วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567) วีระ ธีรภัทรานนท์ สื่อมวลชน ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต สัดส่วนของพรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวาระที่ 2 ว่า การจัดทำงบประมาณเช่นนี้ เป็นการจัดทำงบประมาณแบบรวมห่อ ไม่ตรงไปตรงมา โดยมัดรวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติมฉบับนี้ และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 กระทรวงการคลังก็ยังไม่ส่งรายละเอียดมาให้ แม้ในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ระบุว่า กระทรวงการคลังจะส่งให้ภายใน 2 สัปดาห์ก็ตาม แต่ตอนนี้ผ่านมากว่า 5 สัปดาห์แล้ว จึงเข้าใจว่าคงมีปัญหา สรุปได้ว่า ค่อนข้างจะฉุกละหุกชุลมุนสมกับที่รัฐบาลบอกว่า มีความจำเป็น ฉุกเฉิน เร่งด่วน
วีระยังระบุด้วยว่า หากพิจารณาจากก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าใช้เงินประคับประคองเศรษฐกิจช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปกว่า 10% ของจีดีพี ช่วงเวลานี้ควรเป็นช่วงเวลาถอนคันเร่งในการอัดเงินเข้าไประบบเศรษฐกิจ เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลควรปรับลด ไม่ใช่กู้เงินเพิ่ม ไม่ให้มีการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง พอกพูนจากเดิมที่เคยมีอยู่ จนทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้
ขณะเดียวกัน ถ้าพิจารณาแผนประมาณการจะพบว่า อัตราส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับจีดีพีก็ไม่ได้ลดลง ขณะนี้อยู่ราวร้อยละ 68-69 ใกล้เคียงกับเพดานที่คณะกรรมการนโยบายการเงินแห่งชาติกำหนดไว้ที่ร้อยละ 70 ฉะนั้น การทำนโยบายการคลังผ่านการทำนโยบายขาดดุลเรื้อรัง และพอกพูนหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ ถือเป็นเรื่องอันตราย
ขณะเดียวกัน วีระยังตั้งข้อสังเกตในประเด็นเศรษฐกิจว่า หากย้อนกลับไปมองวิกฤตเศรษฐกิจที่มีการลดค่าเงินบาทในปี 2527-2529 และวิกฤตลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540-2542 ล้วนเป็นเรื่องหนี้ต่างประเทศภาครัฐ และหนี้ต่างประเทศภาคเอกชน แต่รอบนี้รากเหง้าปัญหาคือ เรื่องหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน ซึ่งเชื่อมกับการเงินการคลังภาครัฐโดยตรง ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดการปัญหานี้มาก่อน จึงอยากให้ศึกษาบทเรียนในต่างประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตในกรีซ
ขณะเดียวกัน อีกประเด็นคือมีตัวชี้วัดที่เป็นอันตรายคือ อัตราส่วนระหว่างรายจ่ายดอกเบี้ย เทียบกับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในแต่ละปี โดยถ้าดูคร่าวๆ จะเห็นว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มีรายจ่ายชำระหนี้ภาครัฐ 3.46 แสนล้านบาท ชำระคืนเงินต้น 1.18 แสนล้านบาท ชำระดอกเบี้ย 2.27 แสนล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 8 ตอนนี้เท่ากับจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 8 จากรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 มีรายจ่ายชำระหนี้ภาครัฐ 4.1 แสนล้านบาท คืนเงินต้น 1.5 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 2.6 แสนล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 9 เท่ากับต้องจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปี เกือบเท่าร้อยละ 10 ของรายได้ที่เราหามาได้ ซึ่งเป็นอันตราย หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้
ประเด็นสุดท้ายคือ งบจ่ายลงทุนกับตัวเลขขาดดุลงบประมาณ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 งบลงทุนอยู่ที่ 7.1 แสนล้านบาท ทว่ามีการขาดดุลงบประมาณ 6.9 แสนล้านบาท ขณะเดียวกัน ในปี 2568 งบลงทุนอยู่ที่ 9.08 แสนล้านบาท ขณะที่การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่กว่า 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่างบลงทุนจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด และยังคงมียอดสูงกว่างบขาดดุล แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
“สิ่งที่เกิดขึ้นคืองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 2567 สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังพิจารณา เป็นการทำสถิติงบขาดดุลสูงที่สุด จนติดเพดานการทำงบขาดดุลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การจัดทำทั้ง 2 ส่วนทำให้มียอดขาดดุลรวมกัน 8.05 แสนล้านบาท ขณะที่เพดานที่ทำได้คือ 8.15 แสนล้านบาท เหลือเพดานขาดดุลได้แค่ 1 หมื่นล้านบาท เท่ากับการใช้จ่ายงบประมาณแทบไม่เหลือช่องว่างให้ทำอะไรได้อีกต่อไปแล้ว”
วีระชี้ให้เห็นว่า ยังไม่รวมภาระการคลังที่ต้องจ่ายสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคมที่ยังไม่ครบถ้วน และยังไม่รวมภาระการเงินการคลังตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังที่ยังคงค้างทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท และภาระนอกงบประมาณอีก 3 ก้อนใหญ่ ได้แก่
– ภาระหนี้กองทุนน้ำมัน 1.1 แสนล้านบาท
– ภาระหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 9.8 หมื่นล้านบาท
– หนี้กองทุนประกันวินาศภัยที่ต้องจ่ายทดแทนบริษัทประกันภัยที่ล้มละลายแล้ว 8 หมื่นล้านบาท
ภาระนอกงบประมาณดังกล่าวทำให้มีความอ่อนไหว สุ่มเสี่ยงจะพัฒนาเป็นวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต ถ้าจัดการไม่ถูกต้อง
“ยกตัวอย่างประเทศอื่น เมื่อเกิดวิกฤตการคลัง เศรษฐกิจจะซบเซา ซึมนาน อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจขยายตัวต่ำต่อเนื่องถึงขั้นติดลบ ราคาทรัพย์สิน หุ้น พันธบัตร จะไม่ขยับขึ้นเพราะขาดแรงซื้อ การลงทุนใหม่จะไม่เกิดขึ้น เมื่อลงทุนแก้ไขจริงจัง ก็จะต้องตัดงบรายจ่ายประจำอย่างหนัก
“และหากพิจารณาจากชาติอื่นที่ประสบปัญหาต้องตัดรวดเร็ว รุนแรง เช่น ตัดเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินอุดหนุนชดเชยสินค้าอุปโภคบริโภค เงินสมทบกองทุนต่างๆ จะถูกตัดยอดลงมารุนแรง ในเวลาเดียวกันต้องขึ้นภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ภาครัฐและอุดช่องว่างการขาดดุลงบฯ รายจ่าย ในขณะที่การจ้างงาน การผลิต การออม จะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งหมดนี้เป็นการวาดภาพคร่าวๆ หวังว่าจะไม่เกิดในอนาคต ถ้าหากเราไม่เกิดนโยบายการคลังไม่รอบคอบจนเกิดความผิดพลาด ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวง”
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้การดำเนินนโยบายลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต วีระจึงเสนอให้ลดวงเงินจาก 1.22 แสนล้านบาท เหลือ 5 หมื่นล้านบาท ลดการขาดดุลงบประมาณจาก 1.12 แสนล้าน เหลือ 4 หมื่นล้านบาท โดยการลดวงเงิน ลดอัตราการขาดดุลดังกล่าว ถือว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับภาระการคลังที่ตึงตัว
วีระยังระบุด้วยว่า แม้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 2 และ วาระที่ 3 จะเป็นไปตามเสียงข้างมากของกรรมาธิการที่ให้คงร่างเดิมไว้แต่หวังว่าข้อสังเกตจะทำให้ตระหนักรู้สิ่งที่น่าเป็นห่วงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตใน 2 แนวคิด คือ 1.หากดำเนินการแบบไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม จะสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดวิกฤต และ 2.หากรัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายแบบที่ทำอยู่ ในเวลาอันใกล้อาจทำให้เกิดวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต หรือสามารถเลี่ยงวิกฤตการเงินการคลังในอนาคตได้
“เรื่องวิกฤตการเงินการคลังเป็นเรื่องใหญ่ เราไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ดังกล่าว ถ้าเกิดวิกฤตในอนาคตจะสร้างวิกฤตมากกว่าพวกเรา มากกว่าวิกฤต 2 ครั้งที่ผ่านมา ผมจึงหวังว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฉบับนี้ ด้วยความรอบคอบและใช้สติปัญญาเต็มข้อจำกัด”
Tags: ดิจิทัลวอลเล็ต, วีระ ธีรภัทร