ในช่วงวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ก่อนการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวนเงินไม่เกิน 3.7 ล้านล้านบาท ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ก่อน ซึ่งถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคือ การเปลี่ยนชื่อ ‘สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ให้เป็น ‘สำนักงานพระคลังข้างที่’ โดยสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ระบุไว้ว่า
“พระคลังข้างที่เป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ในการดูแลจัดการพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณกาล ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อทำหน้าที่แทน
“เพื่อเป็นการสืบทอดประวัติความเป็นมาให้สอดคล้องกับโบราณราชประเพณี จึงสมควรให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ และสมควรรวมกิจการของสำนักงานพระราชวังเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานพระคลังข้างที่เดิมเข้ามาบริหารจัดการ โดยสำนักงานพระคลังข้างที่ตามพระราชบัญญัตินี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
นอกจากนั้นใน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการกำหนดสาระสำคัญอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ต่อไปนี้
1. แก้ไขคำว่า ‘คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ เป็น ‘คณะกรรมการพระคลังข้างที่’, แก้ไขคำว่า ‘กรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ เป็น ‘กรรมการพระคลังข้างที่’ และแก้ไขคำว่า ‘ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ เป็น ‘ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่’
2. ย้ายกิจการทั้งหมดของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาเป็นของสำนักงานพระคลังข้างที่
3. กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันของสำนักพระราชวังเฉพาะส่วนของสำนักงานพระคลังข้างที่ ให้เป็นของสำนักงานพระคลังข้างที่ ตามที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
จากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวทำนองว่า การเปลี่ยนแปลงชื่อครั้งนี้ ถือเป็นการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยสมบูรณ์ เพราะได้ทำลายการแบ่ง ‘ทรัพย์สินส่วนพระองค์’ และ ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ เมื่อปี 2475
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขา วิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences) คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ออกมาโต้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่การกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการ ‘ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์การ’ (Organizational Structure) เท่านั้น
เนื่องจากใน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ได้มีการแบ่ง ‘ทรัพย์สินในพระองค์’ ซึ่งเป็นทรัพย์สินราชสกุลมหิดล และ ‘ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์’ อย่างชัดเจน และการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เป็นเพียงการกลับไปใช้คำโบราณ
นอกจากนั้นการรวบกิจการของสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง ให้มาอยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานพระคลังข้างที่นั้นถูกต้องตามหลัก ‘การจัดการการเงิน’ เพราะสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ที่เปลี่ยนเป็นชื่อสำนักงานพระคลังข้างที่) นั้นมีความชำนาญมากกว่า มีบุคลากรพร้อมกว่า สามารถตอบสนองกับภารกิจของสำนักได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
Tags: พระมหากษัตริย์, รัฐสภา, พระคลังข้างที่, สำนักพระราชวัง