ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน วิกฤตการณ์ด้านอาหารโลกและพลังงาน การระบาดของโควิด-19 และโรคฝีดาษลิง ตอนนี้ประเทศจีนยังคงเดินหน้าเต็มกำลังที่จะรวบ ‘เขตบริหารพิเศษฮ่องกง’ และ ‘ไต้หวัน’ กลับเข้าสู่การปกครองของตนตามนโยบาย ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’
หลังจากจีนกลับมาควบคุมฮ่องกงได้อย่างเบ็ดเสร็จภายใต้ ‘กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ปี 2020’ มีรายงานว่า เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงกำลังปรับแก้แบบเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ ด้วยการระบุว่า “ฮ่องกงไม่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ” เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่ยอมรับข้อตกลงในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จะต้องยกฮ่องกงให้กับอังกฤษ รวมถึงข้อมูลที่ระบุว่าฮ่องกงคือดินแดนของจีนมาตั้งแต่ยุคโบราณ แม้หลังสงครามฝิ่นจบลง จีนที่เป็นผู้แพ้สงครามจะต้องยอมยกฮ่องกงให้อังกฤษในปี 1842 แต่ดินแดนนี้ก็ยังคงเป็นของประเทศจีน เพราะจีนไม่เคยยกอำนาจอธิปไตยในฮ่องกงให้กับใคร
หากเทียบเคียงข้อมูลในแบบเรียนดังกล่าวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หลังจีนยกฮ่องกงให้อังกฤษเพราะแพ้สงคราม ต่อมาช่วงปี 1898 สหราชอาณาจักรได้เช่าดินแดนที่เรียกกันว่า ‘นิวเทอร์ริทอรีส์’ (New Territories) ที่ระบุถึงสัญญาส่งคืนให้จีนใน 99 ปี จนช่วงปลายศตวรรษที่ 20 รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการขยายเวลาเช่านิวเทอร์ริทอรีส์ต่อไป อังกฤษจึงคืนทั้งเกาะฮ่องกงและเกาลูนให้กับจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ส่วนจีนตกลงปกครองฮ่องกงโดยใช้นโยบายหนึ่งประเทศ สองระบบ ทำให้ฮ่องกงจะมีสภาฯ พรรคการเมือง กฎหมาย และระบบเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ส่วนอำนาจด้านกลาโหมและกิจการต่างประเทศจะเป็นหน้าที่ของจีนแผ่นดินใหญ่ และจะให้เสรีภาพและความเป็นอิสระแก่ฮ่องกงเป็นเวลา 50 ปี
ทว่าระยะเวลาอันยาวนานที่จีนไม่ได้ปกครองฮ่องกง ส่งผลให้ชาวฮ่องกงมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต มีระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจ ไปจนถึงความเชื่อและอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตัวเองอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมานานแล้ว และพยายามยืนยันว่าพวกเขามีสิทธิที่จะเลือกระบบการปกครองของตัวเอง ความมุ่งมั่นนี้คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในฮ่องกง ก่อนการประท้วงจะจบลงด้วยการปราบปรามของรัฐบาลฮ่องกงภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน
เวลานี้ฮ่องกงมีผู้นำที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลจีน กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่บังคับใช้อยู่ทำให้คนที่คิดจะเล่นการเมืองต้องแสดงตัวว่าภักดีต่อจีน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าสู่สภาฯ ได้ กฎหมายที่เข้มงวดรัดกุมห้ามประชาชนจัดการชุมนุม ห้ามแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เกิดความแตกแยก ห้ามกระทำการใดๆ ที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามายุ่งกับกิจการภายใน หรือการกระทำที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน หากพบว่าการกระทำใดเข้าข่ายมีความผิดจะถูกลงโทษสถานหนัก
ขณะที่กฎหมายความมั่นคงฉบับปี 2020 ยังคงถูกบังคับใช้อยู่ จีนก็ได้พยายามเปลี่ยนแปลงแบบเรียนในฮ่องกงด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ รัฐบาลมองว่าความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มีขอบเขตจะนำพาเยาวชนไปสู่ความขัดแย้งและทำให้เกิดการประท้วงแบบไม่รู้จบ จึงทำให้เราเห็นแบบเรียนที่ระบุว่าฮ่องกงไม่เคยเป็นของอังกฤษ หรือแบบเรียนที่เขียนถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2019 ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมวลชนหัวรุนแรงที่ต้องการจะล้มล้างรัฐบาล ถือเป็นภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติและกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของฮ่องกง
ปลายปี 2021 สำนักงานการศึกษาฮ่องกง (EDB) ยื่นหนังสือเวียนแก่โรงเรียนในฮ่องกง โดยข้อมูลในเอกสารเผยภาพกราฟิกนกฮูก ทหารจีน จิตรกรหญิง วิศวกร และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นช่วยให้คำแนะนำแก่เด็กๆ เพื่อให้เยาวชนฮ่องกงทำความเข้าใจต่อหน้าที่พลเมืองของตัวเองภายใต้บ้านเมืองที่ยังบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ พร้อมให้เหตุผลถึงการปรับหลักสูตรใหม่ว่า ‘เพราะความมั่นคงของชาติไม่ใช่เรื่องที่สามารถถกเถียงหรือประนีประนอมได้’
โรงเรียนอนุบาลทั้งรัฐและเอกชนจะต้องปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนให้มากขึ้น เพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์จีน วัฒนธรรมจีน และการศึกษาด้านศีลธรรม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของเด็กๆ ในฐานะชาวจีน เด็กชาวฮ่องกงที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับเนื้อหาทางวิชาการฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจพัฒนาการของประเทศ ความสำคัญของความมั่นคงในชาติ เรียนรู้เรื่องธงชาติ เพลงชาติ สัญลักษณ์ประจำชาติ และทำความรู้จักกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้น
หนึ่งในที่ปรึกษาคนสนิทของ แคร์รี แลม (Carrie Lam) ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงคนก่อน กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ว่า “ปัญหาที่พบในเวลานี้คือคนหนุ่มสาวทั้งรุ่นต่อต้านจีน แล้วแบบนี้หนึ่งประเทศ สองระบบจะเดินหน้าต่อได้อย่างไร หากคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยหนึ่งเกลียดตัวตนของตัวเอง” ขณะที่แลมเองเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาฮ่องกงว่า เธอทนไม่ได้ที่เห็นกลุ่มการเมืองพยายามแทรกแซงไปตามโรงเรียนเพื่อชักจูงเยาวชนฮ่องกงให้ออกมาสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง รัฐบาลจะต้องหาแนวทางปฏิบัติที่จะปกป้องนักเรียน ก่อนส่งต่อแนวคิดและอำนาจปกครองที่เคยมีในมือให้กับ จอห์น ลี (John Lee) นักการเมืองที่ขึ้นเป็นผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงคนใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวฮ่องกงไม่ได้เลือกตั้งมา แต่ถูกเลือกโดยรัฐบาลจีนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping)
ตอนนี้อาจเรียกได้ว่าสถานการณ์ในฮ่องกงถูกจีนควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่จีนแผ่นดินใหญ่แสดงความต้องการว่าจะต้องควบรวมกลับมาให้ได้คือ ‘ไต้หวัน’ หลังเกิดข้อพิพาทจากการมีปากเสียงกันอยู่บ่อยครั้งของตัวแทนสองรัฐบาล ทั้งการใช้ ‘มาตรการโดดเดี่ยวไต้หวัน’ หรือการเน้นย้ำเสมอมาว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมาของ หลิว เจียอี้ (Liu Jieyi) ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ระบุว่า ตอนนี้จีนกำลังแข็งแกร่งขึ้นในทุกๆ ด้าน ส่งผลให้ภารกิจเกี่ยวกับการรวมไต้หวันดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพจนเริ่มเห็นภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ หลิว เจียอี้ยังเอ่ยถึงกลุ่มคนที่สนับสนุนอธิปไตยไต้หวันด้วยการเรียกว่า ‘โปรไต้หวัน’ และกล่าวเตือนว่า อีกไม่นานคนที่เชื่อว่าไต้หวันมีเอกราชจะต้องถูกปราบปรามอย่างรุนแรง เพราะจีนจะไม่มีวันยอมให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเรื่องดังกล่าวได้ ตอนนี้สถานะของไต้หวันไม่ต่างอะไรกับมณฑลหนึ่งของจีนที่ทำตัวกระด้างกระเดื่อง หากตกอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับรัฐบาลอาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อทำให้ไต้หวันกลับคืนสู่การปกครองดังเดิม แม้รัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังคงยืนยันจะรวมชาติด้วยกระบวนการสันติวิธีภายใต้หลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ารัฐบาลจะไม่เลือกใช้วิธีการทางทหารกับไต้หวัน
ในปี 2021 พลเอก ฟิลิป เดวิดสัน (Philip Davidson) นายทหารระดับสูงสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เคยวิเคราะห์ว่าภายใน 6 ปีนับจากนี้ จีนจะเร่งวางแผนเพื่อยึดไต้หวันกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งข้อสันนิษฐานของนายทหารสหรัฐฯ ถือว่าไม่ได้เหนือความคาดหมายเสียเท่าไร เนื่องจากรัฐบาลจีนก็ไม่ได้ปิดบังความต้องการทวงคืนไต้หวันและฮ่องกงตั้งแต่แรก ซ้ำยังแสดงออกผ่านการกระทำต่างๆ เช่น การส่งเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดล้ำเส้นเข้ามายังเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันเสมอ
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน (Joe Biden) ถูกสื่อมวลชนถามถึงจุดยืนที่มีต่อจีนและไต้หวันระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่น เขาตอบคำถามว่า หากวันใดวันหนึ่งไต้หวันถูกจีนโจมตี รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้การปกป้องทางทหารแก่ไต้หวัน ก่อนตัวแทนทำเนียบขาวจะออกมาปรับแก้คำให้สัมภาษณ์ด้วยการกล่าวว่า สหรัฐฯ จะยึดมั่นตามนโยบายคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ต่อไป
สถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวันยังคงถูกประชาคมโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด แม้สถานการณ์โลกในตอนนี้จะมีเรื่องราวเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งวิกฤตเงินเฟ้อ โรคระบาด ความตึงเครียดระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล การซ้อมยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ความวุ่นวายในสหรัฐฯ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่หากวันใดวันหนึ่งเกิดการโจมตีขึ้นที่ไต้หวันจริงๆ หลายชาติจำต้องได้รับผลกระทบตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เวลานี้หลายฝ่ายที่เฝ้าดูเหตุการณ์ต่างพยายามประคองความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันไม่ให้ดำเนินไปถึงจุดปะทุ รวมถึงตัวของไต้หวันเองที่พยายามรับมือกับการรุกรานของจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างสุดความสามารถ เพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้ำรอยอย่างที่ฮ่องกงกำลังเผชิญอยู่
ที่มา
– https://themomentum.co/hong-kong-security-education-2021/
– https://www.washingtonpost.com/world/2022/06/22/hong-kong-education-beijing-colony/
Tags: ข่าวต่างประเทศ, Xi Jinping, Hong Kong, Report, China, Politics, The Momentum, Taiwan, Global Affairs