หากถามว่ารัฐประหารครั้งใดคือรัฐประหารครั้งที่สร้างความ ‘เปลี่ยนแปลง’ ให้ประเทศไทยมากที่สุด รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจเป็นหนึ่งชื่อที่คนจำนวนหนึ่งนึกถึง
ว่ากันว่าการยึดอำนาจครั้งนั้น เป็นครั้งที่แบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจนที่สุด เป็นครั้งที่ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น
ในเวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าการรัฐประหารจะหวนกลับมาอีกรอบ ประเทศไทยว่างเว้นจากการปกครองภายใต้เผด็จการทหารนานมาแล้วกว่า 15 ปี และเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง หลังมีการชุมนุมประท้วงเพื่อกำจัด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ทุกคนต่างคิดตรงกันว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออก
แต่ในที่สุด ค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ทหารก็ตัดสินใจทำรัฐประหาร เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงปลุกใจก็ดังกระหึ่ม สำทับด้วยเสียง ‘ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” ของ พลตรี ประภาส ศกุนตนาค และตบท้ายด้วยคำว่า ‘โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง’
เพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปและสถานการณ์นั้น วันนี้ (19 กันยายน 2565) The Momentum ชวน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ ผู้ก่อตั้ง ‘เครือข่าย 19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร’ ย้อนอดีตไปถึงเหตุการณ์วันนั้น และชวนประเมินเหตุการณ์ดังกล่าวในอีก 16 ปีให้หลัง ว่าเขามองเห็นอะไร
19 กันยายน 2549 ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ทำรัฐประหาร ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่ว่าทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระ เป็นเผด็จการรัฐสภา ทุจริต – มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะปะทะกันระหว่างกลุ่มการเมือง 2 ฝ่าย คือ ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ และกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณ
สมบัติเริ่มเล่าถึงความรู้สึกแรกๆ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเขารู้สึก ‘ประหลาดใจ’ และ ‘โกรธ’ ไปพร้อมๆ กัน
“ผมรู้สึกประหลาดใจและไม่คิดว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกแล้ว รัฐประหารครั้งก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 คือรัฐประหารในช่วงก่อน ‘พฤษภา 35’ มันห่างกันตั้ง 15 ปี อีกทั้งหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภา 35’ เป็นต้นมา วิวัฒนาการของระบบการเมืองไทยพัฒนาไปไกลมาก ช่วงปี 2534-2535 สังคมไทยได้รับบทเรียนจากการรัฐประหารแล้ว ประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นแล้วว่าการที่ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันทำให้ประเทศวุ่นวายและไปต่อไม่ได้ ดังนั้นพอเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้นมา ผมจึงรู้สึกประหลาดใจเพราะไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้”
“นอกจากความรู้สึกประหลาดใจ ผมยังรู้สึกโกรธ โกรธอย่างรุนแรง เพราะว่าผมเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2534-2535 ผมเห็นว่าประเทศแย่แค่ไหนตอนทหารเข้ามา”
เมื่อถามต่อว่า ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ เวลาผ่านมากว่า 16 ปีแล้วเขายังคง ‘โกรธ’ รัฐประหารครั้งนั้นเหมือนเดิมหรือไม่ สมบัติกล่าวว่า “ผมยังโกรธอยู่ ยังโกรธเหมือนเดิม”
“ผมยังโกรธทั้งรัฐประหาร 2549 และ 2557 แต่สำหรับความประหลาดใจ รัฐประหารปี 2557 ซึ่งนำโดยพลเอกประยุทธ์ ผมไม่ได้รู้สึกประหลาดใจเท่ากับครั้ง 19 กันยายน 2549 ตอนนั้นผมรู้สึกแค่ว่า เออนะประเทศนี้มันก็ยังเกิดเรื่องแบบนี้ได้อีก
“ปี 2549 ผมรู้สึกว่า เฮ้ย! มันยังมีรัฐประหารอีกหรือเนี่ย (เสียงสูง) ในขณะที่ปี 2557 ผมก็รู้สึกประมาณว่า เฮ้ย อะไรวะ เกิดขึ้นอีกละ”
หากพิจารณาถึงข้อถกเถียงของมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายในรัฐประหาร ’19 กันยาฯ’ ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่าการที่ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ต้องทำรัฐประหารเนื่องจากทักษิณทำให้เกิด ‘เผด็จการรัฐสภา’ ขึ้น ตอนนั้นไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของเขาได้เลย รวมทั้งทักษิณยังเข้าไปแทรกแซงการทำงานของสื่อที่ตรวจสอบเขาอีกด้วย ทั้งหมดเป็นเหตุให้พลเอกสนธิต้องเข้าไปกอบกู้สถานการณ์
ในขณะที่บางฝ่ายให้เหตุผลว่า สุดท้ายไม่ว่าทักษิณจะดีหรือร้ายอย่างไร ก็ควรให้ระบอบประชาธิปไตย กลไกการเลือกตั้ง และกลไกรัฐสภาทำงานต่อไป ทหารไม่ควรเข้าไปยุ่ง ถ้านักการเมืองไม่ดี การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนก็ไม่เลือกเท่านั้นเอง
ในประเด็นข้อถกเถียงทั้งสอง ผู้ก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยาต่อต้านรัฐประหารผู้นี้มองว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ควรใช้การรัฐประหารซึ่งเป็นวิธีที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมองว่าเลวร้าย เข้าไปจัดการกับนักการเมืองที่ปฏิบัติตัวไม่ดี
“ถ้าคุณจะปราบผีทักษิณ คุณเอาปีศาจมาปราบไม่ได้
“ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่าคุณจะเอาโคลนไปล้างโคลนไม่ได้ คุณไม่สามารถใช้วิธีการที่เลวร้ายกว่า เพื่อไปจัดการกับระบบที่คุณคิดว่ามันไม่ดีได้ เพราะหากคุณเอาสิ่งที่ไม่ดีมากกว่าซึ่งคือการรัฐประหารไปจัดการ มันจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
“ดังนั้น ถ้าเรามองว่าระบอบทักษิณเลวร้าย เราจะต้องไม่ใช้วิธีที่เลวร้ายกว่าระบอบทักษิณไปจัดการ เพราะสุดท้าย แม้ว่าจะสามารถจัดการกับระบอบดังกล่าวได้ แต่สิ่งที่มาแทนที่มันเลวร้ายยิ่งกว่า”
นักกิจกรรมผู้นี้ชี้ว่า สำหรับวิธีแก้ไขที่เขาปรารถนาในตอนนั้น ประชาชนควรต้องมองถึงวิธีที่ทำให้สังคมดีขึ้นกว่าช่วง ‘ระบอบทักษิณ’ ปกครองประเทศ
“ผ่านมา 16 ปีแล้วตั้งแต่วันที่ทหารเข้าไปยึดอำนาจ มาวันนี้ สังคมก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าตอนนั้นเลย และอาจแย่ลงด้วยซ้ำ ทั้งประชาธิปไตย ประสิทธิภาพ เสถียรภาพ เศรษฐกิจ รวมทั้งสถานะของไทยในเวทีโลกก็ถดถอยลงด้วย
“ถ้าพวกเขา (ทหารและฝ่ายพันธมิตรฯ) ยอมใช้กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย สู้กันในรัฐสภา และให้เสียงของประชาชนเป็นผู้ตัดสิน สุดท้ายสิ่งที่ก้าวหน้ามากกว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็น่าเศร้าที่พวกเขาไม่เลือกใช้วิธีการนั้น เพียงเพราะคิดว่า ในอนาคตก็ไม่สามารถเลือกตั้งสู้ฝ่ายทักษิณได้”
เมื่อถามถึงสิ่งที่เขาต้องเผชิญในฐานะผู้ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารคนแรกๆ เขาเล่าว่า “ผมถูกทหารมาเฝ้าที่ออฟฟิศ โดนคดีไปหนึ่งคดี และยังโดนพลเอกสนธิกับ พลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อการรัฐประหารครั้งนั้นฟ้อง แต่สุดท้ายผมไปฟ้องทั้งคู่ฐานหมิ่นประมาทจนผมชนะ
“อีกสิ่งที่กระทบผมคือในหมู่เพื่อนเอ็นจีโอด้วยกัน ผมถูกมองเป็นเอ็นจีโอเสื้อแดง เอ็นจีโอจำนวนมากจึงไม่เอาผม เขาบอกว่าผมไปอิงหรือไปสนับสนุนทักษิณมากเกินไป”
นอกจากการดำเนินคดีและทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมอย่างสมบัติแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ก่อการรัฐประหาร ’19 กันยายน 2549 ทำคือการ ‘ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540’ ซึ่งว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และได้มาจากการต่อสู้และหยาดเหงื่อของประชาชนในช่วงพฤษภาคม 2535
“ตั้งแต่ทหารฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ประเทศไทยก็ถดถอยลงเรื่อยๆ แย่ลงทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560” สมบัติให้ความเห็น
เพราะในช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีการพัฒนาอย่างมาก โดย 3 สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ
1. ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองหายไป บทบาทของกองทัพในการเมืองมีน้อยมาก ทั้งหมดเป็นการต่อสู้กันในเชิงนโยบายภายใต้รัฐสภา
2. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งอย่างสง่างาม และมีขอบเขตอำนาจจำกัด
3. มีองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างแท้จริง
“อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารปี 2549 ทุกอย่างถดถอยลงไปหมด ทหารเข้ามาอยู่ทุกที่ของการเมือง ส.ว. มาจากการแต่งตั้งรวมทั้งมีอำนาจมหาศาล และนายกฯ ก็แต่งตั้งคนเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกฯ อีกที”
เมื่อถามถึงประเด็นเรื่องการทำงานของนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ในช่วงปี 2549 ที่หลายฝ่ายมองว่าทักษิณ ‘เล่นงาน’ สื่อที่ตรวจสอบเขา จึงเป็นที่มาของการที่สื่อจำนวนหนึ่งสนับสนุนการรัฐประหารนั้น สมบัติมองว่า “ทักษิณแค่ต้องการกระบอกเสียง ต้องการสื่อของตัวเอง เขาเลยเอาบริษัทตัวเองไปซื้อไอทีวี เขาก็ปลดพนักงานที่ควบคุมไม่ได้ออก ซึ่งกลุ่มที่คุมไม่ได้แรกๆ ก็คือกลุ่มของ The Nation จากนั้นจึงปลดนักข่าว ผู้ประกาศข่าว และผู้จัดที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองออก จากนั้นทักษิณก็เข้าไปควบคุมไอทีวีเต็มที่
“ในประเด็นเรื่องการสนับสนุนการรัฐประหารของสื่อ ผมคิดว่ามันเป็นเพียงความไร้เดียงสาทางการเมืองของคนชนชั้นกลางและปัญญาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่มคนทำสื่อ พวกเขาคิดง่ายๆ แค่ว่าวิธีการใดก็ได้เพื่อกำจัดหรือทำลายปีศาจให้ออกไปก่อน
“ในตอนนั้นสื่อจำนวนหนึ่งคิดว่า การสนับสนุนทหารให้ล้มล้างระบอบทักษิณเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เดี๋ยวก็มีการเลือกตั้ง ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
“แต่ทีนี้ทักษิณเขาสู้ไง เขาเลยยังอยู่ในการเมือง ประกอบกับพรรคการเมืองอื่นไม่มีความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เขาสู้ทักษิณไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่ฝ่ายทักษิณกลับมาในการเมืองอีกครั้ง”
สมบัติยกตัวอย่างว่า “มีสื่อได้ประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนั้นด้วย เช่น หลังรัฐประหาร เครือเนชั่นก็ได้ไปทำรายการในช่อง 5 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพบก ทั้งหมดไม่สามารถอธิบายเป็นอื่นได้ นอกจากเป็นการตอบแทน
“เราต้องเข้าใจว่า ในช่วงนั้น เครือเนชั่นตีคู่มากับ ASTV ทั้งสองช่องนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทักษิณ เพราะตอนที่ทักษิณมีอำนาจ ทักษิณเคยตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินของคุณสุทธิชัย หยุ่น สุทธิชัยจึงรู้สึกว่าการเมืองพยายามหาช่องว่างเพื่อจะเข้าไปเล่นงานพวกเขา
“ตอนที่ทักษิณมีอำนาจ เนชั่นและกลุ่มของสุทธิชัยระหกระเหินมาก จากเนชั่นไปไอทีวี ไปอยู่กับยูบีซีแล้วก็ถูกบีบให้ออกไปอยู่กับไทยสกาย พูดง่ายๆ ในตอนนั้นกลุ่มของสุทธิชัยแทบจะไม่มีที่ยืน ดังนั้นเขาจึงสู้ตาย สู้กับทักษิณ เขาเป็นกระบอกเสียงในการต่อสู่กับทักษิณมาโดยตลอด และพอทักษิณไป ทหารก็ตบรางวัลให้ จึงทำให้เนชั่นได้เข้าไปจัดรายการข่าวในช่อง 5 อย่างที่เล่าไป”
อย่างไรก็ตาม สมบัติระบุว่า สิ่งที่สุทธิชัยและคณะทำ ไม่ได้ต้องการผลประโยชน์จากการรัฐประหาร เพียงแต่ต้องการเรียกร้องเสรีภาพให้สื่อเท่านั้น
“ผมไม่เห็นว่าเครือเนชั่นทำอะไรเกินเลยนะ ถ้าย้อนไปช่วงนั้น ในช่วงของฟรีทีวี ที่มีเพียง 6 ช่อง ไม่มีใครกล้าวิจารณ์รัฐบาลหรอก เพราะเงื่อนไขในการทำงานสื่อของฟรีทีวีมันไปผูกกับประเด็นเรื่องสัมปทานช่อง ไปผูกกับเรื่องอำนาจ หากวิจารณ์รัฐบาล เขาก็ตัดรายการคุณออกจากผังคลื่นความถี่”
ท้ายที่สุด เมื่อถามว่าในทัศนะของคุณ ‘ระบอบทักษิณ’ เลวร้ายจริงหรือไม่ สมบัติกล่าวว่า “รัฐบาลทุกรัฐบาลล้วนมีข้อจำกัดและมีจุดอ่อน ทั้งหมดเป็นสีเทาๆ เวลาที่เราไปวิจารณ์ใคร นั่นแปลว่าฝ่ายที่คุณไม่ได้วิจารณ์ดีใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ แต่อย่างน้อย เขามาจากการเลือกตั้ง เข้ามาด้วยระบบและมีการตรวจสอบที่ชัดเจน
“ผมมองว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยมันจะสามารถเยียวยาและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ แม้ว่าในตอนแรกๆ นักการเมืองอาจจะมีทั้งดีและไม่ดี เป็นสีเทาๆ ปนกันไป แต่ระบบมันจะเยียวยาตัวมันต่อไปเอง
“ในตอนนั้น ผมก็เห็นว่าคุณทักษิณใช้อำนาจอย่างเกินเลย และมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้ผมไม่ได้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร แต่ผมก็วิจารณ์คุณทักษิณผ่านแอ็กเคานต์พันทิปส่วนตัวเยอะ คนที่ตามผมจะทราบดี
“ทั้งหมดเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนจะวิจารณ์นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ แต่ตอนนั้นผมวิจารณ์ไปตามเนื้อผ้านะ ผมไม่ได้วิจารณ์ในแบบที่กลุ่มพันธมิตรฯ ทำ ผมไม่แตะเรื่องขายชาติหรือล้มเจ้า ผมวิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการบ้านเมืองเท่านั้น ผมไม่สาดโคลนว่าเขาเป็นปีศาจ หรือเป็นตัวอะไร เพราะสุดท้าย ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยยังเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้”
Tags: Report, รัฐประหาร 2557, รัฐประหารปี 2549, สมบัติ บุญงามอนงค์, รัฐประหาร, บก.ลายจุด