วันนี้ (1 กรกฎาคม 2565) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งภายหลังเป็นประธานในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามลูกเสือ กทม. ประจำปี 2565 ในเรื่องเกี่ยวกับ ‘สายสื่อสาร’ ว่า เมื่อไม่กี่วันก่อน เห็นมีคนมาพาดสายไฟ ทั้งที่สายไฟเองก็รกรุงรังอยู่แล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า การพาดสายเหล่านี้ ต้องขออนุญาตใคร ทั้งนี้ เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันก็แย่อยู่แล้ว จึงทำให้เกิดคำถามและคิดว่าเรื่องนี้ควรต้องจัดการให้มีการขออนุญาตอย่างเป็นระบบ
“ไม่อยากให้มันเพิ่มเข้าไปอีก ก็เลยลองคิดว่าอำนาจมันอยู่ที่ใคร เพราะเสานั้น การไฟฟ้าเป็นคนปัก แต่ถ้าไปทำความรกรุงรัง เมืองน่าจะเป็นคนดู ก็เลยคิดว่า ถ้าพาดสายเพิ่มนั้น ควรต้องได้รับการอนุญาตจากใครสักคนก่อน ไม่การไฟฟ้าเจ้าของเสา ก็เรา แล้วถ้าทำได้จริง ถ้าพี่น้องประชาชนเห็นใครมาพาดก็บอกเราได้เลย”
ผู้ว่าฯ กทม. ยังเสนอแนวคิดอีกว่า จริงๆ กทม. อาจบังคับใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปี 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) ซึ่ง กทม. เป็นเจ้าพนักงาน และอาจต้องไปดูรายละเอียดในเรื่องกรอบอำนาจอีกที แต่เรื่องนี้เห็นว่าควรต้องคิดนอกกรอบเพื่อให้แก้ปัญหาในระยะยาวได้
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ชัชชาติได้พูดในไลฟ์ขณะวิ่งออกกำลังกายที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ว่าเป็นแนวคิดที่ ‘ปิ๊ง’ ขึ้นมาระหว่างการวิ่งออกกำลังกาย ที่จะเป็นไปได้ไหม หากการจะพาดสายอะไรก็แล้วแต่ต้องมีการขออนุญาตก่อน เพื่อแก้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง โดยอาจใช้อำนาจของ กทม. ประกาศทันทีว่าห้ามพาดสายสื่อสารมั่วๆ และต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้ง
ขณะเดียวกัน ชัชชาติยังพูดถึงการเข้าร่วมพิธีในชุดลูกเสือว่า เป็นเรื่องที่ดีในการมารำลึกความหลัง เพราะชุดลูกเสือไม่ได้ใส่มาอย่างน้อยก็ 45 ปี โดยข้อดีอย่างหนึ่งในวันนี้คือไม่ต้องขัดบรัสโซที่เข็มขัด เพราะเป็นการใช้ครั้งเดียว
“แต่คำปฏิญาณก็ยังเหมือนเดิม หัวใจจริงๆ ของลูกเสือก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตวิญญาณของลูกเสือ แต่ต้องดูหลักสูตรให้สอดคล้องกับคำปฏิญาณ ทั้งเรื่องระเบียบวินัย ทั้งการช่วยเหลือผู้อื่น เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝัง ส่วนเรื่องรูปแบบก็คงดูตามสถานการณ์ อนาคตที่เปลี่ยนไปก็เป็นไปตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่ง กทม. ก็รับตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการมาอีกที”
Tags: Report, กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สายไฟ, ลูกเสือ