วันนี้ (20 สิงหาคม 2024) แพทย์ฝึกหัดในอินเดียนับพันออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความปลอดภัยในการทำงาน หลังเกิดคดีข่มขืนแพทย์ในเมืองโกลกาตา (Kokalta) ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จนเสียชีวิต ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงภาวะความรุนแรงทางเพศในหมู่ผู้หญิงชาวอินเดีย จากช่องโหว่ของการบังคับใช้กฎหมาย

วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา พบแพทย์หญิงวัย 31 ปีเสียชีวิต ที่โรงพยาบาล RG Kar Medical College ในเมืองโกลกาตา รัฐเบงกอล (Bengal) โดยเนื้อตัวภายนอกเต็มไปด้วยบาดแผลกว่า 16 แผล ภายในอีก 9 แผล และยังปรากฏรอยรัดรอบลำคอ ทำให้แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า เธอพยายามปลิดชีพตนเอง 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการชันสูตรพบว่า เธอเสียชีวิตจากการฆาตกรรม พร้อมกับมีร่องรอยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยคือ ซานจอย รอย (Sanjoy Roy) อาสาสมัครพลเรือนที่เข้าออกโรงพยาบาลได้ทุกซอกทุกมุมอย่างไร้ข้อสงสัย หลังพบหลักฐานบางอย่างพุ่งเป้าไปที่เขา

นั่นจึงนำมาสู่การประท้วงลุกฮือทั่วประเทศ โดยเริ่มจากกลุ่มเฟมินิสต์ Reclaim the Night ในเมืองโกลกาตา เรียกร้องให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับผิดชอบด้วยการลาออก ขณะที่สหพันธ์แพทย์ประจำบ้านอินเดีย (Federation of Resident Doctors Association: FORDA) เป็นผู้นำการประท้วง เรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศระงับการรักษาเป็นการชั่วคราว

นอกจากการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อ หนึ่งในเงื่อนไขการประท้วงครั้งนี้คือ ความปลอดภัยในการทำงานภายใต้ Central Protection Act กฎหมายซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองแพทย์จากความรุนแรงในการทำงาน ทว่ายังไม่มีการบังคับใช้ หลังมีการเสนอในสภาล่างตั้งแต่ปี 2022

“การหยุดประท้วงทำงานของเรา จะดำเนินต่อไปจนกว่าความต้องการของเราจะได้รับการตอบสนอง” อนิเกต มหาตา (Aniket Mahata) โฆษกในการประท้วงของแพทย์ฝึกหัด ระบุ ขณะเดียวกันยังมีรายงานจากรอยเตอร์ (Reuters) ว่า กลุ่มตัวแทนแพทย์จบใหม่ในรัฐโอริสสา (Odisha) และรัฐคุชราต (Gujarat) ออกมาเดินหน้าประท้วงร่วมกัน

นอกจากนี้ การประท้วงยังลุกลามไปในสาขาอาชีพอื่น หลังกลุ่มแฟนบอล 2 สโมสรยักษ์ใหญ่ในรัฐเบงกอลตะวันตก ได้แก่ โมฮัน บากัน (Mohun Bagan) และอีสต์ เบงกอล (East Bengal) ออกมาประท้วงเพื่อสนับสนุนกลุ่มแพทย์ตามท้องถนน พร้อมส่งเสียงตะโกนว่า “เราต้องการความยุติธรรม”

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวสิทธิสตรีออกโรงวิจารณ์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในอินเดีย สะท้อนสถิติในปี 2018 ที่เผยว่า เกิดคดีข่มขืนผู้หญิง 1 คนในทุก 15 นาที 

ปัจจุบัน แม้บทลงโทษคดีข่มขืนในอินเดียโทษหนักคือ จำคุกขั้นต่ำ 10 ปีถึงตลอดชีวิต และโทษประหารชีวิต หากเหยื่ออายุต่ำกว่า 12 ปี ทว่าปัญหาการบังคับใช้กฎหมายต้องอาศัยการตีความ ทำให้บางครั้งศาลมักใช้ขั้นตอนเร่งด่วน (Fast-Track) หรือให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นพิจารณาคดีความในฐานะผู้ใหญ่ แทนที่จะเป็นผู้เยาว์ตามอายุ

“สาเหตุหนึ่งของคดีข่มขืนคือ ผู้ต้องหาไร้ความกลัวต่อกฎหมาย” รีเบกกา เอ็ม. จอห์น (Rebecca M. John) ทนายความผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา โดยเฉพาะคดีข่มขืน ขยายความผ่านรอยเตอร์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้กระทำความผิดเชื่อว่า ตนจะสามารถรอดพ้นจากความผิดได้ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายไร้ความแน่นอน

อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/india/indias-struggles-with-high-rape-cases-low-conviction-rates-2024-08-15/

https://www.reuters.com/world/india/indian-medics-refuse-end-protests-over-doctors-rape-murder-2024-08-19/

https://www.aljazeera.com/news/2024/8/14/what-happened-in-the-kolkata-rape-case-that-triggered-doctors-protests

Tags: , , , , , ,