อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจของเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองอย่าง ‘คริสต์มาส’ คือการที่ของขวัญ ต้นคริสต์มาส อาหาร และการเดินทางไปร่วมเทศกาล กำลังทำให้ภาวะโลกเดือด (Climate Change) ย่ำแย่ลง หลังบทวิเคราะห์จากเดอะการ์เดียน (The Guardian) เผยว่า มนุษย์แต่ละคนกำลังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการบริโภคในช่วงเทศกาลราว 513 กิโลกรัม โดยชาวอังกฤษสร้างมลพิษถึง 23 เท่า หากเทียบกับค่าเฉลี่ยในวันปกติ
ClimatePartner และ Finder กลุ่มผู้จัดทำข้อมูลในนามของเดอะการ์เดียนเผยผลสำรวจที่สอบถามชาวอังกฤษ พบว่า ‘การให้ของขวัญ’ เป็นกิจกรรมที่สร้างก๊าชเรือนกระจกมากที่สุดถึง 93% โดยหากซื้อของขวัญประมาณ 20 ชิ้น จะเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 479 กิโลกรัม ซึ่งประเภทของขวัญที่ถูกมองว่า ‘ย่ำแย่’ ที่สุดคือ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่ ‘การเดินทาง’ เป็นกิจกรรมในวันคริสต์มาสที่สร้างผลกระทบให้กับภาวะโลกเดือดเป็นอันดับสอง ซึ่งหากคิดเป็นสถิติจะพบว่า กิจกรรมข้างต้นทำให้ชาวอังกฤษ 1 คนปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 14 กิโลกรัม หรือคิดเป็น 2.7% จากทั้งหมด โดย Finder พบว่า 3 ใน 4 ของชาวอังกฤษ วางแผนเดินทางในช่วงเทศกาลด้วยรถหรือรถตู้ในระยะทาง 45 ไมล์โดยเฉลี่ย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 5% ตอบคำถามว่า ตนเดินทางด้วยเครื่องบิน
งานวิจัยยังพบอีกว่า ‘ต้นคริสต์มาส’ ครองอันดับสามในฐานะสิ่งที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดราว 2.4% หรือ 12.5 กิโลกรัม โดย ‘ต้นไม้ปลอม’ สร้างมลพิษเกือบ 3 เท่าจากค่าเฉลี่ยปกติ ขณะที่ ‘เซตเมนูอาหารในวันคริสต์มาส’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างก๊าซเรือนกระจกราว 5.2 กิโลกรัม โดยเฉพาะเครื่องดื่มมึนเมาอย่างไวน์และเบียร์ ที่สร้างผลกระทบมากกว่าอาหารทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
น่าสนใจว่า หากย้อนดูจากบทวิเคราะห์การบริโภคของชาวฝรั่งเศสในวันคริสต์มาสจากเลอมงด์ (Le Monde) ในปี 2023 จะพบว่า มีความคล้ายคลึงกันไม่น้อย โดยของขวัญเป็นสิ่งที่สร้างก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 57% โดยเฉพาะสินค้าประเภทจิวเวลรีและอิเล็กทรอนิกส์ และการเดินทางครองอันดับสองหรือคิดเป็นตัวเลข 25% ตามมาด้วยการบริโภคราว 15% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของหวานและอาหารหรู ได้แก่ ช็อกโกแลต 30,449 ตัน, เนื้อวัว 12,194 ตัน, หอยทาก 11,000 ตัน และฟัวร์กราส์ 10,015 ตัน
แน่นอนว่า จุดประสงค์ของบทวิเคราะห์ไม่ใช่การออกมาเพื่อ ‘โจมตี’ หรือ ‘สวนกระแส’ ในเทศกาลแห่งความสุข แต่เป็นการ ‘ย้ำเตือน’ ให้ฉลองคริสต์มาสอย่างมีสติ และนึกถึงผลกระทบที่ตามมา ดังที่ ริชาร์ด ฮิลล์ (Richard Hill) กรรมการผู้จัดการ ClimatePartner เผยว่า ข้อสรุปของบทวิเคราะห์คือ การสร้างความเข้าใจให้ผู้คนตระหนักผลกระทบของคริสต์มาสในเชิงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ข่าวดีก็คือ ตอนนี้เรามีหลายวิธีที่สามารถสร้างความตระหนักได้ เช่น การซื้อของขวัญมือสอง หรือซื้ออาหารน้อยลงเพื่อลดปริมาณขยะ ไม่มีเหตุผลใดที่เราจะไม่ใจดีต่อโลก รวมถึงคนที่เรารักในเทศกาลวันหยุด”
ขณะที่ เมลานี นาซาเรท (Melanie Nazareth) ตัวแทนจากกลุ่ม Christian Climate Action ตั้งข้อสังเกตว่า โลกในปัจจุบันแปรเปลี่ยนคริสต์มาสให้กลายเป็น ‘เทศกาลแห่งการบริโภค’ โดยเฉพาะการที่นายทุนเข้ามีบทบาททางสื่อและโฆษณา ซึ่งต่างล่อลวงว่า หากเราไม่ใช้เงินกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำให้คริสต์มาสไม่สมบูรณ์แบบ และทำลายความหมายของคริสต์มาสดั้งเดิมในนาม ‘เทศกาลแห่งความรัก’
“คริสต์มาสคือเทศกาลแห่งความรัก และหากเรารักเพื่อนมนุษย์ หรือเป็นห่วงเด็กที่กำลังเกิดใหม่ในวันนี้ ของขวัญที่ดีที่สุดคือการให้โลกที่ยังคงอยู่ได้กับพวกเขา” นาซาเรทยังเสริมว่า การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่หรือร้านค้า ก็ต้องร่วมกับสร้างพลังและคิดถึงผลกระทบของโลก
อ้างอิง
Tags: โลกร้อน, คริสต์มาส, ภาวะโลกเดือด, Christmas, สิ่งแวดล้อม, ขยะ, climate change