วันอังคารที่ผ่านมา (11 มกราคม 2565) มหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษ ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่า โควิดจะสูญเสียความสามารถในการแพร่เชื้อสู่ผู้คน 90% หลังจากที่ลอยขึ้นสู่อากาศ โดยเฉพาะในช่วง 5 นาทีแรก นับเป็นการจำลองครั้งแรกของโลกว่า ไวรัสโควิดสามารถอยู่รอดได้อย่างไรในอากาศ เมื่อออกจากการหายใจของมนุษย์
ศูนย์วิจัยละอองลอยของมหาวิทยาลัยบริสตอล ได้ทำการจำลองการอยู่รอดของไวรัสในอากาศ และพบว่าความรุนแรงของเชื้อลดลง 90% ภายใน 5 นาทีหลังจากที่ลอยขึ้นสู่อากาศ และด้วยเวลาที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้สูญเสียการแพร่เชื้อมากขึ้น ดังนั้นจึงลดโอกาสที่ไวรัสจะทำให้ถึงแก่ชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันว่า ไวรัสแพร่กระจายผ่านฝอยละออง (droplets) และละอองลอย (aerosols) ที่มาจากการไอจามจากปอดมนุษย์ และจากการทดลองศึกษาโดยวิธีการพ่นไวรัสลงในภาชนะที่ปิดสนิทที่เรียกว่า Goldberg drums เพื่อให้ละอองลอยหมุนเวียนอยู่ในอากาศ ได้ข้อสันนิษฐานว่า ระยะเวลาที่ไวรัสสามารถอยู่รอดได้ในละอองขนาดเล็กในอากาศคือ 3 ชั่วโมง แต่การทดลองดังกล่าวไม่ได้จำลองสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ไอหรือหายใจอย่างแม่นยำ อย่างไรก็ดี นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอลได้พัฒนากลไกที่ช่วยให้สามารถจำลองได้อย่างแม่นยำว่า ไวรัสสามารถอยู่รอดได้นานแค่ไหนเมื่ออยู่ในอากาศ
ผลการศึกษาระบุว่า ขณะที่อนุภาคของโควิดออกจากปอดที่อุ่น ชื้น และเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ พวกมันจะเริ่มขาดน้ำอย่างรวดเร็วและสูญเสียน้ำ เมื่อสัมผัสกับอากาศซึ่งมีออกซิเจนเข้มข้นกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก โดยการสูญเสียความชื้นนี้เอง จะเป็นตัวขัดขวางความสามารถในการแพร่ระบาดในเซลล์ของมนุษย์
ผลการวิจัยดังกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแพร่เชื้อโควิดในระยะสั้น และแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของมาตรการทางสังคม รวมถึงการใช้หน้ากากอนามัยยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอลยังเน้นย้ำถึงอันตรายของสถานที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี รวมถึงพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสูงที่สุด
“นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถจำลองสิ่งที่เกิดขึ้นกับละอองลอยได้จริง ในระหว่างกระบวนการหายใจออกของมนุษย์” โจนาธาน รีด (Jonathan Reid) ผู้ทำการศึกษากล่าว และเสริมว่าผู้คนมักให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี และการแพร่เชื้อผ่านทางอากาศข้ามกันไปมาภายในห้อง แต่เขาคิดว่าความเสี่ยงที่มากที่สุดคือการอยู่ใกล้ชิดซึ่งกันและกัน
“หมายความว่า สมมติผมไปพบเพื่อนเพื่อทานอาหารกลางวันในผับ ความเสี่ยงหลักน่าจะเป็นการที่ผมได้รับเชื้อไวรัสจากเพื่อน หรือเพื่อนได้รับเชื้อไวรัสจากผม มากกว่าที่ผมจะได้รับเชื้อจากคนอื่นๆ ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของผับ” โจนาธานกล่าว “เมื่อคุณไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกัน ไม่เพียงแต่ละอองลอยจะเจือจางลงเท่านั้น แต่โอกาสติดเชื้อจากไวรัสก็น้อยลงด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะสูญเสียความสามารถในการแพร่เชื้อไปตามกาลเวลา”
การศึกษายังระบุว่า อุณหภูมิของอากาศไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆ ต่อการติดเชื้อไวรัส ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อที่แพร่หลายว่า การแพร่กระจายของไวรัสจะต่ำกว่าในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
จูเลียน ทัง (Julian Tang) นักไวรัสวิทยาทางคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าวว่า การค้นพบนี้สนับสนุนสิ่งที่นักระบาดวิทยาได้ทำการสังเกตการณ์ และเสริมว่าหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพมาก เช่นเดียวกับการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการระบายอากาศที่ดีก็ช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัส
ขณะที่ สตีเฟน กริฟฟิน (Stephen Griffin) รองศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาที่มหาวิทยาลัยลีดส์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการระบายอากาศว่า ละอองลอยจะกระจายเต็มพื้นที่ภายในอาคารอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ไม่มีการระบายอากาศที่เหมาะสม ดังนั้นสมมติว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในห้อง ระดับการแพร่เชื้อของไวรัสก็จะสูงตามไปด้วย
ที่มา:
Tags: covid19, Droplets, Aerosols