วันนี้ (10 เมษายน 2567) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่าที่ประชุม กนง. ครั้งที่ 2/2567 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยอีก 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 ต่อปี โดยมติเสียงข้างมากเหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และมองว่านโยบายการเงินมีผลจำกัดในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้

ปิติกล่าวว่า เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคของเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยในภาคการท่องเที่ยวมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าที่คาดการณ์กว่า 10 ล้านคนในช่วงไตรมาสแรกของปี คาดว่าในปี 2024 จะมีรายรับจากการท่องเที่ยวกว่า 1.4 ล้านล้านบาท 

ทั้งยังมีแรงส่งจากการเร่งเบิกจ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกของไทยก็จะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผลจากความต้องการสินค้าของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในภาคการส่งออกยังมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทยที่เป็นอุปสรรคอยู่

เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินคาดการณ์ว่า ในปี 2567 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.6% ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงมากนัก แต่หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ถือว่าเศรษฐกิจก็โตขึ้นเฉลี่ย 1% ต่อไตรมาส ถือเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างดี

ขณะที่เงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับต่ำ ปิติระบุว่า เป็นผลจากมาตรการพลังงานของรัฐที่ออกมาเพื่อช่วยลดภาระของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและกลุ่มเบนซิน รวมไปถึงการอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการลดค่าไฟของภาครัฐ หากไม่มีมาตรการดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในแดนบวก และแนวโน้มเงินเฟ้อจะทยอยเพิ่มขึ้นกลับสู่กรอบเป้าหมายภายในปีนี้ที่ระดับ 0.6 ทั้งในอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ดังนั้น กรรมการส่วนใหญ่จึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

Tags: , ,