วันนี้ (15 มิถุนายน 2565) ที่รัฐสภา อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต และร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ซึ่งอิสระได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ ‘คู่ชีวิต’ อีกฉบับในนามพรรคประชาธิปัตย์ ประกบร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีว่า ไม่อยากให้เป็นสงคราม หรือเป็นเรื่องการทำตลาดบนโลกออนไลน์ระหว่างเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ กับเรื่อง ‘คู่ชีวิต’ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตนั้นไปด้วยกันได้ และเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แต่ต้องไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่เสนอมาโดยกระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นการจับแพะชนแกะ ตนเองและพรรคประชาธิปัตย์จึงอยากเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตขึ้นมาอีกฉบับ แตกต่างจากร่างสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลและของกระทรวงยุติธรรม

อิสระระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ของกระทรวงยุติธรรม เพราะมีการจำกัดว่าคู่ชีวิตต้องเป็นเรื่องระหว่างเพศเดียวกันเท่านั้น และคู่สมรสต้องเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติ การแต่งงานของเพศอื่นจึงไม่ใช่หลักธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องปกติ จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษบังคับใช้ คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของกระทรวงยุติธรรม เป็นกฎหมายที่เห็นว่า LGBTQ+ เป็นคนไม่ปกติ ต้องมีกฎหมายพิเศษออกมาสำหรับคนกลุ่มนี้ และการเที่ยวกำหนดว่าชายหญิงให้เป็น ‘คู่สมรส’ ชาย-ชาย และหญิง-หญิง ให้เป็นคู่ชีวิต ส่วนเกย์กับทอม ถ้าจะสมรสกันให้ไปใช้กฎหมายคู่สมรส เรื่องนี้จึงต้องตั้งคำถามว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นใครถึงได้ไปกำหนดชีวิตของเขา

“โลกเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายที่ดี คือกฎหมายที่หมุนทันโลก แต่ถ้ากระทบกฎหมายอื่นหลายฉบับ ต้องศึกษาให้รอบคอบ หลักประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการฟังความเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทุกวันนี้ ความสัมพันธ์มีหลายระดับ ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นคู่สมรสกัน กฎหมายคู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์จึงอยากเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่รักกัน แต่ไม่อยากเป็นคู่สมรส หรือไม่สามารถเป็นคู่สมรสกันได้ โดยไม่ขัดหลักศาสนา คู่ชีวิตจึงต้องเปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน ต่างจากของคณะรัฐมนตรี”

ด้วยเหตุนี้ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์ จึงตัดเรื่องคู่ชีวิตต้องเป็น ‘เพศเดียวกัน’ เท่านั้น เป็น ‘ทุกเพศ’ สามารถเป็นคู่ชีวิตกันได้ และคู่ชีวิตหมายถึงบุคคล 2 คน สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต และตัดคำว่า ‘ซึ่งเป็นคนเพศเดียวกันโดยกำเนิด’ ออก ให้ทุกคนสามารถเป็นคู่ชีวิต จึงอยากให้สภาฯ ใช้ร่างฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นร่างฯ หลักในการพิจารณา

ส่วนสาเหตุที่เป็น ‘คู่ชีวิต’ นั้น อิสระระบุว่า เป็นเพราะพัฒนาการด้านความสัมพันธ์ โดยปัจจุบัน ความสัมพันธ์มีอยู่หลายระดับ ‘คน 2 คน’ อาจเลือกอยู่ด้วยกัน เพราะมีทัศนคติแบบเดียวกัน ต้องการเกื้อกูลกันยามเจ็บป่วย แต่ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ฉันคู่สมรส ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นทางเลือกให้ความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้

สอง คือเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัว เพราะมีงานวิจัยระบุว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยผู้ใหญ่ 2 คน ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีกว่า ฉะนั้น จะดีกว่าไหม ที่เด็กจะได้รับความอบอุ่นจากคน 2 คนที่ไม่ได้เป็นคู่สมรส แต่ต้องการที่จะอุปการะเด็กด้วยกัน พวกเขาเหล่านี้สามารถเลือกความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิต ไม่ได้เกิดจากใครหรือเพศใด แต่เกิดจากความสัมพันธ์และความรัก

อิสระกล่าวอีกว่า ‘คู่ชีวิต’ กับ ‘คู่สมรส’ แม้จะมีสิทธิ์เท่ากันหรือเท่าเทียมกัน คำถามก็คือ ทำไมต้องมีสถานะ คำอธิบายคือประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนา ศาสนาหลักของประเทศ ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม พุทธ การประกอบพิธีศาสนาในงานมงคลสมรส เป็นการประกอบเพื่อความสิริมงคลเท่านั้น ต่างกับคริสต์หรืออิสลาม ที่การสมรสเกี่ยวกับศาสนา สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ หากเป็นการ ‘สมรสเท่าเทียม’ จะเป็นการบังคับผู้นำศาสนา ให้ต้องประกอบพิธีสมรสให้กับคนทุกเพศ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า เสียงของผู้นำศาสนาอื่น จะไม่รับฟังหรืออย่างไร

“เรื่องนี้ เกิดจากกระบวนการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ผู้นำศาสนากังวลว่าถ้าสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นโดยไม่พิจารณาองค์ประกอบอื่น โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นเลย จะเป็นการบังคับให้เขาต้องประกอบพิธีทางศาสนาโดยขัดหลักคำสอนของเขา เขาไม่ได้ต่อต้านความรัก ความรักเป็นสิ่งสวยงามทุกศาสนา แต่นี่คือสิ่งที่เขากังวลใจ

“อยากเรียกร้องให้ ส.ส. พิจารณาเหตุผล และความจำเป็นว่าสถานะคู่ชีวิต คือความจำเป็น และเป็นทางออก เป็นกฎหมายที่มองคนเท่ากัน ให้โอกาสกับคนทุกคน เวอร์ชันที่ผมเสนอ สำหรับคนทุกเพศ ไม่ได้มองว่าเพศไหนเป็นคนชั้นสอง และไม่ได้เลือกปฏิบัติกับเพศไหน แต่มองคนเท่ากัน ให้คนทุกเพศสามารถเลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเอง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง”

 

ภาพ: รัฐสภา

Tags: , ,