เมื่อวานนี้ (29 พฤศจิกายน 2566) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ขบวนการเคลื่อนไหวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กร Protectional International จัดกิจกรรมเสวนาพูดคุยในประเด็น ‘การจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนของแม่ และคนทำงานดูแลอย่างไร ในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ เนื่องในโอกาสวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล (International Women Human Rights Defenders Day)
ขบวนการเคลื่อนไหวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของผู้หญิงจากชนชั้นรากหญ้าทั้งหมด 19 เครือข่าย โดยมีเจตจำนงและเจตนารมณ์เดียวกัน คือเพื่อรวมกลุ่มของผู้หญิงให้มีพลังในการต่อสู้ เพื่อสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง ซึ่งต่อยอดจากงานเมื่อปีที่แล้ว โดยปีที่ผ่านมามีการจัดเสวนาสาธารณะในเรื่อง ‘การเริ่มต้นบทสนทนาเรื่อง CARE INCOME คุณค่าและค่าตอบแทนงานของแม่และคนทำงานดูแล’ เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการพูดถึงความสำคัญและคุณค่าของงานดูแลแม่และคนดูแลในบ้าน รวมไปถึงการนำเสนอข้อรณรงค์เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แม่และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการดูแลได้รับ ‘ค่าตอบแทน’ โดยที่ค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลทุกข์สุขในบ้าน (Care Income) จะเป็นประเด็นหลักในการพูดคุยกันในวันนี้
การเสวนาครั้งนี้มีวิทยากรทั้งหมดจาก 5 ฝ่าย ที่ทำงานต่างภาคส่วนกัน ได้แก่ ซารา คาลลาเวย์ (Sara Callaway) ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหว Global Women’s Strike ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติ, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ผู้ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องแม่และเด็ก, ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม (TDRI), อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert – WGEID) แสงคำมา ท้าวศิริ และเนืองนิช ชิดนอก ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นตัวแทนในการจัดงานครั้งนี้
ซารา คาลลาเวย์ (Sara Callaway) ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหว Global Women’s Strike เริ่มต้นกล่าวว่า งานดูแลที่ผู้หญิงทำ คือรากฐานของการผลิตและการสืบเผ่าพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ ผู้หญิงคือผู้ปกป้องครอบครัว ชุมชน ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม แต่ว่าผู้หญิงเหล่านี้มักถูกคาดหวังให้ทำงานดูแลต่างๆ ถือเป็นการปกป้องชีวิตโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เป็นงานที่มีรายได้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ขอเพียงมีการร่วมมือร่วมใจกันเปล่งเสียง ขับเคลื่อน และสร้างเครือข่ายในวงกว้างออกไป
“งานที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากทั่วโลกคาดว่า มีมูลค่าสูงถึง 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 374.87 ล้านล้านบาท งานดูแลต่างๆ เหล่านี้ควรจะเป็นแหล่งอำนาจสำหรับผู้หญิง แต่กลับถูกใช้เพื่อเอารัดเอาเปรียบทำให้ยากจน และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเรา เราก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาว่า ค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแล และข้อเรียกร้องเพื่อค่าจ้างสำหรับงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ผู้หญิงทำ ที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง”
ซาราเล่าต่อว่า กลุ่ม Global Women’s Strike เริ่มรณรงค์ตั้งแต่ปี 2515 ต่อมาในปี 2523 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า การทำงานของผู้หญิงทั่วโลกนับเป็น 2 ใน 3 ของงานทั้งหมดทั่วโลก แต่รายได้ทั้งหมดที่ผู้หญิงได้รับคิดเป็นเพียง 5% ของรายได้ทั่วโลก และได้รับทรัพย์สินเป็นค่าตอบแทนเพียง 1% ของทรัพย์สินทั่วโลก ด้วยสถิติที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้ Global Women’s Strike จึงจัดตั้งเพื่อระดมมวลชนในการสื่อสารเรื่องผู้หญิง ให้รัฐบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมของสหประชาชาติ (UN) และต่อมาในปี 2538 มีการทำข้อตกลงเพื่อวัดผลและทำให้เห็นคุณค่างานของผู้หญิงที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อให้มีการบรรจุลงในบัญชีของประเทศ
“สำหรับประเทศที่มีการรองรับค่าจ้างของแม่และคนที่ทำอาชีพดูแล ตรินิแดดและโตเบโกเป็นประเทศแรก ต่อมาที่เวเนซุเอลามีการให้การรับรองการทำงานในบ้านของผู้หญิงไว้ในรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีประกันสังคมแก่แม่บ้าน ในปี 2563 และในปีนี้ (2566) ทางกลุ่มได้เปิดตัวการสำรวจข้อมูลของคนเป็นแม่จากทั่วโลก มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1,000 คน จาก 50 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงต้องการเงินค่าตอบแทนสำหรับการทำงานดูแลทั้งเด็กและผู้ใหญ่
“เป้าหมายของเราในเรื่องค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแลก็คือการ ‘ตั้งเครือข่ายระหว่างประเทศ’ ในระดับนานาชาติทั่วโลก เพื่อร่วมยุติความยากจนของผู้หญิง รวมถึงขจัดความยากจนของเด็กๆ และผู้ชายด้วยเช่นเดียวกัน” ตัวแทนจาก Global Women’s Strike กล่าวปิดท้าย
ทางด้าน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องแม่และเด็ก กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดแต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกหลงลืมไปจากภาครัฐ คือสวัสดิการถ้วนหน้าของแม่และเด็ก ซึ่งมีความย้อนแย้งกันระหว่างการที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีลูก แต่กลับไม่มีสิ่งที่เอื้อต่อการมีครอบครัวและลูก
“เราทำงานอยู่หลายวงที่แก้ไขหลายปัญหา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาการดูแลความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาเรื่องนักโทษล้นเรือนจำ เวลาจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เรามักจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น ปัญหานักโทษล้นเรือนจำก็เอางบประมาณไปทุ่มกับการสร้างเรือนจำเพิ่ม ทั้งที่จริงทั้งหมดทั้งมวลหากจะแก้ปัญหาจริงๆ ควรแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือการสนับสนุนให้มีงบประมาณในการเลี้ยงดูและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน
“งบประมาณเรื่องของ Care Income สำคัญมากในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมา มีงานวิจัยระบุเยอะมากว่า การจะพัฒนาบุคลากรในระยะยาวต้องแก้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0-6 ขวบแรก ซึ่งตอนอายุเท่านั้นคนที่ใกล้ชิดเขาที่สุดคือแม่หรือคนในครอบครัวเป็นคนเลี้ยงดู แต่เรากลับไม่เคยที่จะมองเห็นงบประมาณส่วนนี้เลย ทั้งที่เราไปทุ่มกับปลายเหตุเป็น 10-20 เรื่อง ทั้งที่เราเอางบประมาณไปลงกับแม่และเด็กได้อีกเยอะมาก
“เราก็กำลังผลักดันกฎหมายเรื่องแม่อยู่เหมือนกัน ทั้งห้องให้นมหรือสวัสดิการศูนย์เด็กเล็ก เราก็เจอปัญหาเหมือนกันเวลาไปคุยกับฝ่ายกฎหมายสภา เวลาที่เราพูดเรื่องพวกนี้ เขาชอบมองว่า ไม่เห็นจำเป็นเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า Mindset ของคนในสังคมที่มองว่า ‘การมีลูกเป็นภาระของผู้หญิง’ ยังคงมีอยู่”
ส.ส.พรรคก้าวไกลทิ้งท้ายว่า ในปีนี้เนื่องจากเป็นปีแรกในการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นช่วงที่ได้เรียนรู้กลไกในการทำงานของสภาฯ ผ่านกระบวนการยื่นญัตติ หารือ ตั้งกระทู้ หรือการทำงานย่อยในกรรมาธิการ (กมธ.) และกล่าวตามตรงว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้มีอำนาจการบริหารมากนัก เนื่องจากเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็คิดว่าจะพอขยับอะไรได้บ้างในมุมของ กมธ. ตอนนี้มีกฎหมายที่ยื่นไปแล้วรอนายกรัฐมนตรีอนุมัติหลายฉบับ เช่น สิทธิลาคลออด 180 วัน ห้องให้นม และวันหยุดงาน
ทางด้าน ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ประเด็นที่พูดคุยในวันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก และดีใจมากที่ถูกหยิบยกมาพูดในที่สาธารณะ พร้อมกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่สำคัญ คืองบประมาณจากการจัดสรรของรัฐบาลไม่มีการแบ่งแยกส่วนของกลุ่มแม่และคนทำงานดูแลโดยเฉพาะ หากแต่ได้ไปขุดค้นจากเอกสารราชการ เพื่อบวกรวมกันว่าภาครัฐใช้เงินสนับสนุนในส่วนนี้เท่าใด
“คำว่า ‘คนทำงานดูแล’ แทบจะหาไม่เจอในเอกสารทางการของรัฐบาล ไม่ว่าจะคณะไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น ตอนที่เราลงไปดูตัวงบประมาณก็ยากลำบากมากๆ ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง หนึ่ง ปัญหาจากการที่การทำงานของระบบราชการที่แยกส่วนกัน ทำให้ข้อมูลกระจัดกระจาย กล่าวคือต่อให้ปัญหาของประเทศเราซับซ้อนมากแค่ไหนก็ตาม แต่หน่วยงานจะแยกกันทำทั้งงบประมาณและการดำเนินโครงการ
“เราก็พอจะดึงข้อมูลงบประมาณมาได้ ผ่านคำสำคัญต่างๆ เช่น ‘สตรี’ ‘มารดา’ ‘ผู้พิการ’ ‘เด็กเล็ก’ เหล่านี้คือคำสำคัญของคนที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของคนที่ควรจะได้รับการดูแล ซึ่งค้นหามาได้ มีงบประมาณรวมแล้วราว 557 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งน้อยกว่างบประมาณของกองทัพไทยเสียอีก
“จริงๆ ภายใต้งบนี้ที่เราไปดึงมาได้ ซึ่งอาจจะมีมากกว่านี้ที่ซ่อนอยู่ในลักษณะของกิจกรรม ไม่ได้ระบุตรงๆ หากไปดูในโครงการทั้งหลายพวกนี้มีแค่ประมาณ 5% เท่านั้น ที่เป็นงบประมาณที่จัดเอาไว้ให้ ‘ผู้ดูแล’ (ซึ่งไม่ได้ตั้งตรงๆ ว่าเป็นสำหรับแม่ แต่จะตั้งแบบ ‘เงินอุดหนุนเด็ก’ ‘เงินสงเคราะห์บุตร’ ‘เด็กในครอบครัวยากจน’) ซึ่งคนที่จะได้ส่วนมากก็จะเป็นแม่
“สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วตกใจ คือแนวโน้มของสัญญาณว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีสภาพแวดล้อมหรือการสนับสนุนเพียงพอให้คนมีลูก ไม่ว่าจะเป็นงบอุดหนุนเด็กแรกเกิด หรืองบประมาณประกันสังคม ซึ่งทั้งสองก้อนนี้ลดลงตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในส่วนเงินอุดหนุนเด็กมีเด็กที่ควรได้รับเงินหายไปประมาณ 1.2 แสนคน ส่วนเงินประกันสังคม เงินสงเคราะห์บุตรลดลง สะท้อนว่าคนไม่ได้อยากเป็นแม่แล้ว”
ดร.บุญวราจึงมีข้อเสนอ 3 ข้อในการแก้ไขปัญหาและผลักดันประเด็นเหล่านี้
1. ต้องเอาประเด็นนี้ไปจับกับ Pain Point ของรัฐบาล เพราะยังไม่เคยมีรัฐบาลไหนแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย (Aging Society) ได้ รวมถึงอัตราการเกิดก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเพราะประเทศไทยไม่ได้มีสภาพแวดล้อมสนับสนุนที่เพียงพอให้ผู้หญิงอยากมีลูก ซึ่งนอกจากค่าตอบแทนของแม่ มาตรการปัจจุบันก็ต้องปรับแก้ เช่น สิทธิการลาคลอด
2. ต้องออกแบบนโยบายหรืองบประมาณที่คำนึงถึงผลกระทบ (Outcome) กับกลุ่มประชากร ไม่ใช่ดูแค่ผลผลิตโครงการ (Output) ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยการคำนึงถึงผลกระทบของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ย้อนกลับไปเรื่องการไม่เห็นความสำคัญของผู้หญิงคนดูแล โดยส่วนมาก รัฐมักจะมองว่าเราให้ทุกคน ‘เท่าเทียม’ แต่คำว่าเท่าเทียมของเขาคือหยุดแค่ว่า ให้เป็นนโยบายที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้คำนึงผลกระทบว่า แต่ละคนมีความแตกต่างที่ไม่เท่ากัน
3. ต้องเพิ่มตัวแทนของผู้หญิงในเวทีการเมืองและการออกแบบนโยบายในฐานะตัวแทนกระบอกเสียง ทั้งนำเสนอและให้ความเห็น
สำหรับ อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ มองว่า รากเหง้าของปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศส่วนใหญ่มาจากการกำหนดบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศแถบเอเชีย ที่ผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้ทำงานดูแลอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะถูกตีตราหากไม่ได้ทำตามบทบาทที่สังคมคาดหวัง เช่น การที่ผู้หญิงให้น้ำนมลูก มักใช้วาทกรรมว่า ‘ค่าน้ำนม’ เป็นการทวงบุญคุณเด็ก แทนที่จะมองว่าเด็กมีสิทธิที่จะได้รับนมแม่ และแม่เองก็มีสิทธิที่จะได้รับอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อที่จะให้นมลูกได้
“สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักไม่ถูกพูดถึง งานของผู้หญิงที่ต้องทำในบ้านมักถูกเรียกว่าเป็นงานดูแล (Caregiver) ซึ่งผู้ที่ทำอาชีพรับจ้างดูแล คนเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน แต่พอพูดถึงคนที่อยู่ในบ้านที่มีหน้าที่ ภาระทั้งหมดถูกกองให้ผู้หญิง ผู้ชายมีหน้าที่หาเลี้ยง งานของผู้หญิงจึงมักถูกมองว่าเป็น ‘ความเสียสละ’ แต่เราไม่ได้มองถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของแม่และผู้หญฺิงเลย เราไม่ได้มองว่าผู้หญิงจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
“ถ้าถามว่าวันนี้เราควรจะเริ่มต้นจากไหน เรามองว่าเรามีเครื่องมือพอสมควรที่จะเริ่มต้นได้ เช่น เท่าที่ติดตามเรื่องงบประมาณมาตลอด กลาโหมเขามีงบประมาณเฉพาะในความจำเป็นของผู้หญิงอย่างไรบ้างไหม กระทรวงเกษตรมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับด้านเพศสภาพอย่างไร ต้องแบ่งงบประมาณและทำความเข้าใจในส่วนนี้ รวมถึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ”
สุดท้ายนี้ ด้าน เนืองนิช ชิดนอก ตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้จัดงานในครั้งนี้ ระบุว่า ส่วนตัวเองมีประสบการณ์ตรงที่เป็นทั้งแม่และผู้ที่ทำงานดูแลเช่นกัน จึงเห็นว่า งานการดูแลป็นงานที่มีคุณค่ามาก และไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ซึ่งหากมองในแง่ระบบตลาด งานเหล่านี้จะถูกประเมินคุณค่าอยู่ที่ราว 352 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงพอสมควร
“ปีที่ผ่านมามีข้อมูลจาก รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงตัวเลขที่ชัดเจนว่า คนที่ทำงานการดูแล และทำเต็มเวลา ต้องได้ค่าแรงเดือนละ 5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นค่าแรงที่แพงกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 5 เท่า อีกทั้งยังมีงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาว่า คนที่ทำงานการดูแลเต็มเวลา 6 เดือน-1 ปี รายได้นี้จะมีผลสำหรับคนคนหนึ่งทั้งชีวิตเขาเลย เพราะฉะนั้น งานดูแลจึงเป็นงานที่โอบอุ้มสังคม และเป็นงานที่ต้องได้ค่าตอบแทน
“เราเป็นทั้งผู้หญิงที่เป็นทั้งแม่ ทั้งคนดูแล การทำงานการดูแลเป็นคนที่ช่วยดูแลทั้งทรัพยากรบุคคล ทำงานในบ้าน ดูแลทรัพยากรของชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ เราว่าถ้าสมมติประเทศนี้มีการให้ค่าตอบแทน เราจะสามารถขับเคลื่อนความเป็นธรรมในเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงประเด็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ผู้หญิงเหล่านี้อยู่ในทุกที่ของสังคม และเขาก็ทำงานในทุกที่ ในสภาฯ ในศาล พวกเขาสามารถที่จะทำงานอื่นๆ ได้หลายงานในทุกที่
“เรายืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีรายได้เพื่องานดูแล (Care Income) เป็นค่าตอบแทนให้แม่และผู้ให้การดูแลทุกคน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคนในสังคม รายได้เพื่องานดูแลเหล่านี้อาจจ่ายเป็นเงินสด หรือในรูปแบบที่อยู่อาศัย ที่ดิน และช่องทางอื่น รัฐต้องลงทุนในชีวิตและความสุขของแม่และคนทำงานดูแล รวมถึงประชาชนทุกคนในสังคม และสิ่งเหล่านี้ต้องระบุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวปิดท้าย
Tags: งานดูแล, แม่และเด็ก, ค่าตอบแทน, สิทธิสตรี, แม่, งานบ้าน