วันนี้ (11 กรกฎาคม 2024) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า คนกลุ่มเจน Z ในสหรัฐฯ กำลังเผชิญความท้าทายทางการเงิน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น โดยประชากรราว 46% ยังคงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินจากพ่อแม่และครอบครัวอยู่
ทั้งนี้ ผลสำรวจกลุ่มประชากรอายุ 18-27 ปี หรือเจน Z จำนวน 1,097 คน จากธนาคารอเมริกา (Bank of America) ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2024 ระบุว่า ประชากร 50% ไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ภายใน 5 ปี และ 40% คิดเห็นว่า ตนเองไม่พร้อมกับออมเงินเพื่อการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ อีก 46% ยังระบุว่า พวกเขาไม่สามารถเก็บเงินใช้จ่ายหลังเกษียณได้ ขณะที่ 52% คาดว่า พวกเขาไม่มีเงินมากพอสำหรับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากภาวะเงินเฟ้อในประเทศ
อ้างอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) มาตรวัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและการบริโภค จากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ แม้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงสูงสุดรอบ 40 ปี ถึง 9.1% ในปี 2022 ทว่ารายงานจากยูเอสเอทูเดย์ (USA Today) ในเดือนมิถุนายน 2024 เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นราว 3.4% ตั้งแต่เข้าฤดูใบไม้ร่วงเป็นต้นมา
ดัชนี CPI ยังแสดงให้เห็นว่า คนเจน Z ซื้อบ้านเป็นของตัวเองน้อยมาก โดยส่วนใหญ่อาศัยกับครอบครัวหรือเช่าที่อยู่อาศัย สถิติระบุว่า อัตราการเช่าสูงถึง 21% ในต้นปี 2021 และ 5.4% ในปี 2024
ไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เพราะรายงานยังพบว่า คนอายุ 18-27 ปี มักมีค่าใช้จ่ายจาก ‘ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว’ เช่น ราว 5.5% ใช้กับการกินข้าวนอกบ้าน ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของคนช่วงอายุอื่น 4.5% และจ่ายค่าน้ำมันรถมากกว่าประมาณ 2.1%
นอกจากนี้ คนเจน Z ยังมีหนี้บัตรเครดิตมากกว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์ สะท้อนจากยอดเครดิตบาลานซ์ (Credit Card Balance) อยู่ที่ 2,834 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนบาท) หากเทียบกับยอดของคนยุคมิลเลนเนียลส์ในปี 2023 ที่ผ่านการคิดอัตราเงินเฟ้อประกอบที่ 2,248 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 8.1 หมื่นบาท)
สำหรับวิธีหาทางออกจากภาวะทางการเงิน 2 ใน 3 ของคนเจน Z หรือ 67% ตอบคำถามว่า พวกเขาพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ส่วนตัว เช่น 43% ตัดค่าใช้จ่ายจากการกินข้าวนอกบ้าน หรือ 27% ไม่ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน รวมถึง 24% พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด
นอกจากนี้ วิธีที่ใช้อย่างแพร่หลายในคนรุ่นใหม่คือ Loud Budgeting หรือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมวงอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขาอาจไม่สามารถใช้จ่ายในกิจกรรมบางอย่างได้ ซึ่งต่อมา ค้นพบว่า 63% ของเจน Z รู้สึกไม่กดดันที่เพื่อนจะใช้จ่ายมากเกินไป ขณะที่ 38% รู้สึกสบายใจกว่า หากจะไม่เข้าสังคม และยอมรับตามตรงว่า พวกเขาไม่มีเงิน
รายงานจากธนาคารอเมริกาสอดคล้องกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยสำนักข่าวยูเอสนิวส์ (US News) เผยผลสำรวจประชากรวัย 18-34 ปี จาก Generation Lab ว่า 70% ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกให้เรื่องปากท้องและเงินเฟ้อเป็นวาระสำคัญที่พวกเขาต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ตามมาด้วยสิทธิการทำแท้ง 40% และการควบคุมอาวุธปืน 31%
“ประสบการณ์ของเจน Z ต่อภาวะเงินเฟ้อแตกต่างจากคนรุ่นอื่นมาก มันแย่กว่ามาก” แมตต์ คอลยาร์ (Matt Colyar) นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s แสดงความคิดเห็นผ่านยูเอสเอทูเดย์ โดยระบุว่า เจน Z คือกลุ่มที่ต้องเผชิญวิกฤตร้ายแรงในหลายครั้ง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่เงินเดือนต่ำลงตั้งแต่ทำงานครั้งแรก
อ้างอิง
https://www.usatoday.com/story/money/2024/06/03/inflation-hit-gen-z-hardest/73901354007/
Tags: สหรัฐอเมริกา, Bank of America, อเมริกา, ค่าครองชีพ, เงินเฟ้อ, คนรุ่นใหม่, เศรษฐกิจโลก, เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา, inflation, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024, เจนซี, Gen Z, Loud Budgeting