วันนี้ (30 กรกฎาคม 2567) ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บีทีเอส’ นำโดย คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ พร้อมด้วย สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และพลตำรวจเอก สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ จัดแถลงกรณีปมหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันชำระหนี้สินในสัญญาค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) จำนวนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท แก่บีทีเอสภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่คดีเป็นที่สิ้นสุด

ศีรีกล่าวว่า วันนี้รู้สึกดีใจโดยหวังว่า ลูกหนี้จะมีความเข้าใจ เพราะในการทำสัญญา บริษัทฯ ไม่ได้กระทำผิด สิ่งที่ได้ทำมาหวังว่า กทม.จะเข้าใจเหมือนที่ตนเข้าใจ และเข้าสู่กระบวนการว่าจะดำเนินการชำระหนี้สินก้อนนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย

ประธานกรรมการบีทีเอสยังกล่าวอีกว่า อยากให้ กทม.คิดเสียว่าบริษัทฯ ก็จำเป็นต้องไปกู้เงินมาเพื่อเป็นค่าดำเนินกิจการเช่นเดียวกัน บริษัทฯ ไม่ควรจะมาเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้กับรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทางบีทีเอสก็หวังว่า กทม.จะชำระหนี้ O&M แก่บริษัททุกเดือน

ตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าว พลตำรวจเอกสุชาติสรุปสาระสำคัญของคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดต่อคดีความดังกล่าวไว้ ดังนี้

1. กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องดำเนินการชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) เนื่องจากสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 1 (สะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง) และสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต) ถือเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการจ้างที่ไม่ได้ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ประกอบกับบีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทานในเส้นทางรถไฟฟ้าหลัก จึงเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการเดินรถและซ่อมบำรุง และเพื่อให้การบริการเดินรถไปเป็นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน จึงเข้าลักษณะการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามข้อบังคับของ กทม.เรื่องพัสดุ

“ดังนั้นเมื่อสัญญาชอบแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีต้องชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงต่อผู้ฟ้องคดี” ที่ปรึกษาประธานกรรมการกล่าว

2. ตามสัญญาการเดินรถทั้ง 2 สัญญา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระเงินทั้งสิ้น 1.17 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา ศาลระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยตามสัญญา คืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ของธนาคารกรุงไทย ที่ร้อยละ 7.05 ต่อบวกร้อยละ 1 ต่อปี รวมเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 8.05 ต่อปี

โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องชำระแก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศีรีกล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ดำเนินการฟ้องร้องเมื่อ 3 ปีที่แล้วอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ทางผู้ว่าจ้างยังมีหนี้คงค้างไม่นับรวมดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้ชำระกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

“อยากจะให้กรุงเทพธนาคม กทม.และผู้ว่าฯ ชัชชาติ พิจารณาถึงความเป็นจริง อย่าให้มีความเดือดร้อนต่อทางเอกชนอีกต่อไปเลย เพราะว่าสิ่งนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้น” คีรีกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , ,