นจากบาหลี รวมถึงของสำคัญอย่าง หินอัญมณี ‘สมบัติแห่งลอมบอก’ (Lombok Treasure) จากอินโดนีเซีย
ขณะที่สมบัติล้ำค่าของศรีลังกา ได้แก่ ดาบพิธีการทองคำและเงิน มีดสิงหล ปืนใหญ่ 2 กระบอก และ ‘ปืนใหญ่แห่งแคนดี’ (Kandy) ซึ่งหล่อด้วยทองสำริด
บีบีซี (BBC) เผยเบื้องหลังทั้งหมดนี้ว่า เกิดจากการเรียกร้องของประเทศอดีตอาณานิคม จึงทำให้รัฐบาลดัตช์วางแผนส่งคืนวัตถุโบราณ 484 ชิ้น ตั้งแต่ปี 2020 ตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา
อันที่จริง การส่งคืนวัตถุโบราณเป็นกระแสทางการเมืองที่เห็นมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศในปี 2017 ว่า การคืนวัตถุโบราณให้กลุ่มชาติแอฟริกาเป็นงานสำคัญสำหรับชาติยุโรป รวมถึงมีกระแสเรียกร้องจากประเทศผู้เป็นเจ้าของ
อดีตประเทศเจ้าอาณานิคมจำนวนหนึ่งจึงต้องทยอยคืนวัตถุล้ำค่า นับตั้งแต่บริทิชมิวเซียม (British Museum) ในสหราชอาณาจักร และทางการเยอรมนี คืนทองสำริดเบนิน (Benin Bronzes) ให้ไนจีเรีย หลังขโมยไปในปี 1897 หรือฝรั่งเศสคืนวัตถุโบราณ 26 ชิ้น ให้กับประเทศเบนิน (Benin) ในทวีปแอฟริกา
แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะหลายส่วนยังยืนกรานว่าจะไม่คืนวัตถุโบราณบางชิ้น เช่น ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประกาศในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไม่มีแผนคืน ‘หินอ่อนแห่งพาร์เธนอน’ (Parthenon Marble) ให้กับกรีซ
“นี่เป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ครั้งแรกที่เราคืนวัตถุที่ไม่ควรอยู่ในเนเธอร์แลนด์
“แต่พวกเราไม่ได้แค่ส่งคืนวัตถุ เรากำลังริเริ่มยุคแห่งการร่วมมืออย่างเข้มข้นกับอินโดนีเซียและศรีลังกาอีกด้วย
“เนเธอร์แลนด์ต้องรับผิดชอบต่ออดีตอาณานิคม ด้วยการตระหนักและเน้นย้ำถึงความไม่เท่าเทียม ซึ่งนี่คือเป็นกุญแจสำคัญในนโยบายการคืนวัตถุสะสมในยุคอาณานิคม” กูเนย์ อุสลู (Gunay Uslu) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและดิจิทัล และนักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์ แถลงการณ์และเน้นย้ำว่า รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตั้งใจคืนวัตถุโบราณ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ แลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ทางการเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธการคืน ‘โครงกระดูกมนุษย์ชวา’ ฟอสซิลที่มีความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของสิ่งมีชีวิตประเภทวงศ์ลิงใหญ่ (Hominid) บรรพบุรุษรุ่นแรกของมนุษย์ ซึ่ง เออแฌน ดูบัวส์ (Eugène Dubois) นักบรรพชีวินวิทยาชาวดัตช์ ขุดค้นโครงกระดูกดังกล่าวได้ในอินโดนีเซียเมื่อปี 1891-1892
ขณะที่อินโดนีเซียให้เหตุผลประกอบการขอคืนวัตถุว่า เนเธอร์แลนด์ค้นพบฟอสซิลนี้จากการล่าอาณานิคม นักมานุษยวิทยาชาวดัตช์บังคับใช้แรงงานกับผู้คนท้องถิ่นในกระบวนการขุดค้น จนทำให้บางคนเสียชีวิต
แต่เนเธอร์แลนด์ปฏิเสธและอ้างว่า โครงกระดูกมนุษย์เป็นสิ่งของก่อนประวัติศาสตร์ จึงไม่สามารถนับเป็นมรดกแห่งชาติของอินโดนีเซียได้ และเป็นเพราะดัตช์ (ในนามดูบัวส์) โครงกระดูกมนุษย์ชวาจึงถูกค้นพบ
โฆษกของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เปิดเผยกับเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งคืนมนุษย์ชวา แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่กระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานกว่าวัตถุอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เกิร์ต ฟาน เดน เบิร์ก (Gert-Van den Bergh) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านศิลปะ ให้ความเห็นว่า นี่จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของเนเธอร์แลนด์ หลังประเทศมีวัตถุโบราณที่ขโมยมาในช่วงอาณานิคมราว 3 แสนชิ้น รวมถึงเป็นการกดดันรัฐบาลอังกฤษ หลังมีท่าทีนิ่งเฉยต่อการเรียกร้องของประเทศเจ้าของวัตถุโบราณ
“สหราชอาณาจักรมีหลายอย่างต้องทำ เพื่อบูรณะโบราณวัตถุในยุคอาณานิคม
“กฎหมายที่กีดกันในประเทศนั้น (British Museum Act of 1963 หรือกฎหมายที่ห้ามส่งกลับวัตถุโบราณในบริทิชมิวเซียม) ทำให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรเป็นเพียงเสือไร้เขี้ยว
“ผมเชื่อว่าพวกเขาไม่อยากทำอะไรมากไปกว่านี้ เพราะมันมีผลที่ตามมาหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการคืนหินอ่อนแห่งพาร์เธนอน” เขาอธิบายกับเดอะการ์เดียน
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-europe-66125072
https://hyperallergic.com/414996/emmanuel-macron-restitution-african-art/
https://www.matichon.co.th/foreign/news_1241865
Tags: ศรีลังกา, อินโดนีเซีย, British Museum, สหราชาอาณาจักร, วัตถุโบราณ, การส่งคืนวัตถุโบราณ, มนุษย์ชวา, เยอรมนี, สมบัติแห่งลอมบอก, ยุโรป, บริทิชมิวเซียม, เนเธอร์แลนด์, ดัตช์, อังกฤษ