วันนี้ (16 ตุลาคม 2567) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง สั่งให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียงร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ทันที
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงเหตุผลสำคัญของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 2 สาเหตุ คือ
1. เศรษฐกิจไทยโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 คาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 2.7 และในปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 โดยมีภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
สำหรับภาคการส่งออก เลขาธิการ กนง. ระบุว่า การส่งออกทยอยปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ก็ถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
2. ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ มีแนวโน้มที่จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 โดยคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และในปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะราคาสินค้าหมวดอาหารสดและราคาพลังงานมีการปรับราคาที่สูงขึ้น
ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวม สักกะภพกล่าวว่า อาจมีการตึงตัวขึ้นมาบ้าง อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ด้านสินเชื่อโดยรวมชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง
สำหรับคุณภาพของสินเชื่อ เลขาธิการ กนง. ระบุไว้ว่า มีการปรับคุณภาพด้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลูกหนี้ ธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับยังคงมีภาระหนี้ที่สูง ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้
จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นนั้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าจุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหลือร้อยละ 2.25 ต่อปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวยังถือว่า อยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดรับกับศักยภาพของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ถือว่าผิดไปจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายสำนัก โดยหนึ่งในนั้นคือ อาริส ดาคาเนย์ (Aris Dacanay) นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) มองว่า ธนาคารกลางของประเทศไทยอาจจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า หากพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เงินบาทไม่ได้แข็งค่าจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้งกำลังซื้อภายในประเทศยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.77 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีกทั้งประเทศไทยยังประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 90.8 ของจีดีพี ซึ่งหากธนาคารกลางมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนก่อหนี้สินมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ภายหลังจากการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ หุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 15 จุดทันที โดยอยู่ที่ระดับ 1,480.42 จุด ขณะที่หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับอานิสงส์ปรับตัวบวกมากที่สุด เพราะได้รับประโยชน์จากการที่ต้นทุนของสินเชื่อถูกลง
Tags: การเงิน, การลงทุน, เศรษฐกิจ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดอกเบี้ย, แบงก์ชาติ, อัตราดอกเบี้ย, ส่งออก