เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์แล้ว ที่ประเทศอินเดียมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 3 แสนคนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2 แสนคน และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 18 ล้านคน ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในขณะนี้

ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงนี้ทำให้นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที (Narendra Modi) ยอมรับว่าอินเดียกำลังเผชิญพายุโควิดซัดกระหน่ำจนสั่นสะเทือนไปทั้งประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าสถานการณ์ในอินเดียคือ ‘เครื่องเตือนใจที่น่าเจ็บปวด’ ที่แสดงให้เห็นว่าโควิด-19 สร้างความเสียหายได้มากมายขนาดไหน

เกิดอะไรขึ้นกับอินเดีย ทำไมประเทศที่เคยสามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดได้ กลับกลายเป็น ‘ดินแดนแห่งความตาย’ หลังจากไวรัสมรณะกลับมาระบาดอีกครั้งจนก่อให้เกิดกลียุคขึ้น ประชาชนดิ้นรนหนีตาย อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากแพทย์ แม้จะรู้ดีว่าวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ ถังออกซิเจน แม้กระทั่งเตียงผู้ป่วย ล้วนขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤติ

The Momentum ต่อสายตรงข้ามประเทศเพื่อพูดคุยกับ เพชรชุดา เกาจารี หญิงสาวชาวไทยเจ้าของร้านไทยเฮาส์ (Thai House) ร้านอาหารไทยในเมืองปูเน รัฐมหาราษฏระ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรัฐที่ได้รับผลกระทบจากโควิดหนักที่สุดของอินเดีย ด้วยยอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยครึ่งแสนต่อวัน เธอจะมาเล่าให้ฟังว่าชีวิตความเป็นอยู่ในตอนนี้เป็นอย่างไร

 

Reuters

“ต้องบอกก่อนว่า ปูเนเป็นเมืองที่อยู่บนภูเขา เป็นที่ราบสูง คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นนักเรียนนักศึกษา เพราะมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่เยอะ อีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนทำงาน บางคนก็ย้ายมาอยู่อินเดียอย่างถาวร เช่น ครอบครัวเราที่มาเปิดร้านอาหารไทย อีกกลุ่มที่เพิ่งเข้ามาในช่วงหลังคือพนักงานนวดหญิงในร้านสปา ก่อนหน้านี้ธุรกิจสปาในอินเดียกำลังเป็นกระแส แต่สาวสปาเขาจะไปแล้วกลับ ไม่ได้ปักหลักอยู่ที่นี่เหมือนเรา ถ้าให้นับรวมๆ ตอนนี้ช่วงที่ผ่านมามีคนไทยอยู่ในเมืองปูเนเกือบ 100 คน

“ตอนโควิดระบาดรอบแรก มันมาจากจีน เข้าไทย แล้วก็มาที่อินเดีย ช่วงนั้นรัฐบาลอินเดียยังไม่ได้มีคำสั่งอะไรเลย มีแค่รายงานว่ามีคนติดเชื้อและเสียชีวิตบ้าง แต่พอสถานการณ์ไม่ดีขึ้น รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ทันที ซึ่งอินเดียแปลกอยู่อย่างคือ ถ้ามีคำสั่งอะไรมาส่วนใหญ่ก็จะบังคับใช้ทันที มีคำสั่งออกวันนี้ บังคับใช้เย็นนี้ หรือเช้าพรุ่งนี้ ซึ่งคำสั่งล็อกดาวน์เป็นเวลา 5 วันครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน

“ออกไปไหนไม่ได้คือออกไปไหนไม่ได้เลย ถ้าเปิดประตูออกไปก็เจอตำรวจดักอยู่ทุกแยก ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าออกจากบ้านมาทำไม ปั๊มน้ำมันก็ไม่ให้เติมน้ำมัน บังคับให้ต้องอยู่บ้าน โชคดีที่เรามีร้านอาหารอยู่ แล้วทางกงสุลไทยในอินเดียก็ส่งวัตถุดิบมาให้เรา เราก็เอามาทำอาหารแจกจ่ายให้กับคนไทยในพื้นที่ ซึ่งต้องทำแบบกองโจร แอบเอาอาหารไปให้นักเรียนนักศึกษา ซึ่งมันจำเป็นต้องทำ เพราะเด็กบางคนเพิ่งมามาเรียนภาษา เขาก็จะมีปัญหาในการสื่อสาร สั่งอาหาร ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ เราต้องช่วยเขา”

กราฟแท่งแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 วันที่ผ่านมา / JHU CSSE COVID-19 Data

หลังจากนั้น อินเดียก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจนอยู่ในระดับที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 1.1 หมื่นรายต่อวันเท่านั้น จากเดิมที่มีสูงถึง 9 หมื่นรายต่อวัน ความสำเร็จในครั้งนี้ ฮาร์ช วาร์ธาน (Harsh Vardhan) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียได้ออกมาชี้แจง อีกทั้งยังประกาศอีกว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ในตอนจบของเกมการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว

แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น ช่วงปลายเดือนเมษายนนับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา อินเดียมีอัตราผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนทุบสถิติโลกที่ 3 แสนคนต่อวัน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 18 ล้านคน และมีคนตายกว่า 2 แสนคนแล้วในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักวิเคราะห์ว่า สาเหตุการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ B.1.617 หรือที่เรียกว่า ‘สายพันธุ์อินเดีย’ พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 ขณะเดียวกัน การจัดการของรัฐบาลและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของชาวอินเดียเอง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดในครั้งนี้

“พอรัฐบาลเริ่มประกาศคลายล็อกดาวน์ คนก็ออกมาใช้ชีวิตปกติ ที่สังเกตเห็นเลยคือหลายคนไม่ยอมสวมหน้ากากอนามัย หรือถ้ามีก็ถอดเอาไว้ใต้คาง พอตำรวจเดินมาถึงจะยกขึ้นมาสวมปกติ อีกกรณีคือผู้หญิงบางคนก็ใช้ส่าหรี หรือผู้ชายบางคนก็ใช้ผ้าเช็ดหน้ามาคลุมแทนการสวมหน้ากากอนามัย

“ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการอนุญาตให้ร้านขายหมากกลับมาเปิดได้ เราคิดว่าการกินหมากเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้โควิดกลับมาระบาด เพราะคนกินหมากจะชอบบ้วนน้ำลายลงพื้น เมื่อมีการขับเสมหะออกมาก็ทำให้โอกาสติดเชื้อมีสูง”

นอกจากการกลายพันธุ์ของไวรัส การระบาดใหญ่ในประเทศอินเดียระลอก 2 ยังมาจากรัฐบาลชะล่าใจอนุญาตให้ประชาชนหลายล้านคนสามารถร่วมเทศกาลกุมภเมลา (Kumbh Mela) ตามประเพณีของศาสนาฮินดูเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอินเดียไม่ได้มีมาตรการควบคุมแต่อย่างใด

 

Reuters

“ในมุมมองของเรา เชื่อว่ามีประชาชนหลายคนไม่เห็นด้วยกับการจัดเทศกาลกุมภเมลา คนรอบตัวหลายคนที่เคยพูดคุยกันก็บอกว่าไม่อยากให้จัดงานนี้ แต่ด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่การเมืองกับศาสนาผูกติดกันเหนียวแน่นมาก จึงยากที่จะห้ามไม่ให้จัดงานนี้ขึ้น เพราะเขาก็อยากโชว์ศักยภาพว่าตัวเองมีพลังสามารถทำให้เทศกาลนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์แบบนี้ได้

“หลังจากผู้คนมาร่วมงานเทศกาลกุมภเมลาที่จัดทางตอนเหนือ แล้วโควิดได้ระบาดในเมืองเดลี รัฐบาลจึงได้สั่งล็อกดาวน์เมืองเดลี ปิดร้านค้า ปิดร้านอาหาร ทำให้ลูกจ้างต้องอพยพกลับบ้านที่ต่างจังหวัด เพราะถึงอยู่ไปก็ไม่มีงานทำ ตรงนี้แหละ ที่เรามองว่าทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างไปทั่วทั้งอินเดีย”

 

Reuters

เพชรชุดาเล่าถึงมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดของรัฐบาลอินเดียว่า

“การระบาดรอบนี้ รัฐบาลอินเดียมีมาตรการล็อกดาวน์เหมือนเดิม อะไรที่เพิ่งกลับมาเปิดก็ถูกสั่งปิดอีกครั้ง อนุญาตให้ออกไปซื้ออาหาร เครื่องใช้ได้แค่ช่วง 7.00-11.00 น. ในวันจันทร์ถึงศุกร์ นอกเหนือเวลาดังกล่าวทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน”

“รอบนี้ดีตรงที่ทุกคนเริ่มปรับตัวได้ ร้านค้าเริ่มมีมาตรการ Home Delivery แล้วซึ่งสามารถสั่งซื้ออาหารสดทางออนไลน์ได้เลย เราเชื่อว่ารอบนี้เขาไม่อยากล็อกดาวน์แบบเข้มข้นเหมือน 5 วันแรกเมื่อปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจจะทรุดตัวหนักหลังเพิ่งกลับมาฟื้นฟูได้ไม่นาน”

ขณะที่สถานการณ์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในประเทศอินเดีย จนถึงวันนี้มีประชากรอินเดียไม่ถึง 10% ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ผลิตวัคซีนหลักของอินเดียมีอยู่ 2 บริษัทคือ บริษัท Serum Institute of India (SII) ซึ่งผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า และบริษัท Bharat Biotech ผลิตวัคซีนโควาซิน (Covaxin) ซึ่งสามารถผลิตได้ประมาณ 90 ล้านโดสต่อเดือน อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่าการกระจายวัคซีนต้องใช้เวลานาน 5-6 เดือน ถึงจะครอบคลุมไปทั่วประเทศ

“ต้องเข้าใจก่อนว่าอินเดียเป็นประเทศใหญ่ การขนส่งจึงใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงยากที่จะดูแลประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนในพื้นที่ขนาดนี้ได้ทัน รวมถึงปัญหาเรื่องการจัดเตียงและออกซิเจนให้ผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ภาพที่เห็นกันว่าเตียงไม่พอส่วนใหญ่จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชนบท ซึ่งแน่นอน พอปัญหามันเกิดขึ้น รัฐบาลก็รีบแก้ไขปัญหาด้วยการนำเตียงและออกซิเจนจากที่อื่นมาเสริม โดยจะส่งมาถึงในเช้าวันต่อมา

“ข้อเท็จจริงนี้ทุกคนต้องได้ทราบ แต่ในส่วนของปัญหา เขาก็ไม่ได้เพิกเฉย เราก็เห็นว่ามันมีอยู่จริงซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไขกันต่อไป ตัวเราเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เอาตัวรอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้

“เรื่องกิจการร้านอาหาร โชคดีที่พอมีบริการออนไลน์เกิดขึ้น ร้านเราก็ยังไปต่อได้ เราให้ลูกน้องนอนเฝ้าที่ร้าน พอมีออร์เดอร์ก็ทำแล้วให้บริษัทเดลิเวอรีนำไปส่งให้ลูกค้า ส่วนเรื่องชีวิตทั่วไป เรากับลูกสาวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปไหนเลย โชคดีที่พอมีกิจกรรมให้ทำอยู่บ้างเลยไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ที่กังวลอย่างเดียวคือด้วยความที่เขายังเล็ก เป็นเด็กไทยในอินเดีย การไม่มีเพื่อนเล่นในช่วงนี้ก็เป็นเรื่องที่สะเทือนใจเหมือนกัน สงสารเขามาก”

เพชรชุดาบอกว่า การเป็นคนต่างชาติในอินเดียช่วงเวลานี้ถือว่าลำบากมาก เธอยกตัวอย่างคนไทยในละแวกนั้นที่ติดเชื้อแต่จำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เพราะการรักษาในฐานะชาวต่างชาติจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ค่าใช้จ่ายหนึ่งวันอาจจะสูงถึง 100,000 รูปี (ประมาณ 42,000 บาท)

“เรื่องนี้แหละที่ทำให้เราคิดถึงบ้านขึ้นมาทันที อย่างน้อยก็คงได้รับการดูแลอย่างดีในฐานะคนในประเทศ” เจ้าของร้านอาหารไทยในเมืองปูเน กล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง

https://www.mfa.go.th/th/content/chartered-flights-india?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-55571793

https://www.bbc.com/thai/international-56855536

https://www.bbc.com/thai/international-56871720

 

 

Tags: , , ,