ว่ากันว่าทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ ‘ทรัพยากรมนุษย์’ เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคมและโลกให้ก้าวหน้าไปข้างหน้า ประเทศใดก็ตามที่มีทรัพยากรมนุษย์ศักยภาพสูงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้รุดหน้าไปได้มากกว่าประเทศอื่น
กอปรกับยุคสมัยที่ประชากรหลายประเทศมีอัตราการเกิด (Birth Rate) ต่ำ ทำให้ความสำคัญของการสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีกระดับ ดังนั้นแล้วหนึ่งในวิธีการเสริมสร้างการพัฒนาและติดอาวุธให้กับทรัพยากรมนุษย์คือ การให้การศึกษาที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตามในสังคมทุนนิยมที่บีบบังคับให้พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเช้ากินค่ำ หลายครั้งทำให้ไม่สามารถอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงลูกหลานได้อย่างเต็มที่เต็มเวลา ทำให้ ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก’ จึงเป็นทางออกของหลายครอบครัวที่เลือกนำลูกหลานไปฝากไว้
คำถามที่สำคัญคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของไทยทุกวันนี้ มีศักยภาพเพียงพอที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่
เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ The Momentum จึงต่อสายไปยัง ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของคณะก้าวหน้าที่มีความสนใจในประเด็นดังกล่าว เพื่อชวนหาคำตอบของคำถามที่ว่า รวมถึงแนวทางการทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
กุลธิดาเริ่มเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการมีอยู่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ฟังก่อนว่า เป็นบริการสาธารณะในยามที่หลายครอบครัวไม่สามารถดูแลเด็กได้ เนื่องจากต้องออกไปทำงานในแต่ละวัน
“สังคมที่พ่อแม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ จึงมีความจำเป็นมากๆ ที่ต้องมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ โดยตัวพ่อแม่จะได้สบายใจในการฝากลูกหลาน หรือตัวเด็กเองที่สามารถเติบโตได้ตามพัฒนาการ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อสังคมภาพรวมจะได้มีคนที่ออกมาขับเคลื่อน เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ สร้างผลิตผลของประเทศได้เพิ่มขึ้น”
การมีอยู่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะสามารถช่วยพ่อแม่มือใหม่ที่ไม่รู้วิธีการเลี้ยงลูกให้มีประสิทธิภาพได้ เพราะเด็กจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ
“เวลาเราพูดว่า เลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้คนทั้งหมู่บ้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะเป็นตัวอย่างนั้น” ครูจุ๊ยกล่าวโดยสรุป
แต่ปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในประเทศไทย คือส่วนใหญ่เปิดรับเด็กที่มีอายุเพียง 2-3 ปี ทำให้ยังมีช่องโหว่ของช่วงวัยที่ต้องได้รับการดูแลอยู่
“หลักการขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) บอกว่า ควรจะเริ่มจาก 6 เดือน ให้เด็กทันการดื่มนมแม่ก่อน เพราะเด็กที่เล็กมากควรจะได้สร้างสายใยความสัมพันธ์กับคุณแม่ แต่ว่าไม่ได้เป็นไปตามสวัสดิการรัฐไทยที่ให้แม่ลางานได้ 90+8 วัน
“คำถามคือ คุณแม่บ้านไหนจะสามารถทำได้ถึง 6 เดือน เพราะหมายความว่า อีก 3 เดือนคุณต้องไม่ทำงาน ไม่มีรายได้ ยิ่งประเทศเราไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รับเด็กเล็กมากด้วย ภาวะที่เป็นหลุมดำอยู่ตอนนี้แปลว่า เด็กไทยจำนวนมากกว่าครึ่งถูกส่งไปอยู่กับปู่ย่าตายาย”
ดังนั้นสภาพการณ์ปัจจุบันของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในไทยจึงสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
- ศูนย์พัฒนาเด็กไม่ครบลูป (Loop) กล่าวคือ การดูแลเด็กขาดตอนไปช่วงหนึ่ง แน่นอนว่าการดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องสาธารณสุข ไม่ใช่เรื่องการพัฒนาการมากเท่ากับโรงเรียน เพราะการดูแล ‘เด็กจิ๋ว’ เป็นเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทำให้พวกเขาเบิกบาน แต่ในประเทศไทย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุ 0-2 ปีนั้นขาดหายไป
- รัฐลงทุนไม่เพียงพอกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กุลธิดายกข้อเสนอจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) ที่ระบุว่า งบประมาณในส่วนของการดูแลเด็กควรจะมีขนาดที่ 1% ของขนาด GDP ประเทศ
“ถ้าเราดูดีๆ งบประมาณส่วนที่ใช้ไปกับการดูแลเด็กเล็ก บางงานวิจัยระบุว่า รวมกันแล้วไทยใช้เพียง 0.4% ของขนาด GDP ซึ่งนับว่าน้อย ในปี 2562 งบประมาณมีเพียง 5.8 หมื่นล้านบาท ถ้าเรานำตัวเลขนั้นไปคิดเป็นรายหัว รัฐไทยอุดหนุนเด็กเล็กแค่ 2.2 หมื่นบาทต่อปี
“พอเราขาดงบประมาณก็นำมาสู่ปัญหาอื่น เช่นการบริหารจัดการศูนย์ให้มีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่ง ณ ตอนนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ภายใต้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ก็จะมีระเบียบเต็มไปหมด ติดทั้งเรื่องการพัฒนาคุณครูให้มีองค์ความรู้ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่นปัจจุบันเกิดสถานการณ์เด็กติดจอที่จะเกิดภาวะสมาธิสั้นเทียม”
ครูจุ๊ยยังเล่าถึงประสบการณ์ทำงานให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ที่สัมผัสมายังไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่พร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว แม้ว่าจะมีการจัดอบรมครูอยู่เรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่เป็นการทำงานตามเอกสาร ไม่ใช่เป็นการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรหน้างานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
อีกทั้ง ‘ระเบียบการจ้างงาน’ ก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะรัฐไม่สามารถจ้างครูพี่เลี้ยงเป็นข้าราชการประจำได้ หากพวกเขาไม่มีวุฒิครุศาสตรบัณฑิต หรือศึกษาศาสตรบัณฑิต ‘อนุบาลศึกษา’ (วุฒิปฐมวัย)
“ข้าราชการอย่างน้อยต้องมีวุฒิปฐมวัยเท่านั้น ถามว่าถ้าไม่มีวุฒิปฐมวัยจะทำอย่างไร ก็ต้องกลายเป็นอัตราจ้างหรือการจ้างงานอาชีพลักษณะอื่น นั่นหมายความว่า พวกเขาจะไม่มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path)
“ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ครูพี่เลี้ยงเหล่านี้มี Career Path ได้ เช่น จัดระบบการสอบวัดองค์ความรู้ หรือทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองได้เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดหายไปพร้อมกับงบประมาณ” ครูจุ๊ยกล่าว
3. ปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้ตอบโจทย์พ่อแม่ แต่ตอบโจทย์ระบบราชการ กล่าวคือ เวลาเปิด-ปิดของศูนย์เป็นไปตามเวลาราชการคือ 15.00 น. ซึ่งไม่ตรงกับเวลาทำงานของผู้ปกครอง
“ดังนั้นส่วนนี้ต้องพูดคุยและปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้ปกครองในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเมืองท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเยอะๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่เปิดบริการวันเสาร์-อาทิตย์ พ่อแม่ที่จังหวัดภูเก็ตทำงานโรงแรม มีชีวิตเป็นกะ (Shift Work) ใช้ชีวิตอย่างไร ก็ต้องไปฝากลูกที่อื่นที่ไม่ใช่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ดี”
กุลธิดายังยกตัวอย่างพื้นที่ที่คณะก้าวหน้ามีการนำร่องทำงานด้วยคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชิงทะเล จังหวัดภูเก็ต ที่ใช้วิธีการสำรวจความต้องการของประชาชน โดยพบว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงอยากอยู่กับลูกหลานในวันอาทิตย์ นั่นแปลว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องเปิดบริการ 6 วัน ส่วนเวลาปิดก็อาจจะอยู่ในช่วงเย็นมากกว่าเดิม
ปัจจุบันส่วนนี้ยังไม่มีเป็นระเบียบราชการ แต่ก็บริหารการจัดการด้วยวิธีอื่นเช่นเดียวกัน เช่นการจ่ายเงินเพิ่มรายชั่วโมงให้ครูเพื่อดูแลเด็กๆ โดยกุลธิดามองว่า หลายท้องถิ่นสามารถทำได้เลย แต่หากท้องถิ่นใดมีงบประมาณจำกัดก็จะท้าทายมากขึ้น
แล้วจาก 3 ประเด็นปัญหาดังกล่าว สามารถแก้ไขเพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง – ผู้เขียนถามต่อ
กรรมการคณะก้าวหน้าให้คำตอบว่า งบประมาณที่ลงไปยังท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะหน่วยงานท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ดังนั้นหากจะทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม ดังนี้
- เพิ่มส่วนสวัสดิการพ่อแม่ – เป็นที่รู้กันดีว่าการเลี้ยงลูกคนหนึ่งมีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันบอร์ดประกันสังคมได้เพิ่มค่าเบี้ยดูแลเด็กเป็น 1,000 บาท/คน/เดือน
“ต้องลองดูว่ามันมีช่องทางไหนเพิ่มเบี้ยอุดหนุนเด็ก และดูว่าจะทำอย่างไรให้การเบิกจ่ายราบรื่น รวดเร็ว และง่ายมากที่สุด เพราะรัฐมีข้อมูลอยู่แล้วว่าครอบครัวใดมีเด็กเล็กอยู่แล้ว ดังนั้นมันควรถูกทำให้ง่ายมากที่สุด เพื่อให้ครอบครัวทุกครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการนี้ได้โดยตรง”
2. จัดสรรงบประมาณปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก – เพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน และมีอุปกรณ์เสริมการพัฒนาการของเด็ก
“จุ๊ยไปดูงานหลายประเทศมาก เรามีโอกาสได้คุยกับครูหลายประเทศ อุปกรณ์เหล่านี้มันไม่ได้แพง ความแพงไม่ใช่ประเด็น แต่ ‘ความเข้าใจ’ ว่าต้องมีอะไรบ้าง ในพื้นที่แบบใดบ้าง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและผู้บริหารท้องถิ่นเองต้องเข้าใจ
“บางทีเราเจอศูนย์บางแห่งมีขนาดเล็กมาก แต่เอาบ้านบอลไปตั้งไว้ใหญ่เต็มพื้นที่ การใช้พื้นที่ตรงนั้นควรเป็นพื้นที่ให้เด็กได้วิ่งเล่น กลับกลายเป็นเหลือพื้นที่วิ่งเล่นในสัดส่วนที่เล็กน้อย”
กุลธิดาย้ำว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดีต้องมีความปลอดภัยทุกมิติ เพราะพวกเขาคือ ‘เด็กเล็ก’ ความปลอดภัยในที่นี้ต้องปลอดภัยตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ พื้นที่ การเข้า-ออกศูนย์ฯ ที่ต้องมีการบันทึก ถ้าไม่ใช่บุคลากรของศูนย์ฯ รวมถึงการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบุคลากรที่ต้องทำงานกับเด็ก อย่างประเทศออสเตรเลียทำ
“จุ๊ยทำงานกับนายก อบต. นายกเทศบาลมาเยอะ เขาจะงงในตอนแรกว่า แล้วศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมันจะต้องทำอย่างไร มันต้องพัฒนาท่าไหน คือเขาจะนึกออกแค่ว่าก็ซื้อเครื่องเล่น ปรากฏว่าบางศูนย์ฯ มีเครื่องเล่นเต็มเลย แต่ไม่มีที่วิ่งเล่น
“ดังนั้นต้องอัปเกรดองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ผู้บริหารท้องถิ่นและคุณครูกองการศึกษาทั้งระบบ เพื่อลงทุนให้ถูกจุด
“ในเรื่องของบุคลากร ต้องไปร่าง Career Path ให้ครูพี่เลี้ยงเพื่อให้ชัดเจนว่า เส้นทางที่จะไปเป็นข้าราชการ หรือไปเป็นครูบรรจุ พวกเขาต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ต้องไปปรับให้เหมาะกับยุคสมัย เพื่อให้พวกเขามี Career Path และชีวิตที่มั่นคง” กุลธิดาเสนอ
“เอาจริงๆ จุ๊ยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องยาก แค่ต้องการคนที่เป็น ‘หัวหอก’ ที่จะทำ เพราะตอนนี้ภาคประชาสังคมเขาเห็นด้วย พวกเขาพูดกันมาหมดแล้ว ยิ่งเด็กเกิดน้อยลง ยิ่งต้องมีทรัพยากรมาดูแลเด็กต่อหนึ่งคนมากขึ้น แต่พอระบบงบประมาณมันเป็นรายหัวก็จะน้อยลงเรื่อยๆ อันนี้ต้องกลับมาคิดกันใหม่ รัฐจะไปเติมอย่างไร ก็ต้องหาวิธีเติม ซึ่งงบประมาณเราสามารถทำได้ แต่เสียไปกับอะไรก็ไม่รู้ตั้งเยอะแยะ” กุลธิดากล่าวต่อ
เมื่อถามถึงสิ่งที่กุลธิดาอยากเน้นย้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีคุณภาพมากขึ้น เขาให้คำตอบว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจกับความท้าทายของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ ‘ภาวะเด็กติดจอ’ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในอนาคตของเด็กในวันที่พวกเขาโตขึ้น
“ภาวะเด็กติดจออาจจะทำให้พวกเขามีทักษะการอ่านที่ช้าหรือแย่ลง ส่วนนี้จะทำให้เขาลำบากมากขึ้น เราอยากเห็นการแก้ไขตรงปัญหานี้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย ต่างประเทศก็เกิดเหมือนกัน แต่เขาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้มาก”
ครูจุ๊ยเล่าให้ฟังถึงตัวอย่างการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากกรณีที่ อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ (Alexander Stubb) ประธานาธิบดีฟินแลนด์คนปัจจุบัน เชิญแขกมางานวันชาติ โดยปีนี้เขาเชิญแขกเป็นคุณครูโรงเรียนต่างๆ เข้ามาร่วมงาน นั่นแปลว่าเขากำลังขยับประเด็นนี้อย่างเข้มข้น เพื่อบอกทั้งประเทศว่า เรื่องนี้สำคัญและต้องทำ
“รัฐต้องเข้าใจว่า การพัฒนาเรื่องการอ่าน การเอาหนังสือใส่มือเด็กแทนโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เป็นเรื่องคุณครูอย่างเดียว แต่เป็นเรื่อง ‘ที่บ้าน’ ด้วย องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องทำงานกับที่บ้านด้วย โดยที่รัฐต้องอุดหนุนทรัพยากรอย่างเพียงพอ และทำออกมาเป็นไกด์ไลน์หลวมๆ เพื่อให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีแนวทางปฏิบัติ เหล่านี้จำเป็นต้องทำด้วยความเข้าใจ เพราะต้องเข้าใจว่าเด็กเล็กอยู่กับที่บ้านมากกว่าที่ศูนย์เด็กเล็ก” เขากล่าว
สิ่งสำคัญที่สุดกุลธิดามองว่า ตัวผู้ใหญ่ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองว่า ต้องดูแลเด็กที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ ผู้ใหญ่ต้องเคารพความเป็นเด็กของพวกเขา เพราะช่วงเวลาเยาว์วัยนั้นอยู่ไม่นาน อีกทั้งต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่ควรจะได้รับ เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างสวยงาม
“เพราะนั่นคือของขวัญสำหรับวันเด็กที่ดีที่สุด” ครูจุ๊ยกล่าวทิ้งท้าย
Tags: คณะก้าวหน้า, วันเด็กแห่งชาติ, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, ครูจ๊ย, กุลธิดา