วันนี้ (4 สิงหาคม 2566) ที่ สัปปายะสภาสถาน เวลา 09.30 น.ตามกำหนดการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 3 มีการประชุมสมัยสามัญครั้งที่หนึ่ง โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการแก้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 272 ว่าด้วยการยกเลิกอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการลงเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี
การประชุมวันนี้ล่าช้าไปมากกว่าหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ในช่วงแรกมีสมาชิกวุฒิสภาเข้าประชุมเพียง 30 คนเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถเปิดการประชุมได้ ต่อมาเวลาประมาณ 10.40 น. เมื่อองค์ประชุมเพียงพอ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงกล่าวเปิดประชุมสภา
รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล กล่าวเสนอญัตติด่วนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประธานรัฐสภาพิจารณาลงมติเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ว่าด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำ โดยการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบจะต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่ง ซึ่ง ณ ขณะนั้น ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รังสิมันต์เริ่มเสนอญัตติด่วนดังกล่าวได้ไม่นาน ส.ว.บางส่วนก็เร่งเข้าห้องประชุมทันที หลังมีการนำเสนอญัตติด่วน
ต่อมา สมชาย แสวงการ หนึ่งใน ส.ว. ขอเสนอญัตติคัดค้านไม่เห็นด้วยกับญัตติที่รังสิมันต์เสนอไว้ข้างต้น ถัดมา เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่จริงสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ หากพิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 272 วรรค 2 ที่ระบุถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำในฐานะแคนดิเดตนอกบัญชีรายชื่อ แต่ถ้าเป็นแคนดิเดตที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการถกเถียงญัตติด่วนข้างต้น วันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา ไม่เห็นด้วยกับการให้ลงมติใหม่ เวลาประมาณ 11.30 น. ประธานรัฐสภา
จึงประกาศปิดประชุมในทันที เพื่อคัดค้านการเสนอของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย จึงส่งผลให้การหารือแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ 272 ตามวาระไม่ได้ถูกพิจารณาอีกด้วย
เวลา 12.00 น. ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน, รังสิมันต์ โรม และศิริกัญญา ตันสกุล แถลงข่าวหลังการปิดประชุมรัฐสภา โดยชัยธวัชกล่าวว่า ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจเต็มของรัฐสภาที่สำคัญมาก ต่อให้วันนี้สมาชิกสภาส่วนใหญ่ลงมติให้เลื่อนวาระการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน ก็ยังมีวาระแก้ไข 272 ที่ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลยื่นยกเลิกไปให้พิจารณาอยู่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเลือกนายกรัฐมนตรีมีความยืดเยื้อ ดังนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการ ‘ปิดสวิตช์ ส.ว.’ ชัยธวัชหวังว่าการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปจะสามารถดำเนินการประชุมไปได้โดยเร็วที่สุด
ต่อมา รังสิมันต์ โรม กล่าวถึงถึงญัตติด่วนที่เขาเสนอไป จนนำไปสู่การโต้เถียงและไปสู่การปิดการประชุมรัฐสภา รังสิมันต์กล่าวว่า ทางพรรคก้าวไกลยื่นมติข้อที่ 41 นี้ เพื่อขอทบทวนการนำเสนอชื่อซ้ำ กระบวนการเหล่านี้สามารถมีทางออกโดยใช้กลไกของรัฐสภาเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศาลรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ ซึ่งทางพรรคก้าวไกลเองต้องการเสนอญัตติโดยมีผู้รับรองที่ถูกต้อง ซึ่งประธานรัฐสภาควรรับไว้พิจารณา
ในขณะที่รังสิมันต์เสนอญัตติด่วน มีผู้โต้แย้งในสองประเด็นคือ
1. ญัตติของพรรคก้าวไกลเป็นหลักการซ้ำเพราะสภามีมติไปแล้ว รังสิมันต์ยืนยันว่า การประชุมเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภามีมติเรื่อง ‘การตีความ’ ข้อบังคับว่า การเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลให้ยังสามารถเสนอได้อีกหรือไม่ ตามข้อบังคับที่ 41 ซึ่งประเด็นที่เสนอวันนี้เป็น ‘การทบทวน’ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่ญัตติซ้ำอย่างแน่นอน
2. ประเด็นที่ประธานสภาพยายามอธิบายในที่ประชุมว่า ตามข้อบังคับข้อที่ 151 มีหนึ่งในข้อความที่เขียนไว้ว่า การตีความนั้นจะต้องเป็นการตีความให้เด็ดขาด ซึ่งหมายถึงจะยกเรื่องเดิมมาพูดซ้ำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องปิดกั้นไม่ให้ที่ประชุมของรัฐสภาสามารถทบทวนได้อีกครั้ง ดังนั้นตนจึงยืนยันอีกครั้งว่าสามารถเสนอได้อย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ทั้งน่าแปลกใจและเสียดายที่การประชุมรัฐสภาต้องสิ้นสุดโดยที่ไม่มีข้อยุติอะไรเลย
รังสิมันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า ทราบมาตั้งแต่ต้นว่าหลายท่ายมีความต้องการล้มการประชุม หากไม่ได้วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ช่วยกระตุ้น ก็คงไม่มีการแห่เข้ามาประชุม แต่การใช้วิชามารเช่นนี้ คำถามสำคัญที่พี่น้องประชาชนช่วยตั้งคำถามได้คือ “ประเทศได้อะไร?” กับการปิดการประชุมเช่นนี้
Tags: ส.ว., พรรคเพื่อไทย, ปิดสวิตช์ ส.ว., รังสิมันต์ โรม, ประชุมสภา, พรรคก้าวไกล