วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างและมอบหมายให้บริษัทดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 2 สัญญา คือสัญญาที่กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี ลงนามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 หรือสัญญาโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วย
1. ส่วนต่อขยายสายสีลม 2.2 กิโลเมตร (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่)
2. ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท 5.25 กิโลเมตร (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง)
3. ส่วนต่อขยายสายสีลม 5.3 กิโลเมตร (สถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า) และ
4. การเดินรถหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572 ไปถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585
นอกจากนี้ยังมีบันทึกข้อตกลงที่กรุงเทพมหานครได้มอบหมายหน้าที่ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชนให้แก่บริษัท ตามบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 หรือบันทึกข้อตกลงมอบหมายงานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อให้การดำเนินกิจการขนส่งมวลชนอันเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชนและด้วยหลักธรรมาภิบาลของบริษัทที่ยึดถือความโปร่งใส ตรวจสอบได้
“บริษัทจึงเห็นสมควรเปิดเผยข้อมูลในสัญญาและบันทึกข้อตกลงดังกล่าวต่อสาธารณะ ซึ่งบริษัทเห็นชอบในการที่จะเปิดเผยสัญญาดังกล่าวตามที่ในสัญญาได้กำหนดให้คู่สัญญาจะเปิดเผยข้อมูลได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากอีกฝ่าย ซึ่งวันนี้ทางบริษัทฯ โดยศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ และตนในฐานะกรรมการผู้อำนวยการบริษัทฯ ได้ลงนามให้ความเห็นชอบในการเปิดเผยข้อมูลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการบริหารจัดการโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯ”
ทั้งนี้ หนังสือออกโดยบริษัทกรุงเทพธนาคม รายงานถึง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ระบุตอนหนึ่งว่า “บริษัทเห็นว่าสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างบริหารระบบขนส่งมวลชน อันเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน และด้วยหลักธรรมาภิบาลของบริษัทที่ยึดถือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทจึงเห็นว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเปิดเผยข้อมูลในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ต่อสาธารณะได้
“ด้วยหนังสือฉบับนี้ บริษัทในฐานะคู่สัญญาขอแสดงความเห็นชอบในการเปิดเผยข้อมูลในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป”
สำหรับสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวถือเป็นสัญญาที่เป็น ‘ความลับ’ โดยก่อนหน้านี้ ผู้ที่มีอำนาจและสามารถเห็นสัญญาดังกล่าวได้ มีเพียงผู้ว่าฯ กทม. บริษัทกรุงเทพธนาคม และบริษัทเอกชนคู่สัญญาคือ ‘บีทีเอส’ เท่านั้น โดยเงื่อนไขดังกล่าวที่เป็นความลับทำให้หลายฝ่ายไม่ทราบต้นทุนราคาที่แท้จริงว่ามีการคิดคำนวณราคาค่ารถไฟฟ้าอย่างไร
ก่อนหน้านี้ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็เคยยอมรับว่า แม้จะเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ก็ไม่เคยเห็นสัญญาดังกล่าวเช่นกัน ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. สิ่งแรกที่ทำคือจะเปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
Tags: Report, รถไฟฟ้า, บีทีเอส, รถไฟฟ้าสายสีเขียว