วันนี้ (22 มิถุนายน 2565) ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวตอนหนึ่งในงาน ‘สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand’ ซึ่งเครือมติชนจัดขึ้นว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 7.9 หมื่นล้านบาทนั้นมีการจัดทำขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว และเมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ก็พบว่ามีการเตรียมงบประมาณเสร็จแล้ว จึงไม่มีเวลาเข้าไปแก้ไขงบประมาณที่ตั้งไว้ สิ่งที่ทำได้คือการนำงบประมาณทั้งหมดมาจัดกรอบ แล้วจัดทำเป็นไฟล์ Excel เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้ง่าย
ชัชชาติกล่าวอีกว่า ใน 7.9 หมื่นล้านบาทนั้น ในความเป็นจริงเป็นงบลงทุนผูกพันกว่า 1.4–1.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโครงการที่ผูกพันไว้แล้ว ซึ่งก็เป็นปัญหา คือเป็นงบลงทุนที่ไม่สามารถลงทุนในโครงการผูกพันใหม่ได้ และงบฯ ผูกพันยังเป็นโครงการที่ผูกพันต่อเนื่องหลายปี ปีแรกอาจมีการเสนองบประมาณแค่ 1 ล้านบาท แล้วไปป่องในปีถัดๆ ไป 100 ล้านบาท หรือ 1 พันล้านบาท เสมือนเป็นการจองไว้ล่วงหน้า
“ปีนี้อาจมีงบลงทุนผูกพันหมื่นกว่าล้าน แต่ปีหน้าเป็นงบลงทุนผูกพันถูกจองไว้แล้ว 2 หมื่นกว่าล้าน เป็นปัญหาหนึ่งในรูปแบบการทำงาน”
ชัชชาติยังตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณรายจ่ายของ กทม. อีกว่า ใน 7.9 หมื่นล้านบาท ยังมีการตั้งงบไว้ 5 พันล้านบาท เพื่อใช้หนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว กล่าวคือ เมื่อปี 2564 นั้นเงินสดไม่พอก็สามารถยืมเงินที่เหลือของ กทม. มาใช้ก่อนได้ในงบประมาณรายจ่าย อย่างไรก็ตาม ต้องตั้งงบประมาณมาใช้หนี้คือในอีก 2 ปีข้างหน้า
“เพราะฉะนั้น 7.9 หมื่นล้านบาท กลายเป็นเงินที่ต้องใช้คืนอดีตไป 5 พันล้านบาทแล้ว ฉะนั้น รูปแบบอย่างนี้ ทำให้การบริหารจัดการแปลกๆ เหมือนกัน แล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง งบบุคลากรก็เยอะ เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้งบลงทุนเหลือไม่มาก”
ด้านเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นบนเวทีเสวนาว่า เรื่องของงบประมาณฯ นั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำ เมื่อ ผู้ว่าฯ กทม. รับตำแหน่งตอนกลางปี ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 ซึ่งก็ไม่เป็นไร ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ สำหรับเรื่องงบประมาณรายจ่ายนั้น เห็นว่ามีหลายเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณฯ โดยหน่วยงาน กทม. สามารถแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนไทยได้
เศรษฐายังระบุอีกว่า สำหรับภาคเอกชนไทยนั้นแข็งแกร่งมาก และภาคเอกชนพร้อมให้ความช่วยเหลือ หากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีขึ้น เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น ภาคเอกชนก็ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ขอให้ กทม. แสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนให้มาก แล้วอย่าไปห่วงว่าถ้าภาคเอกชนมาพบ จะกลายเป็นบุญคุณกัน หากเรื่องใดต้องไปตอบแทนภาคเอกชน แล้วเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องตอบไปเลยว่า ‘ทำไม่ได้’ ทั้งนี้ เศรษฐาเห็นว่าหากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้น ภาคเอกชนก็ได้ผลตอบกลับมาอยู่แล้ว คือรายได้ของภาคเอกชนจะเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น ควรใช้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเมืองให้ได้
Tags: Report, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์