ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนที่ใช้โซเชียลมีเดียคงสังเกตเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักแชร์โพสต์สัญลักษณ์อิโมจิรูปทรงบล็อกสี่เหลี่ยมประกอบด้วยสีเหลือง สีเขียว และสีเทา จำนวน 4-5 บรรทัดสลับกันไป หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์กูเกิล (Google) ก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่บนมุมซ้ายมือ จนเกิดเป็นความสงสัยว่า แท้จริงแล้วบล็อกสามสีเหล่านั้นสื่อถึงอะไร

ความจริงแล้วบล็อกสี่เหลี่ยมดังกล่าวที่ผู้คนบนโลกโซเชียลแชร์กันมากมาย คือ สกอร์ผลลัพธ์ของ ‘Wordle’ (เวอร์เดิล) เกมทายคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่พัฒนาโดย จอช เวอร์เดิล (Josh Wordle) วิศวกรด้านไอทีของเว็บบอร์ด Reddit ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั่วทุกมุมโลก เพราะสามารถเล่นได้ง่ายๆ เพียงคุณมีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนเครื่องเดียว และไม่จำเป็นต้องหาเพื่อนมาท้าทายให้วุ่นวาย

กฏกติกาของ Wordle ก็แสนง่าย โดยระบบของเกมจะสร้างช่องสี่เหลี่ยมเปล่าๆ ขึ้นมา 5 ช่อง ผู้เล่นมีหน้าที่ใส่ตัวอักษรลงไป จากนั้นกด Enter หากตัวอักษรตัวที่ใส่ไปมีอยู่ในคำศัพท์และอยู่ถูกตำแหน่งจะปรากฏขึ้นเป็นสีเขียว แต่หากมีตัวอักษรอยู่ในคำศัพท์ แต่วางไม่ถูกต้องตามตำแหน่งจะปรากฏเป็นสีเหลือง ส่วนกรณีที่ใส่ผิดจะขึ้นเป็นสีเทา โดยแต่ละวันจะมีโอกาสให้ลองทายเพียง 6 ครั้ง ไม่มีการจำกัดเวลา ฉะนั้นผู้เล่นต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะตัดสินใจ และผู้เล่นยังสามารถแชร์ผลลัพธ์ว่าเราทายไปกี่รอบเป็นลักษณะบล็อกสี่เหลี่ยมสามสีเปล่าๆ ไร้ตัวอักษร เพื่อกันผู้เล่นรายอื่นจดจำแล้วนำไปทายตาม ซึ่งระบบจะเก็บสถิติการเล่นของเราไว้ด้วย

หากถามว่าเกมทายคำศัพท์นี้โด่งดังและได้รับความนิยมขนาดไหน เมื่อยกข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ Similarweb ที่ทำการเก็บจำนวนสถิติผู้ใช้งาน พบว่านับตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 เป็นต้นมา มีผู้เล่นเริ่มแรกราว 5,000 ราย ก่อนสิ้นสุดเดือนจะมีจำนวนพุ่งสูงถึง 45 ล้านราย ส่วนประเทศที่เข้าใช้งานมากสุด 3 อันดับ ประกอบด้วย อังกฤษ สหรัฐฯ และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์

ด้วยความนิยมถึงขีดสุด The New York Times สื่อยักษ์ใหญ่แห่งประเทศสหรัฐฯ จึงตัดสินใจทุ่มซื้อเกมดังกล่าวในวงเงินหลักล้านดอลลาร์ฯ แบบไม่เปิดเผยตัวเลขชัดเจน

อย่างไรก็ดี ข้อสงสัยของผู้เล่นเวลานี้คือ ถ้าเปลี่ยนมือเจ้าของแล้ว จะได้เล่นกันฟรีๆ อยู่อีกหรือไม่

เพื่อคลายข้อสงสัย จอร์แดน โคเฮน (Jordan Cohen) หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของ The New York Times จึงออกมาเฉลยว่าจะยังคงปล่อยให้เล่นฟรีเช่นเดิม เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาฝึกเล่นและเรียนรู้วิธีใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่สามารถนำไปใช้สื่อสารพูดคุย รวมถึงเข้าใจยามเสพข่าวต่างประเทศ

“ขั้นต้นเรายังคงเปิดให้เล่นฟรี และยังต้องการฐานผู้เล่นรายใหม่มากขึ้นกว่านี้ เพื่อสร้างยอดมูลค่าให้แก่ตัวเกม ขณะเดียวกันเรายังขอแนะนำเกมคำศัพท์อื่นๆ ที่มีอยู่ในมือ ให้แก่สมาชิกเว็บไซต์ New York Times ได้ลองเล่นกัน” เขากล่าว

แม้จะยังยืนยันเปิดให้เล่นฟรี แต่ก็เป็นเพียงแนวคิดขั้นต้น และไม่แน่ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนเป็นให้เล่นได้เฉพาะผู้สมัครสมาชิกของเว็บไซต์หรือไม่ เหมือนที่เปิดให้เล่นเกมทายคำศัพท์เกมอื่น เช่น The Mini Crossword หรือ Spelling Bee ที่มีผู้ยอมสมัครค่าสมาชิกเพื่อให้ได้เล่นเกม สัปดาห์ละ 0.50 ดอลลาร์ฯ (ราว 17 บาท) และรายปีที่ 20 ดอลลาร์ฯ (ราว 664 บาท) เกือบถึงหลักพันล้านราย

ดังนั้นเป็นไปได้ว่าการซื้อ Wordle ที่มีจำนวนผู้เล่นมหาศาลมาในหลักล้านดอลลาร์ฯ คงไม่มีเป้าหมายเพียงเปิดให้เล่นฟรีไปตลอดแน่นอน เพียงแต่จะหาผลกำไรแบบใด ด้วยวิธีการเก็บค่าสมัครสมาชิกเหมือนเดิม หรือจะเป็นการหาสปอนเซอร์มาลงภายในเกม เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่เชื่อว่า The New York Times คงต้องหาวิธีสร้างผลประโยชน์ให้ได้ไวที่สุด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมีข้อแม้ว่าเกมคือสิ่งที่คนนิยมไวและเลิกนิยมไวเช่นกัน

นอกจากนี้ การที่ The New York Times ยอมทุ่มงบซื้อเกม Wordle อาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ‘สื่อ’ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์หารายได้ใหม่ๆ นอกเรื่องของโฆษณา เพื่อมาพยุงลมหายใจขององค์กร ท่ามกลางสังคมโลกที่ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อได้ง่ายๆ เช่นกัน

ที่มา

https://www.bbc.com/news/technology-60215251

https://www.nytimes.com/2022/01/31/business/media/new-york-times-wordle.html

https://www.nytimes.com/crosswords

https://edition.cnn.com/2022/01/31/media/wordle-new-york-times-free/index.html

https://www.theguardian.com/games/2022/jan/31/wordle-new-york-times-buys

Tags: , , , ,