วันนี้ (5 เมษายน 2565) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างลงพื้นที่ชุมชนมาชิม ชุมชนรื่นฤดี และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ บริเวณเพลินจิต ว่าทั้ง 3 ชุมชน เป็นตัวอย่างของชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้แต่มองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น หากตั้งต้นจากสุขุมวิทซอย 1 แล้วเลี้ยวเข้ามาบริเวณทางรถไฟบริเวณเพลินจิต จะมีชุมชนมาชิม ซึ่งเป็นชุมชน 370 หลังคาเรือน หลังจากนั้นจะเจอชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ ซึ่งมีบ้านอยู่ 100 หลังคาเรือน และหากเลี้ยวไปยังบริเวณคลองแสนแสบก็จะเจอชุมชนรื่นฤดี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในใจกลางเมือง และในกรุงเทพฯ ก็มีชุมชนในลักษณะนี้กระจายอยู่ทั่วไปกว่า 2,000 ชุมชน สำหรับชุมชนแออัดและเปราะบางนั้นมีประมาณ 900 ชุมชน และมีประชากรอยู่ในชุมชนเหล่านี้หลายแสนคนทั่วกรุงเทพฯ

“ถ้าเราไม่ตั้งใจดู​ เราจะไม่เห็น เขาก็จะแอบซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆ แต่เขาเหล่านี้ เป็นคนสำคัญที่ขับเคลื่อนเมือง เป็นแม่บ้าน เป็น รปภ. ทำอาหาร เป็นแม่ครัว ร้านค้าเหล่านี้ก็มีคนเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อน เขาอยู่ไกลงานไม่ได้ เขาต้องไปทำงานใกล้ๆ เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีเวลาในการเดินทาง กลุ่มนี้ เรื่องเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง มีคนตกงานไปสองปี ประธานชุมชนมาชิมตกงานไป 2 ปี ไปขายลอตเตอรี่แทน ภรรยาก็ตกงาน เจ้าของรถตู้ 3-4 คันก็ตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ที่ กทม. ควรต้องดูแล

“หากเข้าไปในชุมชน ก็จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุที่เย็บผ้าเก่งหลายคน มีจักรเย็บผ้าอยู่กับบ้าน แต่ไม่สามารถหาความต้องการลูกค้าได้ ต้องคิดว่าเป็นไปได้ไหม ที่เราจะหาความต้องการ เช่น บริเวณเพลินจิต มีออฟฟิศอยู่เยอะแยะมาก แต่เขาไม่รู้ว่าคนตรงนี้เย็บผ้าเก่งอยู่เต็มไปหมด เขาอาจจะเอาผ้ามาให้แก้ไข หย่อนแล้วเย็นกลับบ้านก็แวะรับกลับไป หรือ กทม. เป็นตัวเชื่อมความต้องการให้กับชุมชนได้ไหม ชุมชนมีช่างน้ำ ช่างไฟ หลายคนทำอาหารได้ ถ้าออฟฟิศสั่ง มีแอพฯ ส่ง ก็ส่งถึงออฟฟิศได้ ทั้งหมด กทม. สามารถเป็นโซ่ข้อกลางกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หรือจ้างงานในชุมชนได้”

ชัชชาติยังระบุอีกว่า ปัจจุบันมีเด็กในชุมชนจำนวนมากที่ต้องวิ่งเล่นริมทางรถไฟ เพราะไม่มีสนามเด็กเล่นใต้ทางด่วน เพราะที่ดินใต้ทางด่วนกลายเป็นที่ทิ้งขยะหรือที่จอดรถเลอะเทอะ ซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะ คำถามก็คือมีสนามเด็กเล่นเล็กๆ ให้คุณภาพชีวิตเด็กๆ ดีขึ้นได้หรือไม่ หากทำได้ ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กๆ ได้เลย

สำหรับอีกข้อที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ได้แก่ ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน ชุมชนหลายแห่งตั้งขึ้นไม่ถูกกฎหมาย และไม่ได้จดทะเบียน กทม. สามารถร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ให้ชุมชนเหล่านี้เริ่มออม เริ่มทำสหกรณ์ออมทรัพย์ และหากเริ่มออมได้ 10% พอช. ก็สามารถให้เงินกู้ ไปหาที่ดินเช่าระยะยาว เพื่อหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นให้กับชุมชนเหล่านี้ เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเหล่านี้ให้ดีขึ้นได้ เพราะถ้ายังอยู่ในที่ที่ไม่มั่นคง ก็คงไม่มีใครมีใจทำบ้านให้ดีขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะถูกไล่ที่เมื่อไร

“ก่อนหน้านี้ การยกระดับชุมชนแออัด ที่ผ่านมา กทม. รู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง เป็นหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงอื่น เป็นหน้าที่การเคหะแห่งชาติ แต่สำหรับผม กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพ เพราะเราคือเจ้าบ้าน เจ้าของที่ 2,000 ชุมชนอยู่ที่ไหน ก็อยู่ใน กทม. เพราะฉะนั้น กทม. ต้องคิดว่าจะเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไง มันง่ายที่เราไม่คิดถึงเขา แต่ถ้าคิดถึงเขา เราเปลี่ยนชีวิตเขาได้”

ชัชชาติยังยกตัวอย่างด้วยว่า กทม. ยังสามารถช่วยเหลือชุมชนแออัดในเรื่องของอาหาร เช่น การจัดแปลงเกษตรให้บริเวณริมทางรถไฟ หากปลูกผักได้ ทำการเกษตรได้ ก็สามารถปลูกผักกินเอง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ หรือสามารถนำผักไปขายได้ เป็นการสร้างงาน สร้างอาหาร และถ้ามีพืชผล มีความมั่นคงทางอาหารก็เปลี่ยนเป็นเงินได้ เปลี่ยนเป็นธุรกิจได้ ทั้งหมดอยู่ในนโยบายที่คิดมา

“เศรษฐกิจดีคือหัวใจเมือง ถ้าเราเอาเงินไปให้ไม่มีทางเต็ม แต่ถ้าเราช่วยในแง่ความรู้ ให้เขาเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เค้กจะก้อนใหญ่ขึ้น เราไม่ต้องช่วยเขาเยอะ แต่เขาสามารถมีกำลัง มีความภูมิใจ ในการช่วยตัวเอง กทม. ต้องดูในมุมนี้มากขึ้น

“ต้องบอกเลยว่าประชาชนในชุมชนแออัดนี่เก่งและโคตรเก่ง เขาสามารถมีชีวิตรอดได้โดยทรัพยากรที่จำกัดมาก เด็กในชุมชน เราเห็นเด็ก ม.4 ที่ขายของริมทางรถไฟ เรียนได้ที่ 2 เกรด 3.96 ยังช่วยพ่อแม่ขายของได้ เราเห็นเขา ไม่ใช่เราให้กำลังใจเขานะ เขาให้กำลังใจเราด้วยซ้ำ เราเห็นว่าเขาพร้อมที่จะกระโดดขึ้น ถ้าได้แรงช่วยเหลือที่เหมาะสมจากภาครัฐ เขาอยู่ในทรัพยากรที่จำกัดอยู่แล้ว ถ้าเราช่วยด้วยทรัพยากรที่เหมาะสม ก็เหมือนเป็นคานงัด งัดให้เขามีโอกาสมากขึ้น ผมว่าเขาพร้อม นวัตกรรมหลายอย่างไม่ได้มาจากห้องแล็บ แต่มาจากชีวิตของคนที่มีทรัพยากรจำกัดในการหาทางรอด อาจไม่ได้ดี 100% ทันตาเห็น แต่ภาครัฐสามารถช่วยเขาได้”

ชัชชาติยังบอกอีกด้วยว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ เขาจะเร่งนำงบประมาณเข้าไปช่วยสำนักพัฒนาสังคม กทม. มากขึ้น มากกว่าจะลงทุนแต่ในเมกะโปรเจ็กต์ โดยหากสามารถลงทุนใน ‘เส้นเลือดฝอย’ จำนวนเงินอาจไม่มาก แต่โดยผลลัพธ์ สามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้มาก อาจนับเป็นก้าวกระโดดในระดับชุมชนเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ก้าวแรกจึงต้องตั้งใจจริง และเข้าใจปัญหาของชุมชนก่อนในเบื้องต้น

ภาพ: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Tags: , , , , ,