วันนี้ (3 กันยายน 2567) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในวาระ 2-3 วงเงินกว่า 3.75 ล้านล้านบาท โดย วีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณสัดส่วนพรรคประชาชน เสนอให้มีการตัดงบประมาณกว่า 1.87 แสนล้านบาท อีกทั้งยังระบุว่า ประเทศไทยติดกับดักการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งส่งผลต่อสถานะการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว
วีระเริ่มอภิปรายเพื่อฉายภาพงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ว่า มีที่มาของแหล่งเงิน 2 ช่องทาง ส่วนแรกคือ ‘รายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้’ 2.88 ล้านล้านบาท และอีกส่วนคือ ‘การกู้เพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ’ 8.65 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล
กรรมาธิการงบประมาณฯ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งงบประมาณขาดดุลเป็นมาหลายรัฐบาล ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันยอดหนี้สาธารณะของประเทศไทยสูงถึง 11.54 ล้านล้านบาท หากมีการกู้ชดเชยอีก 8.65 แสนล้านบาท จะดันให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงเกิน 12 ล้านล้านบาท และอาจสูงถึง 13 ล้านล้านบาทภายในสิ้นปี 2568
“ในอนาคต 3-5 ปี ถ้ายังดำเนินการตั้งงบแบบขาดดุลและกู้เพื่อชดเชยไปเรื่อยๆ เราจะมีปัญหาทางการเงินการคลังสาหัสอย่างแน่นอน”
ทั้งนี้หากเจาะลงไปในรายจ่ายของงบประมาณปี 2568 กรรมาธิการงบประมาณฯ ให้ข้อมูลว่า มีการจัดสรรทั้งหมด 3 ส่วน คือ
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2.7 ล้านล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อการลงทุน จำนวน 9.08 แสนล้านบาท
- รายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินต้น จำนวน 1.5 แสนล้านบาท
วีระระบุว่า สิ่งที่เห็นชัดต่อเนื่องจากการทำงบประมาณประจำปีคือ ‘รายจ่ายประจำ’ ไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นตลอด ทำให้ถึงจุดอันตราย เพราะเป็นรายจ่ายที่ยากจะตัดทอน โดยมีสัดส่วนสูงกว่า 67% และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต นั่นจึงแปลว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการผ่านงบประมาณรายจ่าย ล้วนเป็นงบประมาณที่มาจากการกู้ ซึ่งมีภาระในการหาเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระคืนในอนาคต
“นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤตการคลังในอนาคต แม้ว่าการทำงบประมาณประจำปี 2568 จะจัดทำขึ้นตามกฎหมายทุกฉบับ แต่ผมต้องบอกว่า การทำถูกฎหมายอย่างครบถ้วนนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม การทำตามกฎหมายอย่างครบถ้วน ก็นำไปสู่วิกฤตหายนะได้เช่นกัน
“เท่าที่ผมติดตามแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 10 ปี บัดนี้ประเทศเราติดกับดักการทำงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
กรรมาธิการงบประมาณฯ อภิปรายเพิ่มเติมว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีการตั้งงบเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐสูงถึง 4.10 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการชำระเงินต้นเพียง 1.50 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 2.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้นับไม่รวมการชำระคืนหนี้สถาบันการเงินของรัฐที่ออกเงินแทนไปก่อน ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณมียอดไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2566
“นี่คือรายการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย สถานะทางการเงินการคลังของรัฐในปัจจุบันและอนาคตอย่างแท้จริง ถ้าหากไม่ยับยั้งหรือไม่บริหารจัดการ สิ่งที่เป็นภาระทางการคลังจะพัฒนากลายเป็นความเสี่ยงทางการคลัง นำไปสู่วิกฤตการคลังในที่สุด”
วีระเสนอทางออกของปัญหา ‘วิกฤตการคลัง’ ไว้ 3 แนวทางดังนี้
- นับจากนี้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ต้องจัดทำงบประมาณรายจ่าย แบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่ายอีกแล้ว เป็นการจัดทำงบประมาณแบบ Zero Growth Budget โดยทำอย่างน้อย 3 ปีหลังจากนี้ จนกว่าภาระความเสี่ยงทางการคลังจะลดลง เข้าสู่ระดับที่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม
- นับจากนี้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ต้องหยุดสร้างภาระทางการคลังในอนาคต ด้วยการใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยให้สถาบันทางการเงินของรัฐออกเงินไปก่อน และตั้งบประมาณใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยในภายหลัง
- จัดสรรชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่าย และการชดเชยรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 1 ล้านล้านบาท จนกว่าระดับการใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยค้างจ่าย และการชดเชยรายได้ปรับลดอย่างมีนัยสำคัญ
“ถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น ผมหวั่นใจว่า เราต้องประสบวิกฤตการคลังในอนาคต ที่เราไม่มีประสบการณ์การแก้ไขมาก่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” วีระกล่าวทิ้งท้าย
Tags: รัฐสภา, ประชุมสภา, งบประมาณ 68