จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงวาระการดำรงตำแหน่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าควรจะสิ้นสุดลงเมื่อใด บ้างให้เหตุผลว่าควรจะจบลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 บ้างบอกว่ายังสามารถดำรงตำแหน่งได้อีก 1 สมัย หรือยังสามารถอยู่ในตำแหน่งจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่ากันว่าความ ‘สับสน’ ดังกล่าวเกิดมาจากการที่พลเอกประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 คือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างขึ้นเพื่อให้อำนาจการบริหารประเทศแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากเหตุการณ์ดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ก็ได้ลงมติเห็นชอบแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 191 คน และงดออกเสียง 3 คน
ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 หลังจากการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับสืบทอดอำนาจจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หลังการเลือกตั้งดังกล่าว รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นนายกฯ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244 คน และงดออกเสียง 3 คน ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความชอบธรรมจากนักวิชาการ นักการเมือง และประชาชน
ความสับสนอันเนื่องมาจากการที่พลเอกประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ถึง 2 ครั้ง นำมาซึ่งข้อถกเถียงมากมายว่าแท้จริงแล้ว ‘จุดเริ่มต้น’ ใดควรเป็นหมุดหมายในการนับวาระการดำรงตำแหน่งกันแน่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ระบุไว้ชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”
เอกสาร ‘ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ ของรัฐสภา ได้อธิบายเจตนารมณ์ของมาตรา 158 ไว้ว่า “การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่า เหตุการณ์นี้มีความเป็นไปได้ทั้งหมด 3 แนวทางด้วยกัน
1. ควรนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ดังนั้น วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งควรจะเป็นวันที่ 24 สิงหาคม 2565
2. ควรนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เท่านั้น เนื่องจากผู้สนับสนุนแนวคิดนี้มองว่า หลังการรัฐประหาร 2557 พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 และตามหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมทั่วไป จะบังคับใช้กฎหมายในทางเป็นโทษกับบุคคลย้อนหลังไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงช่วงรัฐประหารได้ หากพิจารณาตามแนวทางนี้ วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งคือวันที่ 8 มิถุนายน 2570 หรือหมายความว่าพลเอกประยุทธ์สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งวาระหน้าได้อีก
3. ควรนับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันแรกที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ และเป็นวันแรกที่มาตรา 158 มีผลบังคับใช้เช่นกัน หากพิจารณาตามแนวทางนี้ วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งคือวันที่ 5 เมษายน 2568
จากความ ‘ลักลั่น’ ของการตีความทางกฎหมาย ทำให้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 อาจารย์คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 15 แห่ง ร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลสนับสนุนตามแนวทางที่ 1 คือพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีเกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565
เพื่อเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวในมุมที่ลึกขึ้น วันนี้ (19 สิงหาคม 2565) The Momentum พูดคุยกับ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็น 1 ใน 51 นักวิชาการที่ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกกรณี ‘วาระ 8 ปีของพลเอกประยุทธ์’
สมชายกล่าวว่า ประเด็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ไม่ควรเกิดข้อถกเถียงขึ้น เพราะบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ และไม่ได้มีข้อยกเว้นใดระบุไว้
“หลังการรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่รักษาการ เนื่องจากมีการโปรดเกล้าฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนยกเว้นไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ให้นำเวลาที่พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร 2557 เข้ามาพิจารณา พอรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ดังนั้นก็ต้องนับ”
เมื่อถามว่าเหตุใดจึงเกิดข้อถกเถียงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ สมชายระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวคือ ‘การตีความรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกันของกลุ่มคนบางกลุ่ม’ โดยปัจจุบันมีการตีความรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ทิศทางหลัก ได้แก่
1. การตีความให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2. การตีความที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมระบอบอำนาจนิยม
“หากเราจะตีความวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มาตรา 158 ในรัฐธรรมนูญมีไว้เพื่อต้องการควบคุมและตรวจสอบผู้ปกครอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ปกครอง คุณก็ควรต้องโดนจำกัดระยะเวลา เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจอันจะเป็นผลให้เกิดวิกฤตทางการเมือง
“แต่ในความเป็นจริง เราจะเห็นลักษณะการตีความอีกแนวทางหนึ่ง คือแนวทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แนวทางนี้พยายามจะตีความกฎหมายให้ผู้นำที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตยอย่างการรัฐประหาร สามารถอยู่ในอำนาจได้เรื่อยๆ ปัญหาคือกฎหมายจำนวนมากในบ้านเราถูกตีความตามแนวทางนี้ เพื่อตอบสนองต่อระบอบอำนาจนิยมเป็นสำคัญ”
สมชายชี้ให้เห็นว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ไปตีความ มีความเป็นไปได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความออกมาได้ 2 ทาง คือเป็นคุณต่อพลเอกประยุทธ์ หรือเป็นโทษต่อพลเอกประยุทธ์
กรณีแรก หากศาลตัดสินในทางที่เป็นคุณต่อพลเอกประยุทธ์ อาจจะมีกระแสไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ประชาชน องค์กร นักวิชาการ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ ส.ส. จำนวนหนึ่งที่เคยสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็เริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลมากขึ้น
“ผมเพิ่งเห็นแถลงการณ์ของแพทย์ชนบทที่ช่วงหนึ่งเคยสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่มาวันนี้ พวกเขากลับออกมาบอกว่าให้คุณประยุทธ์หยุดเถอะ ผมมองว่าหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ไม่มีความสามารถในการนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่ดีได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในทิศทางที่เป็นคุณกับพลเอกประยุทธ์ ผมเกรงว่าคำตัดสินจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สังคมไทยไม่ทนกับคุณประยุทธ์และคณะอีกต่อไป”
สมชายยังขยายความการตีความของศาลในทิศทางแรกว่า หากมองย้อนถึงการตีความคดีทางการเมืองในอดีต ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรคอนาคตใหม่ คดีเขาพระวิหาร หรือคดีของสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความในทางที่เป็นคุณต่อพลเอกประยุทธ์ เหมือนที่เคยทำมาในครั้งก่อนๆ
“ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2550 เป็นต้นมา เราจะพบคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่นำมาซึ่งคำถามและข้อโต้แย้งอย่างกว้างขวางในหมู่นักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นคำตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือพูดอีกแบบคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงที่กล่าวมามีแนวโน้มที่จะสนับสนุนระบอบอำนาจนิยม”
เมื่อถามถึงเหตุผลของการร่วมลงชื่อส่งจดหมายเปิดผนึกว่า พลเอกประยุทธ์ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงแค่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 สมชายกล่าวว่า เหตุผลหลักที่ร่วมลงชื่อส่งจดหมายเปิดผนึกกับนักกฎหมายอีก 50 คน เพราะต้องการเตือนว่าศาลรัฐธรรมนูญควรทำหน้าอย่างตรงไปตรงมาภายใต้หลักกฎหมาย
“ถ้ากล่าวอย่างตรงไปตรงมา ผมมองว่าความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญในสังคมไทยปัจจุบัน หลงเหลืออยู่น้อยมาก
“ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรทำให้ความน่าเชื่อถือตกต่ำไปมากกว่านี้ ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญควรต้องอยู่บนหลักวิชาบ้าง คำวินิจฉัยที่ออกมาควรจะต้องสามารถอธิบายได้ในทางหลักการ ตรรกะ หรือกฎหมาย หากกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของคุณประยุทธ์ ถูกตีความไปในทางที่บิดออกไปจากหลักเกณฑ์ ผมคิดว่าคนที่กระทำ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว อาจจะมีนักกฎหมายคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน ก็คงต้องตอบคำถามสังคมเยอะพอสมควรว่าเหตุใดจึงพิพากษาออกไปเช่นนั้น
“กรณีที่ 2 หากศาลตัดสินเป็นโทษต่อพลเอกประยุทธ์ ในทางกฎหมายพลเอกประยุทธ์ก็จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ สภาฯ ต้องประชุมร่วมกันเพื่อหานายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยการนำบุคคลที่เคยถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคต่างๆ มาพิจารณาว่าใครได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคุณอนุทิน คุณอภิสิทธิ์ คุณหญิงสุดารัตน์ คุณชัชชาติ และอื่นๆ”
เมื่อถามว่าในรายชื่อนี้ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์นิติศาสตร์ท่านนี้ตอบว่าไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พลเอกประยุทธ์จะอยู่ต่อไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า และหลังจากคำตัดสินออกมา สถานการณ์ในสังคมจะตึงเครียดมากขึ้น
“สุดท้ายผมอยากจะสื่อสารกับประชาชน ผมรู้สึกว่าคนในสังคมไทยควรจะต้องรู้สึกโกรธให้มากขึ้นสำหรับ 8 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าเราทุกคน แม้กระทั่งคนที่เคยเป่านกหวีดสนับสนุนคุณประยุทธ์ ก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เราต้องโกรธให้ระบอบการเมืองที่มันอยุติธรรม
“ผมอยากจะยุให้คนในสังคมไทยโกรธให้มากขึ้นกับระบอบการปกครองแบบนี้”
Tags: ศาลรัฐธรรมนูญ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, Report, รัฐธรรมนูญ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายกรัฐมนตรี