การใช้ภาษาท้องถิ่นที่ลดลงในหมู่คนรุ่นใหม่ของจีนเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้พยายามเสริมสร้างเอกลักษณ์ของจีนให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมการใช้ภาษาจีนกลาง ปัจจุบันประชากรจีนมากกว่า 80% พูดภาษาจีนกลาง เพิ่มขึ้นจาก 70% ในทศวรรษที่แล้ว และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สภาแห่งรัฐของจีนก็ได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มตัวเลขเป็น 85% ภายในสี่ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี การทำให้ภาษาจีนกลางเป็นที่นิยมและเป็นภาษาประจำชาติ อาจต้องแลกมาด้วยภาษาประจำภูมิภาคที่เสื่อมถอยลง รวมทั้งภาษาถิ่นของชาวฮั่นส่วนใหญ่ และภาษาชาติพันธุ์ เช่น มองโกเลียและอุยกูร์ ตัวอย่างเช่น กฎระเบียบท้องถิ่นในปี 2016 ของประเทศมองโกเลียได้อนุญาตให้โรงเรียนชาติพันธุ์ใช้ภาษาของตนเองในการสอน โดยนโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของนักเรียนและการปลูกฝังการพูดสองภาษา แต่สี่ปีต่อมา กลายเป็นว่าโรงเรียนกลับสนับสนุนภาษาจีนกลางเป็นหลัก จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงจากกลุ่มชาติพันธุ์ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่ภาษาชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบ ในปี 2017 การสำรวจที่เผยแพร่ทางออนไลน์แสดงให้เห็นว่า ภาษาอู๋ ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาจีน ซึ่งรวมถึงภาษาเซี่ยงไฮ้ และมีผู้ใช้ภาษาดังกล่าวประมาณ 80 ล้านคน ในภาคตะวันออกของประเทศ มีจำนวนผู้ใช้งานที่มีอายุระหว่าง 6 ถึง 20 ปี น้อยที่สุดในจำนวนกลุ่มภาษาถิ่น 10 กลุ่ม ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักภาษาศาสตร์ของภูมิภาค
ฉี เจียเย่า (Qi Jiayao) นักเคลื่อนไหวที่เติบโตในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้รณรงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นของตนเป็นเวลาหลายปี ในปี 2020 ตัวแทนทางการเมืองในท้องถิ่นได้เรียกร้องให้รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ลงทุนในการส่งเสริมภาษาท้องถิ่นเป็นผลสำเร็จ โดยรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ทำการยกระดับเทศกาลประจำปีอย่าง Huju Opera จากระดับท้องถิ่น เป็นกิจกรรมระดับเทศบาล
แม้ความสำเร็จดังกล่าวจะสนับสนุนการรณรงค์ของ ฉี และกลุ่มนักเคลื่อนไหว แต่เขาก็ต้องพบความเป็นจริงเกี่ยวกับ ‘กำแพง’ ที่พวกเขาไม่สามารถข้ามไปได้ โดยในปี 2014 รายการทีวี Shanghai Dialect Talk บน Shanghai Doco TV ถูกถอดออก หลังจากรัฐบาลยืนยันที่จะใช้ภาษาจีนกลางเป็นมาตรฐานสำหรับช่องทีวีที่จะออกอากาศทั่วประเทศ ซึ่งกฎหมายของจีนป้องกันไม่ให้ช่องทีวีดาวเทียมออกอากาศในภาษาท้องถิ่น
ในปี 2000 จีนได้ออกกฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานภาษาพูดและภาษาเขียน ในแต่ละจังหวัด คณะกรรมการภาษาจะให้คำแนะนำ ตรวจสอบ และควบคุมการใช้ภาษาจีนกลาง ทั้งยังมีความเข้มงวดของการดำเนินการแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวนได้สั่งห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของพรรคในการใช้ภาษาท้องถิ่นในที่ทำงาน ซึ่งเป็นภาษาที่เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) อดีตผู้นำสูงสุดเคยใช้ในรายการทีวีแห่งชาติ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1997
“รัฐกำลังบอกผู้คนว่า มีประโยชน์ที่มองเห็นและจับต้องได้ จากการพูดภาษาจีนกลางแบบมาตรฐาน” ฟาง สุย (Fang Xu) นักมานุษวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และผู้เขียนหนังสือ Silencing Shanghai: Language and Identity in Urban China กล่าว “ตั้งแต่นั้นมา ภาษาประจำภูมิภาคหลายภาษา รวมถึงภาษาเซี่ยงไฮ้ ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน”
สิ่งที่สนับสนุนคำพูดของ ฟาง สุย คือการศึกษาในปี 2010 โดยมหาวิทยาลัยปักกิ่งยูเนี่ยนที่พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของชาวปักกิ่งในท้องถิ่นที่เกิดหลังปี 1980 ชอบใช้ภาษาจีนกลางมากกว่าภาษาปักกิ่ง
ในทางหนึ่ง ฟาง สุย มองว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้ายทั้งหมด โดยเธอกล่าวว่า ในอดีต ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเซี่ยงไฮ้มักรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกัน เนื่องจากไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ แต่ทุกวันนี้ การกีดกันทางสังคม (social exclusion) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาษาพูดหรือสถานะที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่หมายถึงเรื่องของความมั่งคั่ง “ปัจจุบันคนที่รวยที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่คนเซี่ยงไฮ้ด้วยซ้ำ” เธอกล่าว
Tags: ภาษาจีน, ภาษาท้องถิ่น, Report, Global Affairs, จีน, Mandarin