วันนี้ (8 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค. ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานในที่ประชุม ประกาศว่า ที่ประชุมได้พิจารณาขยายระยะเวลาประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 19) ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงาน โดยมีมติให้ขยายออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2565
ด้านนายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 รวมทั้งเตรียมความพร้อมในเรื่องเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์รักษาโรค ตลอดจนให้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและยาเป็นระยะเพื่อรายงานให้ประชาชนทราบในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ก็ตามข้อสรุปของมติการประชุม ศบค. มีดังนี้
1. เปลี่ยนวิธีการรับสถานการณ์ระบาดเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารจัดการหลังการระบาด (Post-Pandemic)
2. สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้เกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคแทรกซ้อนต่างๆ
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบการเข้าถึงยาต้านไวรัสให้สะดวกและเข้าถึงง่าย
4. ประชาสัมพันธ์ดำเนินการให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัย
5. กระทรวงมหาดไทยศึกษาข้อกฎหมายเพื่อพิจารณาตัดโรคโควิด-19 ออกจากโรคต้องห้ามเข้าราชอาณาจักร ซึ่งจะดำเนินการในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ฝากเน้นย้ำว่า การขยายเวลาดังกล่าวเพื่อควบคุมป้องกันโรคและรักษาชีวิตประชาชนเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“เพื่อต้องการให้รักษาชีวิตและสุขอนามัยของประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่ได้มีส่วนในการที่จะไปต้องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพแต่อย่างใด”
Tags: Report, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, โควิด-19, COVID-19