ปมประเด็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (ONE MAP) เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินทั้งประเทศอย่างมีเอกภาพ จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ทำให้เกิดข้อกังวลจากหลายฝ่ายต่อการเปลี่ยนสภาพที่ดิน จากพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติเป็นที่ดินของ ส.ป.ก.เพื่อเป็นที่ดินทำกินให้เกษตรกร
ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาจากกรณีอุทยานทับลานที่พื้นที่กว่า 2.65 แสนไร่ จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นที่ดินของ ส.ป.ก.ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมไปถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ต่างออกมาเพื่อพิทักษ์ผืนป่าเหล่านั้น โดยระบุว่า การเพิกถอนพื้นที่อุทยานไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ถูกต้อง
ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาค้านและให้เหตุผลว่า ทางกรมอุทยานฯ มีแนวทางการแก้ไขปัญหาไว้แล้ว ดังนี้
1. กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี และอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 5.85 หมื่นไร่ ให้ทางอุทยานฯ เสนอเพิกถอนพื้นที่ ให้ ส.ป.ก.มีอำนาจหน้าที่ตามเขตปฏิรูปที่ดินดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่มีมติให้สำรวจรังวัดแปลงที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนที่มีประชาชนเข้าไปบุกรุกทำกิน และให้อุทยานฯ ร่วมกับ ส.ป.ก.ตรวจสอบและจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไข
2. กลุ่มที่ 2 จัดสรรพื้นที่ที่ดินทำกิน ตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) ที่อำเภอสิงสาง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 5.91 หมื่นไร่ พร้อมสนับสนุนสาธารณูปโภค เพื่อดำรงชีพตามสมควร ส่วนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอให้ดำเนินการตาม มาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
3. กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1.52 แสนไร่ กลุ่มนายทุนที่เข้ามาครอบครองเพื่อสร้างรีสอร์ต ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ครอบครองก่อน
“ถ้าแก้ไขทับลานด้วยการเฉือนออกไปให้ ส.ป.ก.ดูแล ท่าทีของกรมอุทยานฯ มองว่า มันไม่ใช่แนวทางแก้ที่จบลงตัว แค่เป็นเนื้อร้าย ถ้าเฉือนตรงนี้ออกไปจะลามไปทุกป่า ซึ่งไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาได้พยายามเสนอ 2 มุมว่าประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับ และป่าที่หายไปตรงข้ามกัน 2 ด้านต้องมามองใหม่ว่าการตัด 2.6 แสนไร่เพื่อแก้ปัญหาชุมชนตรงนี้” ชัยวัฒน์ระบุ
ขณะที่มูลนิธีสืบนาคะเสถียรออกมาชี้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากปล่อยให้พื้นที่ป่าทับลานถูกเพิกถอนออกไปว่า จะเป็นการกระทบต่อรูปคดีที่กลุ่มทุนและเอกชนบุกรุกเข้าใช้พื้นที่ป่ากว่า 470 คดี อีกทั้งยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนที่จะเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนมือ เพื่อสร้างโรงแรมและบ้านพักมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายงานจากของฐานเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ระบุไว้ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่มีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน รายงานผลการตรวจสอบที่ดินและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ว่า มีการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดวัตถุประสงค์จริงในหลายกรณี และดำเนินการตามกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกังวลว่า จะเปิดโอกาสให้มีการเข้ามาใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น จนส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลันในพื้นที่ราบตอนล่าง และเป็นการลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกด้วย
โดย ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมากล่าวถึงความกังวล โดยเกรงว่า หากพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 2.65 แสนไร่ถูกเพิกถอนจริง จะกลายเป็น ‘โมเดล’ ที่ทำให้อุทยานแห่งชาติอื่นๆ ในประเทศต้องเสียพื้นที่ป่าไปมหาศาล
ขณะเดียวกัน เสียงจากประชาชนในพื้นที่ก็มีทิศทางเห็นด้วยกับการ ‘เปลี่ยนสภาพที่ดิน’ โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนส่วนใหญ่ได้ออกมาให้เหตุผลเห็นด้วยในการเปลี่ยนสภาพที่ดิน เพราะพวกเขาจะได้ประโยชน์ในการประกอบกิจกรรมทางการเกษตร
หนึ่งในนั้นคือ อุดม คูณขุนทด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยในฐานะเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบว่า “ตามแผนที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 นั้นทับซ้อนกับที่ดินของคนในชุมชน จึงทำให้พวกเขาได้รับความเดือดร้อน ทำมาหากินลำบาก ไม่ว่าจะทำการเกษตรหรือปลูกสร้างอะไรก็ยาก เพราะต้องยึดตามข้อปฏิบัติของอุทยานฯ”
อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนที่กรมอุทยานฯ เปิดฟังเสียงจากประชาชน ว่าเห็นด้วยหรือไม่โดยมีชุดคำถามทั้งหมด 7 ข้อ ได้แก่
1. ท่านเห็นชอบการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (ONE MAP) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร
2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร
3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิมและจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของนายทุน
4. การใช้แนวเขตเมื่อปี 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่
5. จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่า ขาดแคลนที่ดินทำกินและมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
6. เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร
7. จะส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่
อ้างอิง
– https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/591838
– https://www.thaipbs.or.th/news/content/341736
– https://www.nationtv.tv/news/region/378945607
Tags: สิ่งแวดล้อม, อุทยานแห่งชาติ, Saveทับลาน, พื้นที่ป่า, ทับลาน