วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จัดแถลงผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ ซึ่งโครงการดังกล่าวผ่านมาแล้ว 2 เดือน หลังจากดำเนินการแถลงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

เศรษฐากล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบมีการบูรณาการให้หลายหน่วยงานขับเคลื่อนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวถือว่าคืบหน้ามาก

โดยผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.4 แสนราย รวมมูลหนี้สินกว่า 9,800 ล้านบาท และมีลูกหนี้-เจ้าหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้วกว่า 1.2 หมื่นราย ทำให้มูลค่าหนี้สินลดลงกว่า 670 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นายกฯ เผยว่าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบยังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าหน้าที่ไม่มีข้อมูลเจ้าหนี้หรือเจ้าหนี้ไม่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ทำให้เป็นอุปสรรคกว่าจะไปสู่ขั้นตอนการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงระหว่างลูกหนี้-เจ้าหนี้ ตนจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามและช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็ขอให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลในกระบวนการไกล่เกลี่ยได้รวดเร็วมากที่สุด

นอกจากนั้น นายกฯ ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส) จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งทั้งสองสถาบันการเงินต่างมีมาตรการสินเชื่อหลายมาตรการ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของเอกสาร ตนจึงขอให้ธนาคารช่วยดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกัน เศรษฐาอธิบายปัญหาหนี้ในระบบว่า สามารถแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งได้รับการช่วยเหลือโดยปิดบัญชีหนี้สินเสียแล้วกว่า 5.6 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในเครดิตบูโร นอกจากนั้นก็ยังมีการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่ม SMEs กว่า 1 หมื่นราย มูลค่าหนี้สินกว่า 5,000 ล้านบาท

2. ลูกหนี้รายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากเกินศักยภาพการชำระ ตนมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4.75% ต่อปี คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่า 3,000 ราย และมีลูกหนี้บัตรเครดิตกว่า 1.5 แสนบัญชี เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้

3. กลุ่มลูกหนี้มีรายได้ไม่แน่นอน เกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้กว่า 1.8 ล้านราย รวมมูลค่าหนี้สินกว่า 2.5 แสนล้านบาท

4. กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหลักเกณฑ์การร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารทรัพย์สินแล้ว และคาดว่าจะขยายไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถโอนขายเพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป

นายกฯ กล่าวต่อว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนหลุดจากวงจรหนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของปัญหา ข้อมูลเจ้าหนี้ และมูลค่าหนี้ที่แท้จริง เพื่อเข้าโครงการแก้ไขของรัฐบาล

“พี่น้องครับ ผมขอให้ความเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องได้อย่างทั่วถึง และจะแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ให้ได้” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , , ,