เมื่อวานนี้ (14 พฤศจิกายน 2023) แอมเนสตี (Amnesty) องค์การสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ระบุว่า กัมพูชาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ หลังขับไล่ประชาชนกว่า 1 หมื่นครอบครัวออกจากบริเวณ ‘นครวัด’ โดยอ้างว่า เป็นการปกป้องโบราณสถานแห่งนี้ ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ‘มรดกโลก’ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO)
แถลงการณ์ของแอมเนสตีชี้แจงรายละเอียดว่า กัมพูชาบังคับให้ผู้คนย้ายถิ่นฐาน โดยยกเหตุผลเรื่องการอนุรักษ์นครวัด โบราณสถานของประเทศที่ได้รับรองเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 1992 โดยที่รัฐไม่สามารถการันตีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน หลังมีรายงานเผยว่า สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนใหม่ย่ำแย่มาก
นอกจากนี้ รายงานยังเผยว่า ทางการข่มขู่คุกคาม และใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดย เย (Yey) ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวตนบอกว่า รัฐบาลเคยขู่ ‘ขังคุก’ คนที่ไม่ยอมปฏิบัติตามนโยบาย
“พวกเขาให้แบ่งประชาชนเป็นสองฝั่ง ได้แก่ กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็น โดยบอกว่า หากใครคิดจะต่อต้าน ทางการจะนำตัวไปคุมขัง” ชาวนานิรนามเล่าประสบการณ์กับแอมเนสตี โดยเผยว่า ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องละทิ้งนาข้าวของตนเองเพื่อย้ายออกจากพื้นที่
การข่มขู่จากรัฐบาลและสภาวะไร้ที่พึ่งพาของประชาชน
จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2022 รัฐบาลกัมพูชาอ้างว่า ชุมชนบริเวณนครวัดสร้างมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม ทางการจึงมีความจำเป็นต้องขับไล่ประชาชนให้ออกจากพื้นที่ก่อนปี 2023 เพื่อปกป้องมรดกโลกของชาติ โดยมีมาตรการเยียวยาด้วยการมอบเงิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,100 บาท) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการจัดพื้นอาศัยใน ‘รุนตาเอก’ (Run Ta Ek) อดีตนาข้าวที่กลายเป็นชุมชนแห่งใหม่ พร้อมที่ดินขนาด 20×30 เมตร และอุปกรณ์ในการสร้างที่อยู่ ได้แก่ หลังคาสังกะสี ผ้าใบกันน้ำ และมุ้งกันยุง
“การย้ายถิ่นฐานมีความเป็นจำเป็นเพื่อรักษาสถานะของนครวัด ไม่เช่นนั้น ที่แห่งนี้จะถูกถอนออกจากมรดกโลก เพราะขาดคุณสมบัติตามการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก” ฮุน เซน (Hun Sen) อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศโดยอ้างถึงเงื่อนไขการรักษานครวัดในฐานะมรดกโลก พร้อมยื่นคำขาดว่า หากใครขัดขืนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ข้างต้นแม้แต่ข้อเดียว
แม้จะมีผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ทว่าประชาชนบางส่วนไม่ยอมออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงข่มขู่ว่า ทางการจะตัดไฟ ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือน และคุมขังพวกเขา หากไม่ย้ายไปที่อื่น
ไม่ใช่แค่ความผูกพันต่อพื้นที่ที่เรียก ‘บ้าน’ สาเหตุสำคัญที่ผู้คนไม่ย้ายออก คือความยากจนและการสูญเสียวิถีชีวิต ทั้งนี้ แอมเนสตีและสื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า ชาวบ้านจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าอาหาร ร้านขายของที่ระลึก หรือแม้แต่ขอทาน ต่างมีรายได้จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ตั้งตาเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่มหัศจรรย์แห่งนี้
หนึ่งในนั้นคือ ฉัน วิเฉต (Chan Vichet) ศิลปินผู้วาดภาพขายให้กับนักท่องเที่ยว เขาแสดงความรู้สึกกับอัลจาซีรา (Al Jazeera) ในต้นปี 2023 ว่า รู้สึกชาทั้งตัวตอนได้ยินแผนการย้ายถิ่นฐาน และแทบไม่มีสมาธิในการคิดงานเพื่อหาเลี้ยงชีพครอบครัว
เพราะนั่นหมายความว่า เขาต้องสูญเสียบ้านและแกลเลอรีที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงทั้งชีวิต และเริ่มต้นใหม่ในนาข้าวอันรกร้างห่างไกล ด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียรายได้จากการขายรูปวาดที่นครวัด
นอกจากนี้ รุนตาเอก ชุมชนแห่งใหม่ที่ได้รับการันตีโดยรัฐบาลกัมพูชา ยังไร้ความปลอดภัยและไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย รายงานเปิดเผยว่า พื้นที่นาข้าวแห่งนี้เสี่ยงน้ำท่วมได้ง่ายดาย และไร้สาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โรงพยาบาล หรือห้องน้ำสะอาด รวมถึงปราศจากชุมชนบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง
จากการสัมภาษณ์ของแอมเนสตี บางครอบครัวต้องอาศัยผ้าใบเป็นหลังคาเพื่อปกคลุมมรสุมทางอากาศ และแก้ปัญหาอากาศร้อนจัดด้วยการอาบน้ำเด็กเล็กในบ้านทุก 3 ชั่วโมง พวกเขาเผยว่า ต้องอาศัยร่มเงาจากบ้านหลังอื่น ระหว่างที่กำลังสร้างบ้านของตนเอง
ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ประชาชนบางส่วนไม่มีเงินเพียงพอในการสร้างบ้าน ครอบครัวบางส่วนต้องจำนำหรือขายทรัพย์สินบางอย่าง ท่ามกลางสภาวะ ‘ถอดใจ’ เพราะพวกเขาไม่มีพลังเสียงมากพอที่จะประท้วงรัฐบาล
“ผมไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อของสร้างบ้าน ประชาชนต่างไร้พลัง แล้วเราจะประท้วงได้อย่างไร?” ชายชราคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นกับอัลจาซีรา
เช่นเดียวกับชีวิตของ สูน รีณา (Soun Ryna) เจ้าของร้านอาหารขนาดเล็กในนครวัดเผยผ่านเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า เธอถูกบังคับให้ย้ายออกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ตอนนี้เธอไม่มีแหล่งทำกิน และต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเอาตัวรอด
“ฉันยังคงเป็นหนี้ ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องนี้ ฉันจะร้องไห้ตลอด ทำอย่างไรได้ นี่คือคำสั่งรัฐบาล พวกเราควรจะทำอย่างไร เราเอาชนะทางการไม่ได้
“สิ่งหนึ่งที่เราอยากร้องขอต่อองค์กรใดก็ตาม คือโปรดอย่าไล่ผู้คนบริเวณนครวัดไปมากกว่านี้เลย” เธอกล่าวทิ้งท้าย
เสียงเรียกร้องถึง UNESCO เพื่อปกป้องชาวกัมพูชาไร้ถิ่น
รายงานของแอมเนสตียังเรียกร้องให้องค์การยูเนสโกประณามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ยูเนสโกในฐานะส่วนหนึ่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ขาดความรับผิดชอบต่อการสนับสนุนและการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน แม้ทราบอยู่แล้วว่า การบังคับย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นเรื่อยมา แต่ไม่มีการตรวจสอบเหตุการณ์แต่อย่างใด
“หากยูเนสโกมุ่งมั่นที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการทั้งหมด ก็ควรประณามการบังคับไล่รื้อที่ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการแหล่งมรดกโลก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำเหล่านั้น และผลักดันให้มีการสอบสวนสาธารณะที่เป็นอิสระ” มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ (Montse Ferrer) รักษาการรองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัยของแอมเนสตีระบุในแถลงการณ์
ย้อนกลับไปในอดีต ยูเนสโกเคยแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เสื่อมโทรมของมรดกโลกในปี 2008 เช่น นครหินแกะสลักเพตรา (Petra) ในจอร์แดน และนครลักซอร์ (Luxor) ในอียิปต์ แต่ไม่ได้ระบุว่า นครวัดเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงร้ายแรงต่อการถูกถอดสถานะ หากแต่ระบุถึงเรื่องการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายในปี 2014
ในทางกลับกัน รายงานแอมเนสตีเผยว่า รัฐบาลกัมพูชาอ้างเหตุผลข้างต้นเพื่อขับไล่ประชาชนมากกว่า 15 ครอบครัว โดยระบุว่า ยูเนสโกคือเหตุผลหลักในการย้ายถิ่นฐานครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ผู้ได้รับผลกระทบที่ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานของ UN ในกรุงพนมเปญ ได้รับการชี้แจงว่า องค์กร ‘ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดิน’ และนครวัดอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ยูเนสโกจึงไม่มีสิทธิควบคุมหรือบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้
“ยูเนสโกไม่สามารถรับรองความปลอดภัยว่า อะไรจะเกิดขึ้นในผืนแผ่นดินที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” ส่วนหนึ่งของรายงานของยูเนสโกในเดือนตุลาคม 2023 และเสริมว่า องค์กรเคารพสิทธิมนุษยชนและความยินยอมของผู้คนอย่างเต็มที่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติในอนุสัญญามรดกโลก
อ้างอิง
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/cambodia-angkor-wat-evictions-unesco/