วันนี้ (25 ตุลาคม 2565) อนุชา นาคาศัย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอนหนึ่งว่า วันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการและเห็นชอบ ‘ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง’ ตามการศึกษาของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวมีอายุ 5 ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับกลุ่มชาวต่างชาติที่คณะรัฐมนตรีระบุว่ามีศักยภาพสูงประกอบด้วย

1. กลุ่มประชาคมโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen)

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner)

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand Professional)

4. กลุ่มที่มีทักษะ และความเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled Professional)

ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่ถือครองที่ดินและอาศัยในประเทศไทย ต้องมีวีซ่าผู้พักอาศัยระยะยาว (Long Term Resident Visa) ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับกลุ่มคนที่ว่ากันว่ามีศักยภาพ และสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม สิทธิ์การถือครองที่ดินดังกล่าวไม่รวมถึงสิทธิ์ที่จะนำผู้ติดตามเข้ามาอาศัยในประเทศไทย

กลุ่มคนดังกล่าวมีสิทธิ์ถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ ผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ ดังนี้

1. ต้องลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และดำรงทุนการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ

2. ให้นับมูลค่าการลงทุน ณ วันที่ยื่นคำขอ

3. หากถอนการลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการดำรงทุน หรือถอนการลงทุนก่อนครบกำหนด 3 ปี สิทธิ์ที่จะได้มาซึ่งที่ดินในส่วนที่ยังไม่ครบจำนวน (1 ไร่) ต้องถูกระงับไป

ประเภทการลงทุนที่เข้าเกณฑ์ประกอบด้วย

1. ประเภทพันธบัตร – พันธบัตรรัฐบาลไทย, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, พันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นหรือดอกเบี้ย

2. การลงทุนในเรือนหุ้น (Capital Stock) ของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมาย จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI)

กองทุนข้างต้นประกอบด้วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ที่จัดตั้งขึ้นมาจากกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนในกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT)

ทั้งนี้ ที่ดิน 1 ไร่ที่ชาวต่างชาติสามารถครอบครองได้ต้องอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรือเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง

อีกทั้งต้องใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัยสำหรับตัวเอง ไม่ดัดแปลงหรือกระทำสิ่งใดที่ขัดกับศีลธรรม จารีต และประเพณีอันดีของไทย โดยผู้ครอบครองต้องแจ้งการใช้ที่ดินให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันแรกเข้าใช้งาน

สำหรับขั้นตอนต่อไป ครม. จะส่งร่างกฎกระทรวงฯ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และให้หน่วยงานในสังกัดแสดงความเห็นประกอบการพิจารณาต่อไป

ด้านกรมจัดหางานระบุในรายงาน ‘สถิติจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนสิงหาคม 2565’ ว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประมาณ 2.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานฝีมือราว 2.4 แสนคน และแรงงานประเภททั่วไปอีก 2.1 ล้านคน

แรงงานฝีมือประกอบด้วย 3 ประเภทคือ

1. แรงงานฝีมือแท้จริง 1.5 แสนคน แบ่งเป็นกลุ่มที่ลงทุนในกิจการที่ BOI รับรอง 4.7 หมื่นคน และนักลงทุนทั่วไป/ช่างฝีมือชำนาญการประมาณ 1 แสนคน

2. ชนกลุ่มน้อย (จีนฮ่อ ฯลฯ) 8.8 หมื่นคน

3. แรงงานตลอดชีพ 68 คน (คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทย และทำงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 332 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515)

แรงงานประเภททั่วไปประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ

1. แรงงานที่ได้รับอนุญาตเข้ามาทำงานตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จำนวน 4.9 แสนคน

2. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2563 จำนวน 4.1 แสนคน

3. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 จำนวน 9.3 แสนคน

4. แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 กันยายน 2564 จำนวน 3.04 แสนคน

5. แรงงานต่างด้าวทำงานแบบ ไป-กลับ หรือตามฤดูกาล 1.6 หมื่นคน

Tags: