เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2022 ความตึงเครียดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นทวีความรุนแรงขึ้น หลังเรือรบจีนแล่นเข้าใกล้ ‘หมู่เกาะเซ็งกากุ’ (Senkaku Islands) หรือหมู่เกาะเตียวหยู (Diaoyu Islands) ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ
กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่า เรือรบของจีนได้แล่นเข้ามาใน ‘เขตต่อเนื่อง’ (Contiguous Zone) ของน่านน้ำญี่ปุ่นบริเวณหมู่เกาะเซ็งกากุระหว่างเวลา 7.44-7.50 น. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อขับไล่เรือรบรัสเซียที่กำลังหลบพายุไต้ฝุ่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวในเวลาไล่เลี่ยกัน
แถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเสริมว่า การกระทำของจีนมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้สังคมโลกเห็นว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุ ในแง่ที่ว่าจีนคือผู้มีสิทธิ์ควบคุมดูแลการจราจรทางน้ำบริเวณรอบหมู่เกาะ
ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2018 หรือในรอบ 4 ปีที่เรือรบจีนถูกตรวจพบใกล้กับหมู่เกาะเซ็งกากุ และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 ที่เรือรบจีนและรัสเซียมีปฏิบัติการในบริเวณหมู่เกาะเซ็งกากุพร้อมกัน
“เราได้แสดงความกังวลและยื่นคำประท้วงต่อทางการจีนผ่านช่องทางทางการทูตแล้ว นอกจากนี้ เรายังเตือนพวกเขาว่าอย่าให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก โดยเราจะตอบโต้การยั่วยุครั้งต่อๆ ไปอย่างเยือกเย็นแต่เฉียบขาด หมู่เกาะเซ็งกากุเป็นของญี่ปุ่นทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ” เซอิจิ คิฮาระ (Seiji Kihara) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวในงานแถลงข่าว
อนึ่ง เขตต่อเนื่องทางทะเลคือบริเวณที่อยู่ถัดจากทะเลอาณาเขต (Territorial Sea) เป็นระยะทาง 12 ไมล์ทะเล โดยรัฐที่เป็นเจ้าของมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับศุลกากร การคลัง การเข้าเมือง และการสาธารณสุข
ทั้งนี้ ข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุหรือหมู่เกาะเตียวหยูเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 หลังจากมีการตรวจพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบริเวณเดียวกันกับหมู่เกาะ โดยฝั่งญี่ปุ่นอ้างว่าตนมีเอกสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 1895 เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นในตอนนั้นได้อนุมัติคำสั่งผนวกหมู่เกาะเซ็งกากุเข้ากับจังหวัดโอซากา ขณะที่จีนชี้ว่าหมู่เกาะเป็นของตนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยอ้างถึงเอกสารจากยุคราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) ซึ่งมีการระบุถึงหมู่เกาะเตียวหยู
ในปัจจุบัน กรณีข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงและการต่างประเทศที่รัฐบาลจีนและญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายได้พยายามเพิ่มศักยภาพทางทหารของตน โดยเฉพาะในด้านกองทัพเรือและกองทัพอากาศ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับการปะทะที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณรอบหมู่เกาะ
ที่มา
https://www.japantimes.co.jp/news/2022/07/04/national/china-russia-warships-senkakus/
https://www.mofa.go.jp/a_o/c_m1/senkaku/page1we_000010.html
https://www.cfr.org/global-conflict-tracker/conflict/tensions-east-china-sea
Tags: Report, ญี่ปุ่น, จีน, ข้อพิพาทดินแดน, หมู่เกาะ, หมู่เกาะเซ็งกากุ