วันนี้ (3 พฤษภาคม 2565) ที่ชุมชนบ้านครัว เขตราชเทวี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ได้เปิดตัว ‘นโยบายรายเขต’ ผ่านเว็บไซต์ https://www.chadchart.com/policy-area พร้อมกับขยายความว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อพูดถึง 200 นโยบาย จะเป็นนโยบายภาพกว้าง แต่ในรายละเอียด แต่ละเขตล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งหากผู้ว่าฯ กทม. มองแต่ภาพกว้างอย่างเดียว ก็จะไม่มีเวลาลงไปดูเป็นรายเขต ทั้งนี้ จากการที่มีอาสาสมัครหลักหมื่นคน ทำให้รับทราบว่า แต่ละเขตทั้ง 50 เขต มีปัญหาอะไรบ้าง พื้นที่ตรงไหนมีปัญหาบ้าง เช่น น้ำท่วมขัง ฟุตบาทไม่ดี มีปัญหาขยะซ้ำซาก หรือไม่มีความปลอดภัย ไฟไม่สว่าง ทั้งหมดอยู่บนพื้นที่แล้วก็สามารถนำนโยบายรายเขตเข้าไปกำกับดูแลได้ทันที
“ผมว่าการแก้ปัญหารายเขตจะช่วยแก้ปัญหาชาวกรุงเทพฯ เพราะไปเจอชาวบ้านก็บ่นเรื่องนี้ว่าทำไมไม่เก็บขยะ ทำไมเกิดปัญหาซ้ำซาก ถ้าเกิดเรามีข้อมูล สมัยนี้ เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ข้อมูลทั้งหมดอยู่บนแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ทำให้เห็นได้เลยว่าเรื่องไหนแก้แล้ว ยังไม่ได้แก้ ถ้าไม่แก้ก็ยังค้างอยู่ ไม่มีใครหลอกกันได้ หลังจากนั้น ก็ทยอยแก้ปัญหากันไป แล้วก็สามารถรายงานความคืบหน้าได้ และทั้งหมดสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามที่ประชาชนเพิ่มขึ้นมา ตรงไหนแก้แล้วก็เอาออกได้ ตรงไหนไม่ได้แก้ ก็เป็นสีแดง แก้แล้วก็เป็นสีเขียว เป็นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ทำให้เราเห็นปัญหากรุงเทพฯ ชัดขึ้น ทำให้เห็นว่าเขตไหนทำงานดีหรือไม่ดี ทำให้เห็นว่าเขตไหนปัญหาค้างเยอะ ปัญหาไหนเป็นปัญหาหลักของเขตไหน และทำให้เห็นการทำงานของข้าราชการแต่ละเขตได้ชัดขึ้น”
สำหรับนโยบายรายเขตนั้น เกิดจากการลงพื้นที่ของชัชชาติและอาสาสมัครว่าแต่ละเขตพบปัญหาอะไรบ้าง อาทิ ปัญหาขยะ ปัญหาขาดไฟส่องสว่าง ปัญหาหาบเร่แผงลอยกีดขวางทางเท้า พร้อมกับเสนอวิธีแก้ซึ่งอยู่ใน 200 นโยบายของชัชชาติ
ส่วนเรื่องการลงพื้นที่ชุมชนบ้านครัวนั้น ชัชชาติระบุว่า ชุมชนบ้านครัวมีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ตอนช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พื้นที่ชุมชนบ้านครัวมีการระบาดค่อนข้างรุนแรง แต่ชุมชนมีความเข้มแข็ง และดูแลกันได้ดี สำหรับชุมชนนี้ ต้องดูแลด้านสาธารณสุขและการศึกษาให้เข้มแข็ง เพราะเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่จะเข้าไปทำงานบริการในเมือง และเวลานี้ ก็เห็นชัดว่า มีเด็ก มีคนรุ่นใหม่หลายคนในชุมชน ที่เข้าไปทำงานในเมืองทุกวัน เพราะฉะนั้น กทม. จำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งให้กับคนกลุ่มนี้
ขณะเดียวกัน ชุมชนบ้านครัว ยังเป็นต้นแบบในเรื่องพื้นที่สาธารณะ โดยมีทั้งศูนย์กีฬา ลานกีฬา คอร์ตแบตมินตัน สนามบาสเก็ตบอล สนามเด็กเล่น และห้องสมุดสำหรับเยาวชนบริเวณใต้ทางด่วน โดยศูนย์กีฬามีการเอากรรมการชุมชนเข้าไปบริหาร ทำให้เข้มแข็ง อยู่ในระยะยาวได้ โดยทั้งหมดเป็นตัวอย่างของการใช้พื้นที่ราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องขยายให้ครบทุกเขต ทุกแขวง
ชัชชาติยังได้กล่าวถึงข่าวที่มีชื่อตนเองปรากฏในฐานะ ‘นายกฯ สำรอง’ 1 ใน 5 คน เพราะเป็นบัญชีรายชื่อที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2562 ว่า อ่านข่าวแล้วก็ยังตกใจที่รายชื่อนี้ยังอยู่
“แต่ผมว่าไม่มีใครเลือกเราหรอก ก็มาทางนี้ชัดเจนแล้ว เรามาทางนี้แล้ว มุ่งไปทางผู้ว่าฯ กทม. เต็มที่ ถ้าเกิดมีคนโหวต เขาคงไม่เลือกเราหรอก ผมไม่คิดจะไปทำงานการเมืองใหญ่อะไร มุ่งเน้นกับผู้ว่าฯ กทม. เป็นหลักดีกว่า”
Tags: Report, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, Bangkok Upside Down