ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีการเปลี่ยนสายรถเมล์ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่เปลี่ยนสายรถประจำทางทั่วกรุงเทพฯ เป็นการทำตามนโยบาย ‘ปฏิรูปรถโดยสาร’ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้เลขสายรถเมล์ใหม่ มีการใช้ตัวอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษกำกับ สำหรับเหตุผลสำคัญคือ ต้องการปฏิรูปสายรถประจำทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจัดระเบียบเส้นทางการเดินรถใหม่ให้เลขสายรถประจำทางที่วิ่งในทิศทางเดียวกัน มีเลขสายใกล้เคียงกันหรืออยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนสายรถเมล์เป็นต้นว่า สาย 45 สำโรง-สี่พระยา เปลี่ยนเป็นสาย 3-9E สาย 129 บางเขน-สำโรง (ทางด่วน) เปลี่ยนเป็นสาย 1-14E สาย 522 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปลี่ยนเป็นสาย 1-22E สาย 59 เปลี่ยนเป็นสาย 1-8 สร้างความสับสนให้ประชาชนที่ใช้รถประจำทางเป็นอย่างมาก
The Momentum ลงพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดศูนย์รวมรถประจำทางใจกลางกรุงเทพฯ พบว่าผู้โดยสารจำนวนมาก ‘ลังเล’ ในการขึ้นรถประจำทาง เพราะไม่แน่ใจว่าจะผ่านจุดหมายที่ตัวเองคุ้นเคยหรือไม่ และแม้จะมีการวงเล็บด้านหลัง เช่น 522 เดิม หรือ 59 เดิม แต่ผู้โดยสารก็ไม่กล้าขึ้น เพราะเกรงว่าเส้นทางจะเปลี่ยนไปจากเดิม
พนักงานประจำท่ารถอนุสาวรีย์ชัยฯ ระบุว่า มีผู้โดยสารมาสอบถามเส้นทางเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่า ยังผ่านเส้นทางเดิมอยู่หรือไม่ และที่น่าสนใจคือ พนักงานก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกันว่า ‘หลักการ’ ในการเปลี่ยนสายรถเมล์คืออะไร และสิ่งที่ช่วยผู้โดยสารได้ก็คือการประกาศออก ‘เสียงตามสาย’ ว่า รถสายนี้ยังคงเดินทางเหมือนเดิม ตามปกติ รวมถึงคอยช่วยผู้โดยสารเมื่อยามมีปัญหา
จนถึงขณะนี้ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ก็ยังคงไม่มีทีท่าที่จะดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว